x close

เผยแนวคิด นักออกแบบนางงาม ชุดประจำชาติ


ชุด ประจำ ชาติ miss universe

น้องน้อด ชนันภรณ์ รสจันทน์


เผยแนวคิด นักออกแบบนางงาม ชุดประจำชาติ (เดลินิวส์)

โดย : จุฑานันทน์  บุญทราหาญ

          ชูเอกลักษณ์ไทย...ชิงชัยความเป็นหนึ่ง

          การประกวด มิสยูนิเวิร์ส หรือ นางงามจักรวาล นอกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะคัดสรรสาวงามเป็นตัวแทนเข้าประกวดแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันบนเวทีนี้ นั่นก็คือ ชุดแต่งกายประจำชาติ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งของการประกวดที่สร้างสีสัน เรียกเสียงฮือฮาได้มากทีเดียว

          นับเป็นปีที่ 10 แล้วที่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 ได้ดำเนินการจัดการประกวดภายใต้ชื่อ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ขึ้น เพื่อสรรหาสาวงามเป็นตัวแทนจากประเทศไทยไปปฏิบัติหน้าที่เข้าประกวดชิงตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส และที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกับนานาชาติ กลายเป็นที่จดจำของผู้คนอย่างรวดเร็วคงหนีไม่พ้นชุดแต่งกายประจำชาติที่สาวงามของไทยสวมใส่เพราะเคยคว้ารางวัลชุดแต่งกายยอดเยี่ยมมาแล้ว


          ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 จากการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2005 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ มี นางสาวชนันภรณ์ รสจันทน์ หรือ น้องน้อด เป็นตัวแทนสาวไทยกับชุดประจำชาติไทยประยุกต์

          จากนั้นชุดประจำชาติไทยก็กระหึ่มบนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2008 ณ เมืองนาตรัง ประเทศเวียดนาม คว้ารางวัลชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยมมาได้อีกครั้ง กับชุดประจำชาติในชื่อชุดว่า "สปิริต ออฟ ไฟต์ติ้ง" โดยมีตัวแทนสาวไทย คือ นางสาวกวินตรา โพธิจักร หรือ น้องแก้ม มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สปี พ.ศ. 2551 เป็นผู้ใส่โชว์ความงดงาม ซึ่งเป็นผลงานของ สถาปัตย์ มูลมา นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่แสดงออกถึงกลิ่นอายของความเป็นไทย ดัดแปลงมาจากชุดมวยไทยคาดเชือกสมัยโบราณในชุดสีดำแดง ผ้ามัดมือและข้อเท้าสีเงิน สวมมงคลสีดำเหลือง

          สถาปัตย์ เล่าย้อนถึงผลงานชิ้นนี้ให้ฟังว่า เริ่มจากนึกถึงความเป็นไทย โดยได้ออกแบบไว้หลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบจะหยิบเอาเอกลักษณ์ของไทยด้านต่างๆ มาใช้ ชุด สปิริต ออฟ ไฟต์ติ้ง เป็นชุดที่หยิบเอาศิลปะการป้องกันตัวของไทยที่เรียกว่า มวยไทยมาใช้ เพราะคิดว่า สามารถ แสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน กอปรกับลักษณะของหญิงไทยมีบุคลิกเรียบร้อยอ่อนหวาน แต่ในคราวที่บ้านเมืองเกิดสงครามหรือคนที่รักมีอันตราย สตรีไทยก็สามารถที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งที่ตนรักได้เช่นกัน

          ผ้าที่ใช้จะเลือกโทนสีแดง ทองและดำ เพราะสีแดงแสดงให้เห็นถึงความเป็นเลือดนักสู้ ความร้อนแรง ดุดัน สีทองสะท้อนถึงความมั่งคั่ง ส่วนสีดำ แสดงถึงความสุขุม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าไหมสีแดงเป็นหลัก

          "โดยส่วนบนจะมีลักษณะ คล้ายการพันผ้าของสตรีไทยในสมัยก่อน หรือที่เรียกว่า ตะเบงมาน เมื่อเวลาที่ต้องมีการขยับเขยื้อนร่างกายจะได้คล่องตัวมากขึ้น ส่วนท่อนล่าง จะอิงจากภาพของชุดนักมวยแบบโบราณที่ใช้เป็นกางเกงขาสั้นมีผ้าพันเป็นกระจับโดยออกแบบให้ส่วนที่เป็นกางเกงเป็นผ้าซีทรูสีดำ เพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น ส่วนกระจับของผู้ชายดัดแปลงเป็นกางเกงนักมวยทำจากผ้าไหมสีแดงแทน"

          ส่วนของผ้าคลุม เป็นส่วนที่ออกแบบเพิ่มเติมหลังจากที่ได้รับคัดเลือก โดยทางห้องเสื้อโนริโกะได้ใช้ผ้าโขมพัสตร์ ซึ่งเป็นผ้าพิมพ์ลายไทยที่มีเอก ลักษณ์ เหมาะกับการนำเสนอเอกลักษณ์ไทย ด้านเครื่องประดับต่างๆ ก็แบ่งได้หลายส่วน เช่น มงคลสวมที่ศีรษะ ทับทรวงที่หน้าอก และต้นแขน พิรอดหรือสายรัดต้นแขน ผ้ารัดเอว ส่วนมากจะใช้สีทองเป็นหลัก เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย ที่เรียกกันว่า ดินแดนสุวรรณภูมิ มีการประยุกต์ ในส่วนสายรัดต้นแขนให้มีสายห้อย ลงมา เพื่อให้ดูสวยงามเวลาที่มีการเคลื่อนไหว

          ความยากง่าย อยู่ที่เรื่องอุปกรณ์ของนักมวย ซึ่งต้องมีการศึกษา ค้นคว้า รวมทั้งสอบถาม ผู้รู้ เพราะบางอย่างเป็นของสูง หรือมีครูอาจารย์ที่ต้องให้ความเคารพ เช่น มงคลที่ใช้สวมหัว ว่าสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ชุดนี้มีความโดดเด่นที่ความแปลกตา สร้างความประทับใจ ตั้งแต่แรกเห็น อย่างกรณีของคนไทย จะติดภาพชุดไทยที่เรียบร้อยหรือเป็นแบบแผน เช่น ชุดไทย พระราชทาน ชุดไทยตามสมัย ต่างๆ พอมาเห็นชุดนี้จะสะดุดตา เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันขึ้น

          "อย่าท้อแท้ที่จะพัฒนาตนเอง อย่างการประกวด ถึงแม้จะไม่ได้รางวัล แต่การที่ได้ส่ง ผลงานมาเข้าร่วมถือว่าเป็นการพัฒนาฝีมือแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าผลงานของเราจะวาดได้ไม่สวย เพราะการประกวดไม่ได้ต้องการผลงานที่วาดได้สวยที่สุด แต่ต้องการผลงานที่ใช้ความคิดและนำเสนอให้คนอื่นๆ ได้เห็นถึงเอกลักษณ์ของไทยได้เหมาะสมและดีที่สุดต่างหาก และคิดว่า คนไทยทุกคนย่อมมีความคิดหรือความรู้สึกเกี่ยวกับประเทศไทยในแบบของตนเองอยู่แล้ว การได้รางวัลไม่ว่าจะเป็นที่เมืองไทยหรือเวทีใหญ่ในต่างแดนไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่การที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอเอกลักษณ์ของชาติที่เราต่างภาค ภูมิใจสิ่งนี้สำคัญมากกว่า" สถาปัตย์ แนะวิธีสู่ความสำเร็จ

          หลังจากที่ประสบความสำเร็จกับโครง การออกแบบ ชุดประจำชาติ สำหรับตัวแทนสาวไทยไปประกวดนางงามจักรวาล เมื่อปีที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เติมความฝันให้กับนักออกแบบ  รุ่นใหม่อีกครั้ง โดยปีนี้ ผลงานที่โดด เด่นชนะใจคณะกรรมการตัดสินได้แก่ "ญ.งามท้องถิ่นสุวรรณภูมิ" ของ ธัชกร ตั้งธนกรกิจ 

ชุด ประจำ ชาติ miss universe

ไข่มุก ชุติมา ดุรงค์เดช



          ล่าสุด อวดสายตากันไปแล้วกับ ชุดประจำชาติ สำหรับมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ประจำปี พ.ศ. 2552 ชุติมา ดุรงค์เดช หรือ "ไข่มุก" ที่จะต้องใช้สวมใส่ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ณ ประเทศบาฮามาส ในเดือนสิงหาคมนี้

          ธัชกร นักออกแบบอิสระ อธิบายถึงแนวคิดของชุดให้ฟังว่า อยากถ่ายทอดความเป็นไทยในเชิงจิตใจ โดยใช้คำว่า สุวรรณภูมิ เป็นตัวถ่ายทอด โดยจุดเด่นของชุดนี้ คือ เครื่องประดับ ที่สื่อถึงคำว่า สุวรรณ หรือ ทองคำ ตรงนี้ได้แนวความคิดจาก เครื่องประดับของคนไทยภูเขา โดยส่วนตัวคิดว่าห่วงทองนี้ มีเอก ลักษณ์เฉพาะตัวเมื่อพบเห็นแล้วจะรู้สึกสะดุดตา ติดตา จดจำได้ง่าย รวมทั้งให้ความรู้สึกของคำว่าทองคำได้เป็นอย่างดี จึงสร้างจุดสนใจด้วยการใช้ห่วง ทองไหลเชื่อมลงมาถึงหน้าอกและดัดแปลงให้เป็นสไบ ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม

          "เครื่องประดับมีทั้งหมด 8 ส่วน ชิ้นแรก คือ ห่วงที่ส่วนมวยผม ห่วงคอ ห่วงบ่าและหน้าอก ห่วงกำไลมือ 2 ข้าง ห่วงข้อแขน ห่วงข้อต้นแขน สไบแท่งทอง และสุดท้ายห่วงกำไลข้อเท้า ทั้งหมดทำจากทองเหลืองนำมาดัดให้ได้ขนาดตามแบบ แล้วนำมาผ่าเพื่อใส่บานพับและตะขอเพื่อให้ง่ายในการสวมใส่ จากนั้นนำมาชุบด้วยทอง ซึ่งมีส่วนผสมของทองคำจริงๆ 98 เปอร์เซ็นต์ จึงได้ห่วงทองที่แวววาว สวยงาม"

          "ความยากอยู่ตรงเครื่องประดับห่วงทองเหลือง เพราะต้องคำนึงถึงน้ำหนักที่ต้องไม่มาก จนเกินไป รวมทั้งการสวมใส่   ที่ต้องใส่ได้ง่าย จึงคุยกับช่างที่ทำห่วงทองเหลืองเพื่อหาวิธีที่จะสวมใส่ง่ายและวิธีลดน้ำหนักของทองเหลืองให้ได้มากที่สุด ซึ่งการดัดทองเหลืองให้ได้รูปอย่างที่ต้องการค่อนข้างยากมาก แต่ช่างไทยเราเก่ง"

          ส่วนผ้านุ่งใช้ผ้าไทยของ โขมพัสตร์ โดยมีการปรับ แต่งแบบให้ดูร่วมสมัยขึ้น ส่วนหน้านาง ใช้ผ้าปักด้วยดิ้นทองลายนูนรูปช้าง อีกอย่างที่เลือกนำมาใช้ คือ การปักผ้าที่เราเห็นกันทั่วไปตามร้านขายของที่ระลึก ที่คุ้นตาทั้งชาวไทยและต่างชาติ นำมาจัดวางให้เหมาะสม ทำให้ชุดมีคุณค่ามากขึ้น

          ธัชกร กล่าวทิ้งท้ายว่า "ใครที่มีความชื่นชอบในการออกแบบอยากให้ส่งผลงานเข้าประกวด โดยไม่ต้องกังวลว่าเราเรียนมาด้านนี้หรือไม่ ขอเพียงแค่มีแนวความคิดสร้างสรรค์ที่อยากจะถ่ายทอดความเป็นไทยในรูปแบบของตัวเราเอง เพื่อจะได้ชุดที่แสดงเอกลักษณ์ไทยที่มาจากมุมมองของคนไทยในสาขาอาชีพและอายุต่างๆ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าเท่านั้น"

          มาร่วมลุ้นกันว่าปีนี้ชุดแต่งกายประจำชาติของมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สจะสร้างชื่อบนเวทีโลกได้หรือไม่??



  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก nation.com,เดลินิวส์,ข่าวสด,มติชนออนไลน์,สยามดารา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยแนวคิด นักออกแบบนางงาม ชุดประจำชาติ อัปเดตล่าสุด 15 กันยายน 2552 เวลา 17:51:36 2,414 อ่าน
TOP