x close

แฟชั่นทรงผม วันวาน

ทรงผม

 



"แฟชั่นทรงผม" วันวาน (เดลินิวส์)

เขียนโดย  ศราวุธ  ดีหมื่นไวย์

          รอยอดีตแห่งความงาม

          "ตันโจ ติ๊ก และ ตันโจปอมเมด ทาแล้วสู้ลมพายุได้สบาย ผมไม่มีสยายไปไหน ติดแน่นทนทานเหมือนกาวตราช้าง" คำโฆษณาของครีมจัดทรงผมอันคุ้นหูของหนุ่มสาวยุค โก๋หลังวัง เป็นเครื่องชี้วัดได้ดีถึง แฟชั่นทรงผม ของคนไทยที่มีมายาวนาน และได้รับอิทธิพลจากดาราภาพ ยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง 

          ขณะที่ปัจจุบันแบบทรงผมทั้งชายและหญิงมีให้เลือกสรรดาษดื่น เช่นเดียวกับร้านตัดผมต่างผุดขึ้นกันเป็นดอกเห็ด อาชีพช่างตัดผมสร้างรายได้งอกงามในหลายพื้นที่ แต่หากหันมามองแบบทรงผม ที่ได้รับความนิยมเมื่อครั้งอดีต มีเรื่องราวมากมายแฝงอยู่เบื้องหลัง "ความหล่อ สวย แห่งยุคสมัย" 

ทรงผม



          ในอดีต หากพูดถึงการเรียนตัดผมไม่มีใครไม่รู้จัก โรงเรียนเสริมสวยเกศสยาม ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนตัดผมยุคแรกๆ ของเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ดังนั้นบนความเคลื่อนไหวของแฟชั่นทรงผมตั้งแต่อดีตถึงขณะนี้ ย่อมเคยผ่านดวงตาหลังกรอบแว่นของ เสาวลักษณ์ บุณยชาต "ช่างใหญ่" แห่ง โรงเรียนเสริมสวยเกศสยาม ที่นางงามจักร วาลอย่าง อาภัสรา หงสกุล (พ.ศ. 2508) และ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก (พ.ศ. 2531) ก็เคยผ่านมือเธอมาแล้ว 

ทรงผม



          "การตัดผมของคนสมัยก่อนมักเน้นการใช้งานเป็นหลัก เช่น ฤดูฝนจะทำผมหยิกๆ ฟูๆ เพื่อให้กลมกลืนเมื่อเวลาโดนฝน ส่วนหน้าร้อนจะตัดผมสั้นไม่ให้รุงรัง ต่างจากสมัยนี้ที่เน้นตามแบบดาราที่ชื่นชอบ โดยไม่คำนึงถึงฤดูกาลเหมือนก่อน" เสาวลักษณ์ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าตั้งแต่อดีต 

          แฟชั่นทรงผมในสายตาของ เสาวลักษณ์ แบ่งได้เป็น 4 ยุค โดย ยุคแรก เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 หญิงไทยนิยมทำผมทรง ฟาราห์ ที่ได้รับอิทธิพลจาก ฟาร์ราห์ ฟอว์เซตต์ ดาราสาวผมบลอนด์ ขณะที่ทรงผมแบบ เลดี้ ไดอาน่า ก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง การทำไฮไลต์ผมตอนนั้นยังไม่ได้รับความนิยม แต่จะมีการทำสีผมบ้าง เช่น น้ำตาลหรือแดงอ่อนๆ ส่วนฝ่ายชายทรงหน้าม้าแบบ สี่เต่าทอง วงเดอะบีตเทิลส์ ก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ยุคนี้ทรงผม ได้รับความนิยมจากภาพยนตร์ต่างชาติแถบยุโรปเป็นส่วนใหญ่ 

          ยุคแรก 

          ช่างทำผม จึงต้องพยายามศึกษาแบบผมผ่านหนังสือภาษาอังกฤษและวิดีโออย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็ไปดูงานต่างประเทศเพื่อพัฒนาตัวเอง ดาราไทยสมัยนั้นยังหัวอนุรักษนิยม ไม่ยอมทำตามแบบผมจากต่างประเทศจนเหมือนหมด แต่ต้องนำแบบเหล่านั้นมาปรับให้เหมาะกับทรงผมไทยเดิม

          ยุคที่ 2 

          แฟชั่นส่วนใหญ่เน้นความหรูหราโชว์เครื่องประดับ ทำให้การเกล้าผมได้รับความนิยม เพราะมีความเรียบร้อยและสามารถโชว์เครื่องประดับได้อย่างเต็มที่ การเกล้าผมสะท้อนได้ถึงยุค รุ่งเรืองของช่างผมไทยที่มีการประกวดในประเทศมากขึ้น ทำให้ช่างผมแต่ละสถาบันพยายามคิดค้นแบบผมต่างๆ โดยนำความเป็นไทยๆ มาผสมกลมกลืนให้มากที่สุด ขณะที่ช่างในสมัยนั้นต้องมีความละเอียดอ่อนสูงเพราะต้องเกล้าผมให้เหมาะกับลักษณะศีรษะของแต่ละคน ต่างจากฝรั่งที่ไม่นิยมการเกล้าผมเพราะมองว่า ยุ่งยากในการทำงาน ซึ่งคนที่เกล้าผมแล้วดูสวยคือ อาภัสรา หงสกุล ที่เป็นอีกแรงบันดาลใจให้กับคนส่วนใหญ่เกล้าผมตาม 

          ขณะที่ชายไทย เริ่มทำผมให้ดูเรียบร้อย เช่น ตัดผมรองทรง หรือไว้รากไทร แต่ต้องหวีผมให้ดูเรียงเส้นกันเป็นแผง ทำให้ยุคนี้น้ำมันใส่ผมและครีมจัดแต่งทรงผมได้รับความนิยมอย่างสูง 

          ยุคที่ 3 

          แฟชั่นทรงผมหญิงไทย เริ่มหลากหลายมากขึ้น โดยผสมผสานระหว่างการเกล้าผม การซอย และการดัด แต่ยังเน้น ความเรียบร้อยสามารถเดินบนท้องถนนได้อย่างมั่นใจ ไม่อลังการหรูหราเหมือนยุคที่ผ่านมา ดาราไทยที่สร้างปรากฏการณ์แฟชั่นผมได้อย่างแพร่หลายคือ ภาวนา ชนะจิตร นางเอกเจ้าบทบาทฉายา ไข่มุกแห่งเอเชีย ที่หั่นผมยาวมาตัดสั้นเกล้าผมให้ดูสวยเก๋ และดัดผมให้ล้ำสมัย เป็นอีกยุค ที่การทำสีผมเริ่มเข้ามา แต่คนไทยยังกลัวผมเสีย จึงเน้นการต่อผมเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันกระแส ภาพยนตร์ตะวันตกกลับมามี บทบาทต่อแฟชั่นทรงผมไทย  อีกครั้ง 

          ส่วนฝ่ายชาย เน้นไว้รากไทรสั้นกว่ายุคก่อนๆ และเริ่มฮิตแฟชั่นหวีผมแสกข้าง แต่ช่างผมยังต้องดัดแปลงทรงจากต่างประเทศ มาให้เหมาะกับบุคลิกเรียบร้อยของคนไทย 

          ยุคที่ 4 หรือยุคปัจจุบัน 

          ได้รับอิทธิพล จากแฟชั่นทรงผมเกาหลีผ่านหนังและเกมโชว์ ทำให้ทรงผมชายกับหญิงไม่ต่างกันมากนัก เน้นตัดสไลด์ผมไม่เท่ากันหรือหน้าม้าทำผมให้ชี้ๆ ดูไม่เรียบร้อย ขณะที่การทำสีผมเน้นสีที่ฉูดฉาดมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน การทำผมของคนยุคนี้เป็นผลมาจากความเร่งรีบของสังคมทำให้ต้องซอยผมให้เหลือน้อยดูว่องไวและไม่ต้องเข้าร้านตัดผมเพื่อแต่งบ่อยๆ ต่างจากเมื่อก่อนเน้นไว้ผมหนาเหมาะกับการเข้างานสังคม ด้านช่างผมเองปัจจุบันเน้นลอกเลียนแบบทรงผมจากดาราเกาหลีมาทั้งหมด จนลืมคิดไปว่า ดาราเกาหลีส่วนใหญ่ศัลยกรรมทำให้รูปหน้าเหมือนกัน พอออกแบบทรงผมจึงคล้ายคลึงกัน ซึ่งพอนำแบบทรง ผมดังกล่าวมาตัดให้คนไทยที่ไม่ได้ศัลยกรรมเหมือนดาราเกาหลีอาจไม่เหมาะสม ดังนั้นช่างตัดผมควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์โครงหน้าของลูกค้า 

          เสาวลักษณ์ มองเส้นทาง อาชีพช่างตัดผมว่า ต้องพยายามพัฒนาอยู่เสมอ หลายคนอาจไม่นิยมตัดกับช่างรุ่นเก่าเพราะกลัวได้ทรงผมโบราณ แต่บางทีช่างรุ่นเก่าที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอาจทำได้ดีกว่าช่างรุ่นใหม่ สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของแต่ละบุคคล 

          "จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคนรุ่นเก่ามักจะดูแลเส้นผมมากกว่าคนยุคใหม่ เห็นได้จากดารารุ่นเก่าหลายคนที่รับงานแสดงหลายเรื่องจะไม่ให้ช่างผมไดร์หรือทำสีบ่อยๆ แต่หลีกเลี่ยงโดยนำวิกมาใส่หรือต่อผมแทน ขณะที่ดาราปัจจุบันให้ช่างทำทุกอย่างโดยไม่หวงผมเหมือนแต่ก่อน" เสาวลักษณ์ กล่าว

          เสาวลักษณ์ มองเทรนด์ แฟชั่นทรงผมอนาคตว่า กำลังวนกลับมาที่เดิม โดยนำแฟชั่นผมอย่าง ทรง ฟาราห์ และ เดอะ บีตเทิลส์ มาดัดแปลงให้เข้า กับยุคสมัย โดยเน้นตามแฟชั่นมากกว่าการใช้งานเหมือนแต่เดิม 

          ส่วนนางเอกตลอดกาลอย่าง อรัญญา นามวงศ์ มองความสำคัญของทรงผมแต่ละยุคว่า สามารถบ่งบอกถึงอุปนิสัย ของคนไทยในแต่ละยุค มีค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะผู้หญิงหากทำทรงผมที่เหมาะสมกับตนเองย่อมส่งเสริมให้บุคลิกดูดี มีความมั่นใจในการดำเนินชีวิต 

          จากประสบการณ์ที่ผ่านมาการออกแบบทรงผมขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ของช่างเองด้วย โดยส่วนตัวชอบช่างสมัยก่อนเพราะมีความละเอียดประณีตมากกว่า ขณะที่ช่างรุ่นใหม่ๆ เน้นความเร็วเพราะสังคมค่อนข้างเร่งรีบทำให้บางรายละเอียดของทรงผมอาจตกหล่นไป ทรงผม ที่ทำให้ตนประสบความสำเร็จคือ ทรงที่เกล้าผมในภาพยนตร์เรื่อง อีแตน ฉายเมื่อ พ.ศ. 2511 เล่นคู่กับ มิตร ชัยบัญชา ส่งผมให้แบบทรงดังกล่าว ได้รับความนิยมอย่างมาก

          "เส้นผมเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก จึงอยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพผมจากภายในมากกว่าภายนอกเพราะหากดูแลภายในดีย่อมบ่งบอกถึงสุขภาพของคนนั้นว่าแข็งแรง" อรัญญา ทิ้งท้าย 

          แม้เป็นแฟชั่นผมวันวาน แต่ยังคงบ่งบอกถึงเรื่องราวมากมาย ไม่แน่ตัดผมครั้งหน้าลอง งัดแบบผมเก่าๆ มาเสริมแต่งให้แจ่มกันอีกครั้ง

ทรงผม



          ฟาร์ราห์ ฟอว์เซตต์ ทรงผม ที่โลกจารึก

          25 มิถุนายนที่ผ่านมา ฟาร์ราห์ ฟอว์เซตต์ ผ่อนลมหายใจสุดท้าย พร้อมกับปิดฉากชีวิตนักแสดงที่สร้างประวัติศาสตร์ตำนาน ทรงผม ฟาราห์ ที่ชาวอเมริกันยากจะลืมเลือนรอยยิ้มอันสดใสของสาวผมบลอนด์ยาวสลวย และแววตา ชวนฝัน 

          เธอโด่งดังจากการแสดงละครทีวีเรื่อง นางฟ้าชาร์ลี ในปี ค.ศ. 1976 ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ของละครทีวีในอเมริกายุคนั้น กับภาพสามสาวสุดเซ็กซี่ในชุดรัดรูป ที่ออกต่อกรกับเหล่าร้ายด้วยศิลปะป้องกันตัว จนมีผู้ชมติดตามในแต่ละสัปดาห์มากกว่า 23 ล้านคน

          ในปี ค.ศ. 2006 เธอตรวจพบมะเร็งในทวารหนักและเข้ารับการผ่าตัด แต่มะเร็งก็กลับมาคร่าชีวิตเธออีกครั้ง ในช่วงสุดท้ายของชีวิตเธอได้ถ่ายทำสารคดีชีวิตชื่อว่า ฟาราห์ สตอรี่ ที่ถ่ายทอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ในการต่อสู้กับมะเร็งร้าย โดยมีผู้ชมติดตามทางโทรทัศน์กว่า 9 ล้านคน ในสารคดีผู้ชมได้เห็นเธอในสภาพศีรษะล้าน หลังจากการเข้าสู่เคมีบำบัดทำให้ไม่เหลือทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ จนตอนสุดท้ายผู้ชมได้เห็นภาพเธอนอนอยู่บนเตียง และแทบไม่รับรู้การมาเยี่ยมของลูกชาย 

          เธอคบหาดูใจกับ ไรอัน โอนีล โดยไม่ได้แต่งงาน ทั้งคู่มีบุตรชาย 1 คน หลังจากคบหากันมากว่า 27 ปี ก่อนเธอเสียชีวิต 1 เดือน คู่รักของเธอได้ขอแต่งงาน แต่มะเร็งร้ายก็คร่าชีวิตเธอไปเสียก่อนจะเข้าสู่ประตูวิวาห์ 

          ถึงวันนี้เธอไม่มีชีวิตอยู่แล้ว แต่ ทรงผม ฟาราห์ และจิตใจอันเข้มแข็งที่ต่อสู้กับโรคร้ายยังคงได้รับการโจษขานจากคนทั่วโลก


 เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย 



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แฟชั่นทรงผม วันวาน อัปเดตล่าสุด 19 สิงหาคม 2552 เวลา 19:34:33 4,614 อ่าน
TOP