เอ๋ มิรา เคยออกรายการโหนกระแส และเล่าย้อนเรื่องราวระหว่างตนเองและครูไพบูลย์นั้น เริ่มต้นตอนที่เอ๋อยู่ ม.4 และครูไพบูลย์ เป็นอาจารย์ฝึกสอนที่โรงเรียนเดียวกับที่เอ๋เรียน ทั้งคู่เกิดความรักใคร่ชอบพอกัน แต่ตอนนั้นแม่ของเอ๋ไม่เห็นด้วย แม่ของเอ๋ต้องการแจ้งความเรื่องพรากผู้เยาว์ เพราะตอนนั้นเอ๋อายุไม่ถึง 18 ปี แม่ได้มีการบันทึกไว้ที่ผู้ใหญ่บ้าน ระบุว่า ครูไพบูลย์ล่วงละเมิดทางเพศเอ๋ ในขณะที่เอ๋เป็นผู้เยาว์ มีการตกลงจะจ่ายค่าเสียหายให้ 100,000 บาท ถ้าผิดนัดต้องจ่าย 200,000 บาท และยอมให้แม่ของเอ๋ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่า ครูไพบูลย์ไม่มีเงินมาจ่าย ไม่มาสู่ขอ และไม่ได้แต่งงานตามประเพณี
ถึงกระนั้น ตอนนั้นเอ๋ก็ยังรักครูไพบูลย์ และแม่ก็ไม่อยากให้ลูกมีปัญหา เพราะเอ๋ท้อง มีลูกกับครูไพบูลย์ และตั้งชื่อว่า น้องสายแนน แม่จึงปล่อยเลยตามเลย แม้ครูไพบูลย์จะผิดสัญญา ไม่จ่ายเงิน ไม่จัดงานแต่งงาน แต่ในที่สุด หลักฐานเรื่องบันทึกผู้ใหญ่บ้าน ก็กลายมาเป็นหลักฐานเด็ดที่นำไปสู่ข้อหาพรากผู้เยาว์ของครูไพบูลย์ในเวลาต่อมา
ในตอนนั้นครูไพบูลย์ ยังเป็นครูอยู่ที่โรงเรียน ก็ได้ไปเจอกับ กระต่าย พรรณิภา ที่เป็นนักเรียนเหมือนกัน ความสัมพันธ์ของครูไพบูลย์และกระต่าย ก็เป็นไปตามแพตเทิร์นเดียวกันกับเอ๋ มีภาพสุดอื้อฉาวที่ครูไพบูลย์มอบตุ๊กตาโดราเอมอนผิดลิขสิทธิ์ให้กับกระต่าย ที่ในขณะนั้นอายุแค่ 15 ปี ยังคงเรียนอยู่แค่ ม.ต้น เท่านั้น
3 ปีต่อมา คนก็เริ่มสังเกตเห็นว่ากระต่ายท้องโต เริ่มมีน้ำมีนวล และกระต่ายก็เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น อันเป็นเหตุให้กระต่ายและครูไพบูลย์ออกมายอมรับว่าทั้งคู่มีลูกด้วยกันแล้ว และครูไพบูลย์ได้จดทะเบียนสมรสกับกระต่าย ตอนที่กระต่ายอายุ 16 ปี
เอ๋ มิรา และครูไพบูลย์ มีปัญหากันบ่อยครั้ง ทั้งไปออกโหนกระแส พูดจาแซะกันไปกันมาในเฟซบุ๊ก จนกระทั่งล่าสุดที่เอ๋ มิรา ตัดสินใจฟ้องครูไพบูลย์ในข้อหาพรากผู้เยาว์ ที่ศาลจังหวัดหนองบัวลำภู และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ผลปรากฏว่า ศาลชั้นต้นตัดสินให้ ครูไพบูลย์ แสงเดือน มีความผิดอาญามาตรา 319 ผิดทั้งหมด 4 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี ต้องชดใช้ค่าเสียหาย 350,000 บาท ไม่รอลงอาญา แต่ครูไพบูลย์ได้ประกันตัว และไปสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์
และแม้ว่าศาลชั้นต้นจะตัดสินแบบนี้แล้ว แต่ครูไพบูลย์ก็ไม่หวั่น ได้ออกมาไลฟ์ว่า ไม่ว่าศาลจะตัดสินมาแบบไหนก็ต้องอุทธรณ์ ผมก็ต้องใช้สิทธิ์ของผม นี่คือครั้งแรกที่ผมได้ขึ้นศาล ยังพูดอะไรไม่ได้ จนกว่าทุกอย่างจะถึงที่สิ้นสุด
ต่อมา ในวันที่ 3 กันยายน 2567 ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ตัดสินให้ครูไพบูลย์ จำคุกทั้งสิ้น 8 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีพรากผู้เยาว์ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเรื่องนี้ ครูไพบูลย์อาจจะสู้ถึงชั้นฎีกา