x close

พิธีการปูที่นอน


แต่งงาน

เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม

          กว่าเจ้าบ่าว-สาวจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์พิธีแต่งงานได้ ต้องผ่านพิธีที่สำคัญที่สุดก่อน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการแต่งงาน นั่นก็คือ "พิธีส่งตัว" และ "พิธีปูที่นอน" เพราะถือเป็นการรับพรจากผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งชายและหญิงที่เคารพ เพื่อชีวิตคู่จะได้ราบรื่นตลอดรอดฝั่งไปจนแก่เฒ่า ซึ่งผู้ใหญ่ที่จะมาทำพิธีให้จะต้องเป็นคู่ที่ใช้ชีวิตกันมายาวนาน กล่าวคือเป็นคู่ที่มีศิริมงคลในการร่วมชีวิตคู่ มาเป็นผู้ทำพิธีปูที่นอน เรียงหมอน ทั้งนี้ "พิธีปูที่นอน" มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "พิธีเรียงหมอน" แต่จะมีขั้นตอนและต้องเตรียมการอย่างไรบ้างถึงจะถูกต้องตามประเพณี วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ มาแบ่งปันกันค่ะ...

คุณสมบัติของผู้ที่เหมาะสมเป็นผู้ทำพิธ

          1. ต้องอยู่ด้วยกันเป็นคู่ตั้งแต่หนุ่มสาวจนกระทั่งแก่เฒ่า

          2. มีชีวิตครอบครัวอย่างมีความสุขและอบอุ่น ไม่ใช่เป็นครอบครัวที่มีความร้าวฉาน หรือการทะเลาเบาะแว้งกันมาโดยตลอด

          3. สามารถตั้งตัวได้เป็นหลักฐาน มีทรัพย์สินเงินทอง และมีลูกหลานสืบสกุล

          4. เป็นผู้ใหญ่ที่มีคนนับหน้าถือตา และเป็นที่ยอมรับในของสังคม

          5. เป็นผู้ที่อยู่ในศีลธรรมอันดี สมควรแก่การเป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะคู่บ่าวสาวให้เห็นตัวอย่างที่ดีจากผู้ที่กระทำพิธีปูเตียงให้

ขั้นตอนการทำพิธีปูที่นอน

          ใน "พิธีปูที่นอน" ผู้ที่ทำพิธีจะต้องเตรียมข้าวของสำหรับเข้าพิธี ได้แก่...

          - หินบดยา  1 ก้อน (หมายถึงจิตใจหนักแน่น)
          - ไม้เท้า 1 อัน (หมายถึงอายุยืน)
          - ฟักเขียว 1 ลูก (หมายถึงความเยือกเย็นอยู่เป็นสุข)
          - ถั่ว งา อย่างละ 1 ถุง (หมายถึงความเจริญงอกงามเพิ่มพูน)
          - ภาชนะน้ำ 1 ที่ (หมายถึงสามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว)
          - แมว 1 ตัว (หมายถึงรักบ้านเรือน)
          - ไก่ขาว 1 ตัว (หมายถึงตื่นดึก ลุกเช้า เฝ้าขยันหมั่นเพียร)
          - เครื่องนอนของเจ้าบ่าว เจ้าสาว
          - ขันน้ำมนต์ 1 ขัน พร้อมที่พรม
          - ข้าวตอก ดอกไม้ 1 ขัน (ดอกรัก มะลิ กุหลาบ ผสมเหรียญทอง - เงิน อย่างละ 9 เหรียญ หรือตามต้องการ)

          จากนั้นก็จึงเริ่มปูที่นอนแล้วพรมน้ำมนต์ที่นอน พร้อมกับให้ศีลให้พร เพื่อเป็นสิริมงคล และโปรยข้าวตอกดอกไม้ลงบนที่นอน ซึ่งในการทำพิธีญาติสามารถเข้าไปร่วมพิธีได้ เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมแก่การทำพิธี ผู้ที่ประกอบพิธีจะลุกขึ้นและยืนร้องถามข้อความต่างๆ และจะต้องมีคนคอยตอบด้วย

          ผู้ทำพิธี : ถึงฤกษ์ดีแล้วหรือยัง
          คนคอยตอบ : ถึงแล้วขอรับ
          ผู้ทำพิธี : นายบุญมั่นมาแล้วหรือยัง
          คนคอยตอบ : มาแล้วขอรับ
          ผู้ทำพิธี : นายบุญคงเล่ามาแล้วหรือยัง
          คนคอยตอบ : มาแล้วขอรับ



แต่งงาน

          ต่อมาก็ถามถึงคนที่มีชื่อเป็นสวัสดิมงคลอย่างอื่นอีกสัก 2-3 คน และให้มีคนคอยรับทุกครั้งว่ามาแล้วทุกครั้ง ต่อมาผู้กระทำพิธีจะไปพูดกับภรรยาของตนว่า "ถึงฤกษ์ดีแล้ว ผู้ที่จะมาอำนวยพรก็มาพร้อมกันแล้ว เรามาช่วยกันปูที่นอนให้เถิด" ว่าแล้วก็ช่วยกันปูที่นอนจนเรียบร้อย ขั้นตอนต่อมาผู้กระทำพิธีทั้งคู่ขึ้นไปนั่งเคียงกันบนที่นอน หันหน้าไปทางข้างหัวนอน ไหว้พระสวดมนต์ด้วยกันสักครู่หนึ่ง พอจบแล้วก็ลงนอนเคียงกันบนที่นอน ให้พรบ่าวสาวเป็นคำสนทนากันและกัน เช่น

          ฝ่ายชาย : ที่นอนน่านอน ใครนอนเห็นจะอยู่เย็นเป็นสุขสบาย อายุยืนนะแม่หนู
          ฝ่ายหญิง : สบายนักนะคะ ถ้าใครนอนที่นอนนี้คงจะเกิดทรัพย์สินมูลพูนเขา มีลูกเต้าน่ารักน่าชม
          ฝ่ายชาย : แหมที่นอนนี้ดีจริง ใครได้นอนคงอยู่เย็นเป็นสุขสบาย
          ฝ่ายหญิง : เราคงมีแต่ความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป

          และก็จะพูดในลักษณะนี้นี้อีกเล็กน้อย จนจบการให้พรแล้วนอนหลับตานิ่งๆ เหมือนกับหลับอยู่อีกสักครู่หนึ่ง แล้วจึงลุกจากเตียงเป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงนำเจ้าสาวเข้ามา เจ้าสาวไหว้หรือกราบเจ้าบ่าว ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวกล่าวฝากฝังเจ้าสาวกับเจ้าบ่าวให้ทั้งสองรักกันมั่นคง จากนั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็จัดแจงวางหมอนหนุนศีรษะ ซึ่งที่ผู้ชายต้องนอนทางขวาและผู้หญิงต้องนอนทางซ้าย จากนั้นเป็นอันเสร็จก็ออกจากห้อง

          ทั้งนี้ เนื่องจากว่าบางคนมีฤกษ์ส่งตัวต่อหลังจากทำพิธีตอนเช้าเลย จึงมีการส่งตัวแบบรวบรัดคือ หลังจากที่ผู้ใหญ่ปูที่นอน ทำพิธีนอน โรยข้าวตอกดอกไม้แล้ว และส่งเจ้าสาวแก่เจ้าบ่าวเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวอยู่กันตามลำพังสักครู่ ต่อมาให้ทำเสียงไก่ขันประมาณว่าเช้าแล้ว พอเจ้าบ่าวสาวตื่นก็ให้ทั้งสองพูดว่า เมื่อคืนฝันเห็นเงินทองเพชรนิลจินดามากมาย และฝันว่าได้ลูกชาย (ลูกสาว) พูดแต่สิ่งที่ดีๆ

สีของผ้าปูที่นอน 

          ส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็น ประเพณีไทย สีของผ้าปูที่นอนจะไม่จำกัดแค่สีใดสีหนึ่งเท่านั้น แต่จะเลือกตามความเหมาะสมอย่างสีชมพู สีฟ้า หรือเลือกตามความชอบของคู่บ่าวสาว แต่สำหรับการแต่งงานในประเพณีจีนจะจำกัดสีของผ้าปูที่นอนให้ใช้เฉพาะสีแดง เท่านั้น และต้องจัดที่นอนโดยหยิบเอาเครื่องพิธีปูที่นอนซึ่งจะประกอบด้วย ฟักเขียว แมวคราว หินบดยา ถุงเงิน ถุงทอง ที่บรรจุถั่วเขียว งาดำ ข้าวตอก ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย หรือดอกไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลอื่นๆ และหยิบเอาถั่ว งา ดอกไม้ มาโปรยบนที่นอนแล้วขึ้นไปนอนบนเตียง

          ซึ่งเรียกพิธีนี้ว่า "ฤกษ์เรียงหมอน" ผู้ชายนอนทางขวาของผู้หญิง แล้วทำเป็นหลับไปสักครู่ จึงทำเป็นตื่นนอน แล้วสนทนากันด้วยเรื่องที่เป็นมงคล กล่าวว่านอนหลับฝันดีฝันเห็นแต่สิ่งที่เป็นมงคล แล้วจึงลุกขึ้นมาจูงเจ้าบ่าวเจ้าสาวขึ้นนอนบนเตียง กล่าวให้ศีลให้พรให้คู่บ่าวสาว "อยู่กินกันจนแก่จนเฒ่า ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร" จากนั้นมักจะให้โอวาทในการครองเรือน แล้วจึงออกมาจากห้องหอ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พิธีการปูที่นอน อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2552 เวลา 15:31:36
TOP