x close

ศัลยกรรมหน้าพัง ฟ้องได้ไหม ถ้าไม่อยากเสียใจ-เสียเงิน ต้องรู้ !

          ศัลยกรรมหน้าพัง อยากสวย แต่กลับไม่เป็นอย่างใจ หน้าพังเพราะศัลยกรรม ทำอย่างไร ฟ้องร้อง คลินิกความงาม ได้ไหม ต้องเตรียมอะไรบ้าง เรามีคำตอบ
ศัลกรรมหน้าพัง

          ทำบุญสวยชาติหน้า แต่ทำหน้าสวยชาตินี้ เป็นประโยคที่เรามักได้ยินกันจนชินหู เพราะในปัจจุบัน คนทุกเพศ ทุกวัย ล้วนให้ความสำคัญและมีค่านิยมในการปรับรูปลักษณ์ทั้งใบหน้าและรูปร่าง ด้วยวิธีการศัลยกรรม แต่การเสริมความงามก็เหมือนดาบสองคม บางคนทำออกมาแล้วสวย ดูดี แต่ในบางรายที่โชคร้ายก็อาจเจอกับปัญหาหน้าพังเพราะศัลยกรรม ต้องเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ เสียโฉม เสียเงิน หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต ดังเช่นที่มีข่าวศัลยกรรมหน้าพังออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
 

          หลายคนจึงมีคำถามตามมาว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ศัลยกรรมแล้วไม่เป็นอย่างใจ หน้าพัง ใครจะรับผิดชอบ สามารถฟ้องร้องคลินิกเสริมความงามได้หรือไม่ ทำอย่างไรบ้าง กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาให้ค่ะ

หน้าพังเพราะศัลยกรรม ฟ้องได้ไหม

          เมื่อความเสียหายนั้นเกิดขึ้นภายหลังเข้ารับบริการและเป็นผลโดยตรงจากการศัลยกรรม หากเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ สามารถเรียกร้องให้รับผิดชอบค่าเสียหายได้ เนื่องจากแพทย์ที่จะให้บริการศัลยกรรมจะต้องได้รับใบอนุญาตผู้ประกอบโรคศิลปะ และเป็นผู้ชำนาญพิเศษแขนงวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง ดังนั้นถ้าแพทย์ผู้นั้นไม่ระมัดระวัง และไม่แจ้งให้คนไข้ทราบถึงขั้นตอน ระยะเวลา และกรรมวิธีในการรักษา จนเป็นเหตุให้คนไข้ได้รับความเสียหาย นับว่าเป็นความประมาทของแพทย์ ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในทางละเมิดและทางแพ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 

  • มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
     
  • มาตรา 438 “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”


          ค่าสินไหมที่จะเรียกร้องได้ เช่น ค่ารักษาพยาบาลจากการเข้ารับแก้ไขปัญหา ค่าขาดผลประโยชน์หรือขาดรายได้จากการต้องหยุดงาน หรือหยุดเรียน ค่าเสียหายจากการทุกข์ทรมานจิตใจ ร่างกาย หรือต้องเสียโฉม ทุพพลภาพพิการต่อไป โดยมูลค่าความเสียหายแต่ละเคสจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย หรือเป็นไปตามที่คู่กรณีจะตกลงกันได้
 

          ส่วนกรณีหมอเถื่อนที่ไม่มีใบอนุญาต นอกจากจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแล้ว ยังมีความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 26 ประกอบมาตรา 43 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเปิดสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิด ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 24 ประกอบมาตรา 57 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกกระทง

ศัลกรรมหน้าพัง

ควรทำอย่างไร เมื่อศัลยกรรมหน้าพัง

          เมื่อมั่นใจว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น มาจากความประมาทของแพทย์ศัลยกรรมความงาม และแพทย์ปฏิเสธความรับผิดชอบแล้ว ควรทำดังนี้
 

  • แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจในพื้นที่
  • พบแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจอาการที่เกิดขึ้น และให้แพทย์ประเมินความเสียหาย ตลอดจนค่ารักษาพยาบาลหากต้องรักษาต่อเนื่อง รวบรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด เรียกร้องให้ทางคลินิกรับผิดชอบ
  • ทำหนังสือแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ตรวจสอบมาตรฐานและการให้บริการของสถานบริการเสริมความงามแห่งนั้น
  • ทำหนังสือขอให้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น จัดส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบไปรษณีย์ตอบรับถึงผู้ประกอบการสถานพยาบาลเสริมความงาม หากตกลงกันไม่ได้ ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคได้ต่อไป


          ทั้งนี้ การฟ้องร้องทางแพ่งต้องดำเนินการภายใน 1 ปี มิฉะนั้นคดีจะหมดอายุความ

ศัลกรรมหน้าพัง

หลักฐานที่ต้องเตรียม

  • ใบเสร็จการชำระค่าใช้บริการศัลยกรรม
  • ภาพถ่ายก่อนและหลังการใช้บริการ อย่างน้อยไม่เกิน 6 เดือน
  • หลักฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของผู้ให้บริการ ทั้งชื่อสถานพยาบาล ชื่อบริษัท เลขทะเบียนนิติบุคคล
  • ชื่อและนามสกุลของแพทย์หรือผู้ให้บริการ
  • ประวัติการรักษาของผู้ร้อง
  • หลักฐานการประเมินค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากแพทย์
  • บันทึกประจำวันที่แจ้งความตำรวจไว้

ร้องเรียนได้ที่ไหนบ้าง

          1. สายด่วนคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 02-193-7999

          2. ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ โทร. 02-591-8844

          3. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สายด่วน 1166 กรณีผู้บริโภคต้องการให้ช่วยฟ้องคดี

          4. ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทร, 02-248-3737

ศัลยกรรมเกาหลี หน้าพัง ฟ้องได้ไหม

          สำหรับการเดินทางไปรับบริการศัลยกรรมเสริมความงามจากโรงพยาบาล หรือคลินิกนอกประเทศ เมื่อเกิดผลกระทบจากการศัลยกรรม การเยียวยาความเสียหายหรือฟ้องร้องดำเนินคดีก็จะทำได้ยาก เนื่องด้วยกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ไม่ได้ครอบคลุมถึงสถานพยาบาลนอกประเทศ การดำเนินการจึงขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ซึ่งอาจจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าจะสิ้นสุดคดี
 

          ส่วนกรณีที่บุคคลหรือเอเจนซี (Agency) ที่โฆษณาหรือประกาศเชิญชวนให้เดินทางไปรับบริการศัลยกรรมเสริมความงาม หากมีการโฆษณาที่เข้าข่ายเป็นเท็จ โอ้อวด เกินจริง ก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อีกทั้งหากเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เช่นกัน
 

          หน้าพังเพราะศัลยกรรม ถึงแม้จะฟ้องร้องได้ แต่ก่อนทำเสริมความงามใด ๆ ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียด เลือกสถานที่ให้บริการที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน รวมถึงมองเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไว้ด้วย เพราะสิ่งที่เสียไปบางครั้งก็ไม่สามารถหาอะไรมาทดแทนได้นะคะ
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก ทนายประจำบ้าน, สำนักงานกฎหมายทนายประชาธรรม, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, springnews.co.th, psthailaw.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศัลยกรรมหน้าพัง ฟ้องได้ไหม ถ้าไม่อยากเสียใจ-เสียเงิน ต้องรู้ ! โพสต์เมื่อ 1 เมษายน 2565 เวลา 16:26:06 14,874 อ่าน
TOP