น้องณิริน เผยวิธีการรับมือ และแนวคิด ในวันที่ หนิง ปณิตา หย่ากับ จิน จรินทร์ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องผ่าน เพราะน้องก็กำลังเข้าวัยรุ่นด้วย สุดท้ายแล้ว พ่อแม่ก็คือเพื่อนกัน
ไม่มีครอบครัวไหนที่อยากจบด้วยการหย่าร้าง แต่เมื่อวันหนึ่งความรักเดินมาจนสุดทาง ก็อาจถึงคราวที่ต้องบอกลา และการที่ทำให้ลูกเข้าใจและผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งล่าสุด 12 สิงหาคม 2567 หนิง ปณิตา ก็ได้พา น้องณิริน มาออกรายการ คุยแซ่บโชว์ และพูดถึงการจับมือลูกผ่านช่วงที่ยากลำบาก และทำอย่างไรให้น้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
ทั้งนี้ หนิง ปณิตา บอกว่าตนยังไม่ถือว่าผ่านมรสุมไปเลย เพราะชีวิตคนเรามักจะมีเรื่องใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา อยู่ที่ว่าเรามองว่าเรื่องนั้นคือเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ปัญหาในเรื่องส่วนตัวเราก็มี และปัญหาในเรื่องครอบครัวก็เป็นเรื่องของครอบครัว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ในช่วงที่น้องณิรินเข้าสู่วัยรุ่น เขาจะมีความเป็นวัยรุ่นของเขา ฮอร์โมนแปรปรวน หากเกิดปัญหาตอนน้องเป็นเด็ก เรื่องอาจจะง่าย
เวลาที่เกิดปัญหา เราก็ปิดไม่ให้ลูกรู้เรื่อง แต่พอเกิดเรื่องอะไร เราก็พยายามอธิบายให้ลูกว่า มันไม่ใช่แบบนั้น เราจะทำให้ลูกสบายใจและพูดในสิ่งที่ลูกอยากได้ยิน เพื่อไม่ให้กระทบความรู้สึกลูก แต่สุดท้าย กลายเป็นตัวหนิงที่ล้ม เหนื่อย และรู้สึกเหมือนตัวคนเดียว หนิงได้ไปพบจิตแพทย์ และได้รับคำแนะนำว่า เราต้องสอนให้ลูกเรียนรู้จากความจริงที่เกิดขึ้น ในมุมที่เบาที่สุด
ด้านน้องณิริน เผยว่า เมื่อตนรู้เรื่องแล้ว ตอนแรกตนก็เสียใจที่สุด แต่เราก็มานั่งคุยกัน 3 คนว่า เหตุผลอะไรที่พ่อแม่ต้องแยกทางกัน แต่คุณแม่ก็อธิบายว่า การที่พ่อแม่แยกทางกัน มันไม่ใช่เรื่องที่แย่ แต่มันคือเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ ครอบครัวในโลก พ่อแม่รักเราเหมือนเดิม พ่อแม่แค่เปลี่ยนมาเป็นเพื่อนกัน น้องณิรินยังได้เจอคุณปู่คุณย่าเหมือนเดิม เรื่องนี้ ทำให้น้องณิรินมานั่งคิดกับตัวเองว่า ถ้าพ่อแม่แยกกัน จะไม่มีการที่พ่อแม่ต้องมานั่งทะเลาะกันทุกวัน
ในขณะเดียวกัน หนิงก็บอกว่า เรื่องนี้มันไม่ใช่ว่า พูดแล้วลูกจะเข้าใจเลย มันต้องใช้เวลา เรื่องนี้มันใหม่สำหรับเขา และเราต้องทำให้รู้ว่า เรื่องนี้มันไม่ได้สร้างปัญหา และทำให้เขาเรียนรู้ต่อไปว่า เวลาเรามีเรื่องอะไรเข้ามา ต่อให้ไม่ใช่เรื่องนี้ เป็นเรื่องอื่น แต่ทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามสเต็ป เราต้องพยายามใจเย็นและพูดกับเขาในทุก ๆ วัน
อีกอย่างคือ คำพูดไม่มีประโยชน์ การกระทำมีประโยชน์ที่สุด เราต้องโฟกัสกับลูกมากขึ้นหลายเท่าตัว และโชคดีที่คนรอบข้างคอยทำงานเป็นทีม ซึ่งก็ต้องขอบคุณตรงนี้ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา บางทีลูกอาจจะมีหลุดบ้าง แสดงพฤติกรรมบางอย่างทำให้รู้ว่าไม่น่ารัก ทุกคนก็เข้าใจ และหนิงก็ต้องมาอธิบายให้ลูกรู้ว่า ไม่ว่าจะเจอใคร ทุกคนพร้อมจะซัพพอร์ตน้อง แต่น้องก็ต้องน่ารักเองด้วย