เลือกรถเข็นเด็กให้ปลอดภัย!

รถเข็นเด็ก

เลือกรถเข็นเด็กให้ปลอดภัย!
(รักลูก)

           รถเข็นเด็ก เป็นผลิตภัณฑ์ที่เริ่มมีความนิยมในบ้านเรา ในต่างประเทศถือเป็นของใช้ประจำครอบครัวที่มีลูกเล็กเลยล่ะครับ เพราะฝรั่งเขาไม่ค่อยอุ้มเด็กหรือเหน็บเอวเดินกัน อาจเห็นใช้ถุงจิงโจ้ใส่เด็กไว้ ส่วนใหญ่เขาจับเด็กนั่งรถเข็นกันมากกว่า

           ข้อดี ก็คือ เดินเที่ยวกันได้นาน ไม่เมื่อยไม่เสี่ยงต่ออาการปวดหลังของคนอุ้มด้วย เด็กเองก็คงสบายกว่าแน่นอนเพราะได้นั่งมองวิว ได้นอนสบาย ๆ และก็อาจเล่นของเล่นไปในเวลาเดียวกันได้ด้วย

           รถเข็นเด็ก (Stroller) คือ รถสำหรับเด็กนั่ง นอน แบบเอียง ๆ ไม่ราบ ประมาณไม่เกินกว่า 150 องศา (มุมระหว่างที่นั่งกับพนัก) ถ้านอนราบตรง 180 องศาได้ เขาเรียกกันว่า รถเข็นนอน (carriage) รถเข็นเด็กใช้สำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี

           ยังมีรถเข็นอีก 2 ประเภทที่แตกต่าง จากรถเข็นเด็กปกติ คือ ที่นั่งนิรภัย สำหรับทารกและเด็กเล็กที่จะแปลงร่างเป็นรถเข็นเด็ก หรือรถเข็นนอนอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้นอนในรถได้ อันนี้ก็เพื่อประโยชน์ที่จะใช้สารพัดได้ ทั้งในรถยนต์ และใช้เข็นไปมา

           อีกประเภทคือ รถเข็นเด็กสำหรับวิ่งจ๊อกกิ้งไปพร้อม ๆ กับพ่อแม่ เรียกว่า Jogging Stroller ออกแบบมาให้ใช้เข็นในความเร็ว เท่ากับการวิ่ง Jogging

           ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาการบาดเจ็บของเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี จากการใช้รถเข็นเด็กที่ต้องมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน พบว่ามีจำนวนถึง 64,373 รายในเวลา 5 ปี อายุเฉลี่ยคือ 11 เดือน เด็กชายและเด็กหญิงเจ็บพอ ๆ กัน ร้อยละ 60 ของเด็กที่บาดเจ็บเป็นเด็กแรกเกิดถึงอายุ 1 ปี ร้อยละ 25 เป็นเด็กอายุ 1 ถึง 2 ปี

           การบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากความซนของเจ้าตัวน้อย ที่ปืนป่ายหรือพยายามลุกขึ้นยืน แล้วพลัดตกจากรถเข็น (ร้อยละ 76) รองลงมาเป็นการพลิกคว่ำ (ร้อยละ 11) อีก ร้อยละ 6 เกิดจากแข้งขานิ้วมือนิ้วเท้าเข้าไปขัดตามช่องตามรูแล้วติด หรือถูกบีบบดกดทับ และยังมีอีกร้อยละ 1 ที่เกิดจากรถเข็นยุบตัวลงจาการล็อกโครงรถไม่ดีพอ

           น้อยมากที่บาดเจ็บจากการถูกรถชน หรือที่เห็นในทีวีระบบล็อกล้ออาจไม่ดี ปล่อยรถไว้แล้วไหลตามพื้นที่เอียงลาดเล็กน้อย ตกลงไปในรางรถไฟฟ้า และถูกรถไฟฟ้าชน เดชะบุญที่เด็กปลอดภัยอย่างเหลือเชื่อ

           เด็กที่เกิดอุบัติเหตุจากรถเข็น ส่วนใหญ่บาดเจ็บที่ศีรษะ (ร้อยละ 44) และใบหน้า (ร้อยละ 43) ร้อยละ 11 บาดเจ็บที่แขนขานิ้วและมือ 2 ใน 100 คนต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

ลักษณะรถเข็นที่ปลอดภัย

           ของเล่นทั้งหลายที่ติดอยู่บนรถเข็นเด็ก ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของเล่น ไม่ว่าจะเป็นความแหลมคม ขนาด ความดังของเสียง ลักษณะเส้นสาย ยางหรือสารตะกั่ว ยิ่งติดตั้งหลายตัวหลายแบบยิ่งต้องดูให้ละเอียดว่ ามีอันตรายซ่อนเร้นหรือไม่

           มีตัวล็อกโครงรถเข็นมีให้พับลงมา โดยไม่ตั้งใจ รถเข็นที่ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐาน ASTM-F 833-2009 จะถูกทดสอบโดยถ่วงน้ำหนักที่นั่ง และดูว่าโครงรถจะพับลงมาหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อทดสอบว่า ขณะเด็กนั่งแล้วรถเข็นไม่พับจนเด็กติดอยู่ข้างใน เวลาซื้อต้องทดลอง กางออก และลองกดหรือขย่มเบา ๆ เพื่อดูว่าตัวล็อกป้องกันการพับลงมาของโครงรถเข็นทำงานได้ดีหรือไม่

ต้องไม่มีจุดหรือขอบที่แหลมคม

           ไม่สามารถทิ่มแทง บาดได้ ขณะเลือกซื้อมองให้ถ้วนถี่ เอามือลูบ ๆ คลำ ๆ ดูให้ทั่ว ว่ามีตรงไหนแหลม ตรงไหนคม ทิ่มแทงบาดได้หรือไม่

           ไม่มีส่วนประกอบที่เป็นชิ้นเล็ก หรือชิ้นส่วนที่แตกหักได้ง่าย ซึ่งเด็กสามารถเอาเข้าปาก และสำลักทำให้ติดคอได้ นั่นคือขนาดที่เล็กกว่า 3.2 ซม. โดยมีความยาวน้อยกว่า 6 ซม. จะสามารถติดคอเด็กได้ โดยเฉพาะของเล่นที่ติดตั้งด้านหน้ามาพร้อมกับรถเข็น ลองเอามือจับ บีบเบา ๆ หรือเขย่าเบา ๆ ว่าของเล่นเหล่านี้จะแตก จะหักด้วยแรงเพียงเล็กน้อยของเราหรือไม่ แตกหักแล้ว กลายเป็นชิ้นเล็กได้หรือไม่ ถ้าได้ก็หลีกเลี่ยงการใช้เสียจะดีกว่าครับ

ต้องมีเข็มขัดนิรภัย

           ซึ่งเป็นระบบยึดเหนี่ยวเด็กไว้เพื่อป้องกันเด็กตกจากการปีน โดยต้องยึดได้ทั้งหัวไหล่และเอว ขณะที่เด็กนั่งต้องไม่มีโอกาสที่ตัวจะไหลลื่นออกจากเข็มขัดได้ หรือสามารถยกแขนยกขาหลุดลอดออกมาได้

           สีที่ใช้เคลือบรถเข็นเด็กทุกส่วน จะต้องใช้สีที่ไม่มีสารตะกั่วเกินกว่าค่ามาตรฐาน คือไม่เกิน 90 มก. ต่อสี 1 กก. เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเด็กนั่ง ๆ นอน ๆ ในรถบางทีอาจเอามือไปจับสีหลุดลอกติดมือ หรือร้ายกว่านั้น บางทีเด็กเอาปากไปแทะตามโครงรถเข็น สารตะกั่วที่หลุดลอกติดมือเด็กหรือเข้าปากเด็ก จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าผู้ใหญ่เกือบ 5 เท่า ส่งผลให้ไปสะสมในกระดูก สมอง ทำให้เกิดการทำลายเซลประสาท ไอคิวลดต่ำลง สมาธิสั้น พฤติกรรม เบี่ยงเบนได้ ตะกั่วที่เข้าไปในกระดูก อาจทำลายการสร้างเม็ดเลือดทำให้ซีดได้ หากพ่อแม่ไม่รู้ว่าของเล่น แต่ละชิ้นมีสารตะกั่วเท่าไร ก็ให้เลือกโดยที่เอามือลูบ ๆ แล้วไม่มีสีหลุดลอก และไม่มีช่องรูขนาด 0.210 นิ้ว - 0.375 นิ้ว ซึ่งนิ้วสามารถสอดเข้าไปแล้วทำให้ติดค้างได้ หากมีต้องปิดให้เรียบร้อย

           ไม่มีจุดตัดของแกนโครงด้านต่าง ๆ ที่นิ้วสอดเข้าไปในบริเวณจุดติดได้ เช่น เฟรมของรถเข็นเด็ก ด้านข้างซึ่งมีแกนหมุนที่สามารถเฉือนนิ้วเด็กได้

           ระบบเบรคเป็นเรื่องสำคัญ รถเข็นที่ผ่านการทดสอบเบรค เมื่อนำมาวางบนพื้นเอียง 12 องศา และเอาน้ำหนักประมาณ 40 ปอนด์มาไว้ในตัวรถ ภายใน 10 วินาที รถจะต้องไม่ไหล

การปฐมพยาบาล

           ส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากการพลัดตก ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ฟกช้ำ ดำเขียว ที่ศีรษะและใบหน้า การบาดเจ็บมักไม่รุนแรง

           บาดแผลถลอก ให้ปลอบประโลมเด็ก ชะล้างแผลให้สะอาด

           แผลฟกช้ำ ประคบด้วยผ้าชุบน้ำเย็นสักยี่สิบสี่ชั่วโมง หลังจากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นแทน ให้รับประทานยาแก้ปวดตามความจำเป็น แผลที่ปากอาจต้องกดนาน เพื่อหยุดเลือด หากมีอาการปวดบวมแขน ข้อศอก หัวเข่า หรือเท้า ให้คิดถึงกระดูกหักเคลื่อน อาจต้องใช้วัสดุแข็งดามไว้ ก่อนนำส่งพบแพทย์

           มีหัวโนหัวปูด ต้องสังเกตว่ามีอาการเลือดคั่งในสมองหรือไม่ โดยสังเกตได้จาก ลูกจะมีอาการปวดหัว มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม และการทรงตัวไม่ดี หากมีอาการดังกล่าวให้พาส่งโรงพยาบาล

           รถเข็นตกลงมาจากความสูงเกิน 3 เมตร ให้ระวังว่าอาจมีการบาดเจ็บของศีรษะ สมอง และกระดูกต้นคอที่รุนแรงได้ หากไม่แน่ใจให้ตามหน่วยฉุกเฉิน (1669) ก่อนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง เพราะหากมีกระดูกต้นคอหัก และเคลื่อนย้ายผิดวิธี อาจทำให้กระดูกกดทับไขสันหลังเป็นอัมพาตหรือหยุดหายใจได้

           เลือกของดีมีมาตรฐานรับรองจากต่างประเทศก่อนครับ เพราะบ้านเรายังไม่มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานรถเข็นเด็ก เลือกดีแล้วใช้ให้ถูกวิธี และอย่าลืมนะครับว่าเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปีต้องอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ อยู่ในระยะที่มองเห็นและคว้าถึง ปล่อยไว้ตามลำพังหรือห่างไกลออกไปไม่ได้ครับ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของลูก ๆ ของเราครับ


    


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 28 ฉบับที่ 332 กันยายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เลือกรถเข็นเด็กให้ปลอดภัย! อัปเดตล่าสุด 22 ตุลาคม 2553 เวลา 14:50:26 8,714 อ่าน
TOP
x close