x close

ตำรวจหญิง ถ้าอยากเป็นต้องทำยังไง กับ 9 เรื่องที่ต้องรู้ ก่อนก้าวสู่เส้นทางสีกากี

          ตำรวจหญิง ถ้าอยากเป็นต้องทำอย่างไร มีเรื่องอะไรที่ผู้หญิงอยากเป็นตำรวจต้องรู้บ้าง ตามมาดูแนวทางสู่การเป็นตำรวจหญิง อาชีพที่หลายคนใฝ่ฝันกันเลย

ตำรวจหญิง

          หากพูดถึงอาชีพในฝันวัยเด็ก เชื่อว่าอาชีพตำรวจต้องติดโผอันดับต้น ๆ และเมื่อโตขึ้นสาว ๆ หลายคนก็ใฝ่ฝันที่จะเป็นตำรวจหญิง เพราะได้รับความมั่นคงและสวัสดิการจากการเป็นข้าราชการ เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ได้ใส่เครื่องแบบ และยังดูเท่มาก ๆ อีกด้วย ซึ่งในความเป็นจริงมีน้อยคนนักที่จะได้ทำอาชีพนี้ นั่นก็เพราะว่าเส้นทางสู่การเป็นตำรวจหญิงนั้นไม่ได้ง่ายเลย แล้วถ้าอยากเป็นตำรวจหญิงต้องทำอย่างไรบ้าง มีคุณสมบัติแบบไหน รวมถึงหากได้สอบตำรวจหญิงเรียบร้อยแล้วจะต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมมีแนวทางมาฝากสาว ๆ กันแล้วค่ะ

1. คุณสมบัติตำรวจหญิง


          สำหรับเส้นทางสู่อาชีพตำรวจหญิง อันดับแรกจะต้องสอบเข้าไปเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงให้ได้เสียก่อน ซึ่งคุณสมบัติของนักเรียนที่จะสอบเข้าไปเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงนั้นจะต้องมีดังนี้

1. บุคคลที่เป็นข้าราชการตำรวจหญิง อายุไม่เกิน 25 ปี เป็นข้าราชการตำรวจมาแล้ว 1 ปี

2. นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงบุคคลภายนอก

          - อายุ 16-21 ปี

          - สำเร็จการศึกษามัธยมปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่า

          - สูงไม่น้อยกว่า 160 ซม.

          - สายตาไม่สั้นเกินกว่ากำหนด ประมาณ 50-100

          - มีสัญชาติไทย และบิดา-มารดามีสัญชาติไทย

          - เป็นหญิงโสด

2. สอบตำรวจหญิง ต้องทำอย่างไร


          การสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ สำหรับรอบแรกจะเป็นการสอบข้อเขียนวัดผลความรู้ โดยจะแบ่งเป็น 4 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ วิชาละ 200 คะแนนเต็ม

          ส่วนการสอบรอบที่สองจะเป็นการตรวจร่างกาย การสอบประวัติ การสอบพลศึกษา และการสอบสัมภาษณ์ มีขั้นตอนดังนี้

          - ตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลตำรวจ

          - สอบพลศึกษา (ว่ายน้ำ 50 เมตร ภายใน 3 นาที และวิ่ง 1,000 เมตร ภายใน 7 นาที)

          - สอบสัมภาษณ์และวัดขนาดร่างกาย พิจารณาปฏิภาณไหวพริบ เพื่อคัดเลือกบุคคลว่าเหมาะสมจะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรหรือไม่ รวมไปถึงสอบประวัติที่สถานีตำรวจที่บ้านเกิด เป็นต้น


          โดยการสมัครสอบนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงนั้นจะเปิดรับสมัครผ่านเว็บไซต์ช่องทางเดียวเท่านั้น ซึ่งสามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครได้ที่ เว็บไซต์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ตำรวจหญิง

3. โรงเรียนตํารวจหญิงมีที่ไหนบ้าง


          สำหรับโรงเรียนที่เปิดรับสมัครนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง เส้นทางสู่อาชีพตำรวจหญิงจะมีเพียงที่เดียว นั่นก็คือ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (Royal Police Cadet Academy : RPCA) สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกองบัญชาการ ตั้งอยู่ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

4. นายร้อยตํารวจหญิง เรียนกี่ปี


          เมื่อสอบและได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงเรียบร้อยแล้วจะต้องเข้าเรียนหลักสูตรนักเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ (การตำรวจ) รวมไปถึงจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ของนักเรียนนายร้อยตำรวจด้วย

5. ก่อนเป็นตำรวจหญิง ต้องรู้เรื่องนี้


          ก่อนที่จะสอบเข้าตำรวจหญิงนั้น นอกจากการเตรียมตัวด้านวิชาการและด้านร่างกายแล้ว ควรที่จะมีทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างครบเครื่องเพื่อความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย เช่น

          - ด้านไหวพริบและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

          - ด้านสรีรร่างกายและจิตใจที่ต้องแข็งแรงอยู่เสมอ

          - ด้านวิชาการและความรู้รอบตัว


          รวมถึงการตัดสินใจเลือกสายงานตำรวจไว้ล่วงหน้า เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น

6. ตำรวจหญิงมีตำแหน่งอะไรบ้าง

          สำหรับอาชีพตำรวจหญิงนั้น หากสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้วจะแบ่งออกเป็นหลายตำแหน่งและทำหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1. นายสิบตำรวจหญิง สายอำนวยการ (อก.)


          ลักษณะหน้าที่ : สนับสนุนการทำงานในทุกหน่วยงานของตำรวจ และเรื่องงานเอกสารทุกอย่าง เช่น เงินเดือน สวัสดิการ แผนงานต่าง ๆ ของตำรวจ เป็นต้น จะประจำอยู่ที่สถานีตำรวจในแต่ละพื้นที่ทั้งในนครบาลและภูธร รวมถึงอยู่ที่ส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ได้เข้ารับตำแหน่ง

คุณสมบัติ :

          - อายุ 18-35 ปี

         - ส่วนสูง ไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร

         - ตาไม่บอดสี

         - BMI ไม่เกิน 35

         - วุฒิการศึกษาที่เข้าสอบ ม.6 หรือเทียบเท่า

2. นายสิบตำรวจหญิง สายอำนวยการพิสูจน์หลักฐาน


          ลักษณะหน้าที่ : ทำงานเอกสารเกี่ยวกับคดีความ แต่ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ในการตรวจพิสูจน์ ลงตำแหน่งสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คุณสมบัติ :

         - อายุ 18-35 ปี

         - ส่วนสูง ไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร

         - ตาไม่บอดสี

         - BMI ไม่เกิน 35

         - วุฒิการศึกษาที่เข้าสอบ ม.6 หรือเทียบเท่า

3. นายสิบตำรวจหญิง สายเทคนิค


          ลักษณะหน้าที่ : ทำงานที่เป็นสายงานอาชีพเฉพาะทางเทคนิค เช่น ตำรวจช่างไฟฟ้าสื่อสาร ตำรวจทำหน้าที่ควบคุมคอมพิวเตอร์ ตำรวจไซเบอร์ เป็นต้น

คุณสมบัติ :

          - อายุ 18-35 ปี

          - ส่วนสูง ไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร

          - ตาไม่บอดสี

          - BMI ไม่เกิน 35

          - วุฒิการศึกษาที่เข้าสอบ จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สายช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างวิทยุ ช่างโทรคมนาคม และช่างคอมพิวเตอร์

4. นายสิบตำรวจหญิง สายตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)


          ลักษณะหน้าที่ : ตรวจเอกสารอนุญาตหนังสือเดินทาง ดูแลให้คำแนะนำชาวต่างด้าว สืบสวนปราบปราม จัดส่งกลับชาวต่างด้าวที่เข้ามาในช่องทางธรรมชาติ หรือกระทำผิดกฎหมาย หรือไม่มีใบอนุญาต ฯลฯ ปฏิบัติหน้าที่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองต่าง ๆ รวมทั้งท่าอากาศยานในแต่ละจังหวัด (หัวเมือง)

คุณสมบัติ :

          - อายุ 18-35 ปี

          - ส่วนสูง ไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร

          - ตาไม่บอดสี

          - BMI ไม่เกิน 35

          - วุฒิการศึกษาที่เข้าสอบ ม.6 หรือเทียบเท่า

5. นายสิบตำรวจหญิง สายปราบปราม


          ลักษณะหน้าที่ : ตำรวจควบคุมฝูงชน หรือรู้จักกันในนาม กองร้อยน้ำหวาน เป็นงานปราบปราม ดูแลควบคุมความไม่สงบในพื้นที่ เช่น ม็อบ การแข่งขันกีฬา อาจมีการปะทะบ้าง จึงต้องมีร่างกายที่แข็งแรง มีความอดทน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เด็ดเดี่ยว กล้าตัดสินใจ และยอมรับในความผิดพลาดของตัวเอง

คุณสมบัติ :

          - อายุ 18-27 ปี

          - ส่วนสูง ไม่ต่ำกว่า 160 เซนติเมตร

          - ทดสอบร่างกาย

          - ทดสอบสายตา

          - BMI ไม่เกิน 35

          - วุฒิการศึกษาที่เข้าสอบ ม.6 หรือเทียบเท่า

ตำรวจหญิง

6. นายสิบตำรวจหญิง สายพลร่ม


          ลักษณะหน้าที่ : เป็นงานบู๊ เหมาะกับผู้หญิงลุย ๆ ต้องรู้ทักษะกระโดดร่ม ส่งกำลังลงหลังแนวข้าศึก ทำหน้าที่เป็นหน่วยรบนอกเครื่องแบบและรบพิเศษของตำรวจ สังกัดกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ค่ายนเรศวร

คุณสมบัติ :

          - อายุ 18-27 ปี

          - ส่วนสูง ไม่ต่ำกว่า 160 เซนติเมตร

          - ทดสอบร่างกาย

          - ทดสอบสายตา

          - BMI ไม่เกิน 35

          - วุฒิการศึกษาที่เข้าสอบ ม.6 หรือเทียบเท่า

7. นายสิบตำรวจหญิง สายสอบสวน
 

          ลักษณะหน้าที่ : มีหน้าที่รับแจ้งเรื่องร้องเรียน รับฟังปัญหา ช่วยเหลือประชาชน หรือผู้ที่เข้ามาร้องทุกข์ต่าง ๆ ที่สถานีตำรวจในแต่ละเขต แต่ละจังหวัด พร้อมทั้งจัดการดูแลเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา คดีจราจร รถชน รวมถึงคดีอื่น ๆ

คุณสมบัติ :

          - อายุ 18-35 ปี

          - ส่วนสูง ไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร

          - BMI ไม่เกิน 35

          - วุฒิการศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ (นบ.) หรือ เนติบัณฑิตไทย (นบท.)

8. นายสิบตำรวจหญิง สายพิสูจน์หลักฐาน


          ลักษณะหน้าที่ :
ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ (สบ 1) ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานต่าง ๆ เช่น ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ร่องรอยการเสียชีวิต วิถีกระสุนปืน อาวุธปืนและเครื่องกระสุน ลายนิ้วมือ ยาเสพติด ฯลฯ โดยกระบวนการทางชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ รวมถึงตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และตรวจประวัติอาชญากร

คุณสมบัติ :

          - อายุ 18-35 ปี

          - ส่วนสูง ไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร

          - BMI ไม่เกิน 35

          - ตาไม่บอดสี

          - วุฒิการศึกษาปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ (วทบ.) สาขาฟิสิกส์ เคมี จุลชีวะ

9. นายสิบตำรวจหญิง สายบัญชี


          ลักษณะหน้าที่ : ดูแลงานด้านบัญชีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำรายงานการเงิน ตรวจสอบงบประมาณ ตรวจสอบบัญชี กำกับดูแลบัญชีสินทรัพย์ในระบบ GFMIS ให้มีความถูกต้อง เป็นต้น

คุณสมบัติ :

          - อายุ 18-35 ปี

          - ส่วนสูง ไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร

          - BMI ไม่เกิน 35

          - ตาไม่บอดสี

          - วุฒิการศึกษาปริญญาตรี คณะบัญชี

10. นายสิบตำรวจหญิง สายประมวลผล


          ลักษณะหน้าที่ : ดูแลงานด้านประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ งานเทคนิคในหน่วยงานต่าง ๆ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คุณสมบัติ :

           - อายุ 18-35 ปี

           - ส่วนสูง ไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร

           - BMI ไม่เกิน 35

           - ตาไม่บอดสี

           - วุฒิการศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง

7. ตํารวจหญิง เงินเดือนเท่าไร


          สำหรับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง หากกำลังศึกษาอยู่จะมีเงินเดือนให้ด้วย โดยจะแบ่งเป็นแต่ละชั้นปี ดังนี้ นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 1 เงินเดือน 3,070 บาท, นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 2 เงินเดือน 3,270 บาท, นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 เงินเดือน 3,470 บาท และนักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 4 เงินเดือน 3,670 บาท

          ส่วนนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงที่จบแล้ว และบรรจุเข้าทำงานเเล้ว เงินเดือนตำรวจหญิงกับเงินเดือนตำรวจชายนั้นไม่แตกต่างกัน หากอยู่ในขั้นเงินเดือนเดียวกัน อยู่ที่วุฒิที่ใช้ในการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการตำรวจ และการได้พิจารณาขั้นเงินเดือนตามความดีความชอบที่เราได้ปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่

1. ตำรวจหญิง วุฒิ ม.6, ปวช., กศน. หรือเทียบเท่า


          โดยปกติคุณวุฒินี้จะรับสมัครสอบเป็นตำรวจชั้นประทวน (นายสิบตำรวจ) จบมาติดยศสิบตำรวจตรีหญิง โดยอัตราเงินเดือนจะแตกต่างกันตามคุณวุฒิที่บรรจุ ดังนี้

          - บรรจุวุฒิ ม.6 หรือ กศน. สายสามัญ ขั้นระดับ ป.1 ขั้น 13.5 เงินเดือน 8,610 บาท

          - บรรจุวุฒิ ปวช. หรือ กศน. สายอาชีพ ขั้นระดับ ป.1 ขั้น 15.5 เงินเดือน 9,330 บาท

          - สายสามัญต่างจากสายอาชีพ 2 ขั้น คิดเป็นเงิน 720 บาท แต่ทั้ง 2 วุฒิจะมีเงินค่าครองชีพและสิทธิ์อื่น ๆ ของทางราชการ เบ็ดเสร็จอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยสำหรับวุฒิที่ใช้บรรจุ

2. ตำรวจหญิง วุฒิ ป.ตรี


          โดยปกติคุณวุฒินี้จะรับสมัครสอบเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร (นายร้อยตำรวจหญิง) จบมาติดยศร้อยตำรวจตรีหญิง อัตราเงินเดือน 15,920 บาท และอาจมีเงินประจำตำแหน่งของแต่ละสายงานแตกต่างกัน เช่น เงินประจำตำแหน่งพนักงานสอบสวนหญิง 12,000 บาท เป็นต้น

8. หากอยากเลื่อนขั้น หรือแต่งตั้งยศตำรวจ ต้องทำอย่างไร


          เมื่อรับราชการตำรวจไประยะหนึ่งและอยากเลื่อนตำแหน่ง หรือใช้วุฒิปริญญาโทเพื่อเลื่อนขั้น สามารถทำได้ตาม “กฎ ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ แต่งตั้งยศ พ.ศ. 2554 ข้อ 8.2.8” ดังนี้

          - ทำงานชั้นประทวน

          - เรียนต่อปริญญาโท

          - เลือกเรียนในหลักสูตรที่ขาดแคลนบุคลากร

          - ระหว่างเรียนปริญญาโท ให้สมัครเข้าหลักสูตร กอส. ดูให้เข้าเกณฑ์และเข้าหลักสูตร จนผ่านการอบรม

          - เมื่อผ่านการอบรมแล้วจะเข้าสู่ “ชั้นสัญญาบัตร” ด้วยการเป็น “ว่าที่ร้อยตรี”

          - เมื่อสำเร็จการศึกษาสามารถยื่นวุฒิเพื่อเลื่อนขั้นได้

9. ข้อดีของการทำงานรับราชการตำรวจ


          งานราชการเป็นที่นิยมของคนทั่วไป เพราะถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติและเป็นที่ยอมรับ ครอบครัวไทยส่วนใหญ่เมื่อมีลูกหลานก็มักสนับสนุนให้รับราชการ โดยหวังพึ่งพาอาศัยยามแก่ชราและยามเจ็บป่วย นอกจากนั้นการรับราชการยังมีข้อดีอื่น ๆ ได้แก่

          - บำนาญ เมื่อเกษียณอายุราชการไปแล้วยังมีเงินใช้ทุกเดือน ซึ่งการเป็นข้าราชการเท่านั้นที่มีเงินบำนาญ องค์กรเอกชนไม่มี

          - มีความมั่นคง เพราะอัตราเงินเดือนของข้าราชการไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาวะทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องกังวลกับปัญหาการเลิกจ้าง นอกจากทำผิดระเบียบวินัย ซึ่งจะถูกพิจารณาไปตามขั้นตอน เช่น การเตือน ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ปลดออก และไล่ออก ตามลำดับ

          - มีสวัสดิการ ผู้ที่รับราชการสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลของตนเอง คู่สมรส บุตร พ่อแม่ เบิกค่าเล่าเรียนลูก และอื่น ๆ อีกมากมาย

          - ได้ตอบแทนประเทศชาติ งานราชการคือการรับใช้ประเทศชาติ ดังนั้นคนที่รับราชการและคนที่สอบตำรวจได้จึงมีความภาคภูมิใจในตัวเอง

          เห็นแบบนี้แล้วสาว ๆ คนไหนที่อยากเป็นตำรวจหญิงคงจะมีแรงฮึดกันแล้วนะคะ ทีนี้ก็เหลือแต่ต้องพยายามเตรียมตัวอ่านหนังสือให้ดี ไม่แน่อนาคตตำรวจหญิงอาจเป็นคุณก็ได้นะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : nine100.com, gurupoliceacademy.com, tpa.or.th, รวมแนวข้อสอบข้าราชการ.com, guruacademy.in.th, goventpolice.com, เฟซบุ๊ก อาร์ท เอกรัฐ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตำรวจหญิง ถ้าอยากเป็นต้องทำยังไง กับ 9 เรื่องที่ต้องรู้ ก่อนก้าวสู่เส้นทางสีกากี อัปเดตล่าสุด 12 มิถุนายน 2566 เวลา 14:37:53 392,568 อ่าน
TOP