x close

บันทึกเดินทางของมังกรสาว จางซิยี่

จางซิยี่

จางซิยี่



บันทึกเดินทางของมังกรสาว จางซิยี่ (กรุงเทพธุรกิจ)
โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

           มาคุยกับดาราสาวจากปักกิ่งถึงผลงานล่าสุด ที่เธอร่วมถ่ายทำสารคดีเดินทางชุดพิเศษสำรวจมองโกเลียและโอมานกับทีมงาน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค แชนเนล

           หลังจากแจ้งเกิดบนเวที เทศกาลภาพยนตร์อิหร่าน กับภาพยนตร์เรื่อง The Road Home จางจื่ออี้ หรือ จาง ซิยี่ (Zhang Zi Yi) ก็กลายเป็นดาวอีกดวงที่เปล่งประกายอยู่บนฟากฟ้าของวงการบันเทิงโลก 

           ทุกย่างก้าวของมังกรสาวจากปักกิ่งคนนี้มักทำให้แฟนภาพยนตร์ทั่วโลกตกอยู่ ในมนต์สะกดอยู่เสมอ นอกจากภาพจอมยุทธน้อย Hero, House of Flying Daggers หรือ Crouching Tiger, Hidden Dragon หลายคนยังคงจำภาพท่วงท่าอันพริ้วไหวของ "เสี่ยวเหม่ย" (House of Flying Daggers) หรือจังหวะอันลงตัวของ "ซาโยริ" (Memoirs of a Geisha)

           ล่าสุด ซิยี่ได้ร่วมงานกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค แชนเนล ในการถ่ายทำสารคดีเดินทางชุดพิเศษแบบส่วนตัวเพื่อร่วมสำรวจมองโกเลียและ โอมาน สองดินแดนสุดปลายทางโลก ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของศิลปะ ประวัติศาสตร์และภาพที่ได้พบเห็นต่างๆ ในภูมิประเทศอันตราตรึงใจผ่านความนึกคิดของเธอ ซึ่งกำลังจะออกอากาศช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
 

จางซิยี่



 เล่าถึงโปรเจ็คการเยือนมองโกเลียและโอมานในครั้งนี้ให้ฟังหน่อย

           จางซิยี่ : เป้าหมายของการถ่ายสารคดีกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิคครั้งนี้คือเดินทางไปยังเมืองและประเทศต่าง ๆ ภายในหนึ่งปี ฉันได้เดินทางไปเยือนมองโกเลีย ประเทศจีน และทะเลทรายในตะวันออกกลาง โดยใช้เวลาเมืองละประมาณหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งการทำงานก็จะต่างกัน เพราะขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเน้น เราจะเจาะเป็นที่ แล้วก็สัมภาษณ์คนท้องถิ่นหลากหลายคน

 มีอุปสรรคบ้างหรือเปล่า

           จางซิยี่ : มีแค่ช่วงที่อาศัยกลางทะเลทรายค่ะ เราเริ่มต้นที่มองโกเลีย ที่นั่นความเป็นอยู่ดีมาก ทีมงานอาศัยอยู่ในเต้นท์แบบมองโกเลีย มีอินเทอร์เน็ต มีโทรทัศน์ สะดวกจนลืมไปเลยว่าพวกเราตั้งแคมป์อยู่ (ยิ้ม) ฉันคิดว่าที่ตะวันออกกลางก็คงเหมือนกัน แต่เปล่าเลย ที่นั่นเต้นท์ที่พักมีเพียงเสาสี่เสาคลุมด้วยผ้า คืนวันหนึ่งมีพายุทราย คนพื้นเมืองก็บอกให้พวกเราคว่ำรองเท้าไว้ เพื่อกันไม่ให้แมงป่องเข้าไปซ่อนตัว แล้วมันก็หนาวมาก คุณคิดดู เราต้องกินข้าว และแปรงฟันท่ามกลางพายุทะเลทรายโดยไม่มีไฟฟ้า มันจะทุลักทุเลขนาดไหน (หัวเราะ) แต่ฉันว่า นี่ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ต้องมีสักครั้งในชีวิตนะ เป็นโอกาสดีที่ครั้งหนึ่งได้อยู่กับธรรมชาติจริง ๆ แล้วเต้นท์ที่เราใช้เป็นแบบเคลื่อนย้ายได้ เพราะเราจะไม่ค้างคืนที่เดิมเกินหนึ่งคืน ในวันที่สอง เราถ่ายภาพท่ามกลางทะเลทราย มันเป็นวิวที่สวยมาก หลังจากกลับไปที่โอมาน เราก็ไปที่ถนนชื่อมัสกัต (Muscat) ซึ่งเป็นถนนที่น่าสนใจอีกสาย มีผู้คนมากมายมาออกร้านขายสินค้า ฉันได้เห็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ผู้คน และความเคลื่อนไหวของชีวิตที่นี่ อย่างนี้เขารวมอยู่ใน "อุปสรรค" ด้วยหรือเปล่านะ (หัวเราะ)

 การถ่ายภาพยนตร์กับงานสารคดีในความรู้สึกของคุณแตกต่างกันไหม

           จางซิยี่ : ความแตกต่างที่เห็นชัดที่สุดระหว่างการถ่ายหนังและสารคดี คือไม่สามารถเทคใหม่ได้ เพราะจะไม่ดูเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ฉันยังไม่มีสคริปต์ อีกทั้งจะพูดหรือถามคำถามอะไรก็ได้ที่ฉันอยากถาม ข้อแตกต่างอีกอย่างคือ ภาพยนตร์ต้องถ่ายเป็นฉาก ๆ ไป แต่สารคดีเป็นการถ่ายต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการเป็นโฮสต์ของสารคดีชุดนี้จะอยู่ตรงการ สัมภาษณ์ผู้คนที่หลากหลายการศึกษาและอาชีพ ฉันต้องพูดคุยกับพวกเขาเรื่องสัตว์ป่าและธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่บทบาทปกติที่ฉันแสดงเวลาเข้าฉาก แต่ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากผ่านการทำงานในโครงการนี้ ฉันต้องเตรียมคำถามและหัวข้อที่จะพูดคุยระหว่างการสัมภาษณ์ อย่างไรก็ตามมันมักจะโยงไปถึงคำถามที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบครั้งต่อไป ความท้าทายอีกอย่างคือ ฉันต้องสัมภาษณ์และพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษซึ่งมันไม่ง่ายเลย แต่ก็ต้องขอขอบคุณทางทีมงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ทำให้ทุกอย่างผ่านมาได้ด้วยดี

จางซิยี่



 ยากเพราะการใช้ภาษา?

           จางซิยี่ : พูดด้วยความสัตย์จริงนะ (ยิ้ม) ถึงให้ฉันพูดภาษาจีนโปรเจ็คนี้ก็ยังท้าทายสำหรับฉันอยู่ดี เพราะว่าหัวข้อที่ใช้ในการพูดคุยแตกต่างกับบทสนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวัน อย่างสิ้นเชิง ก็ต้องทำการบ้านเยอะมาก มันเป็นความท้าทายมากกว่า

 ความท้าทายอื่น ๆ ล่ะ? 

           จางซิยี่ : คงอยู่ตรงประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยเจอมากก่อนนั่นแหละค่ะ (ตอบทันที) ที่โอมาน ฉันได้ออกเดินทางหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องราวของการอนุรักษ์ และมรดกที่คนที่นั่นได้สืบต่อกันมา กับ ฮาฟิดห์ (Hafidh) เพื่อนใหม่ชาวโอมาน เขาพาเราไปดูตลาดเก่าของเมืองอย่างที่เรียกกันว่าซูกค์ (Souq) ทำความรู้จักกับสังคมที่นี่ รวมทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นชนชาติมุสลิมและกัลฟาน ได้เข้าเฝ้าพระขนิษฐาของสุลต่านเจ้าหญิง ซาวีดาห์ ทาเนีย อัล ซาฮิด (Sayyedha Tania Al-Said ) เพื่อฟังเรื่องการอนุรักษ์ในโอมาน รวมทั้งการเดินทางไปทะเลทรายวาฮิบีเพื่อพบกับชนเผ่าเบดูอิน ส่วนที่มองโกเลีย นอกจากเดินทางสำรวจไปตามเส้นชายแดน ฉันยังได้ถ่ายแฟชั่นกับช่างภาพระดับโลกอย่าง ยู ไซ (Yu Tsai) เพื่อตกแต่งสารคดีชุดนี้ (Zhang Ziyi’s Inner Mongolia) ให้มีทั้ง ศิลปะ แฟชั่น การถ่ายภาพ การเดินทาง และวัฒนธรรมให้เข้าด้วยกัน ทั้งหมดก็คือความท้าทายทั้งนั้น

 ถ่ายแฟชั่นที่มองโกเลียด้วย?

           จางซิยี่ : ใช่ค่ะ มันเป็นแฟชั่นมาก ๆ (เน้นเสียง - หัวเราะ) เรามีหลายธีมสำหรับสถานที่แต่ละแห่ง ทำงานกับคนพื้นเมืองที่อยู่ที่นั่น อย่างทะเลทรายในมองโกเลียใน เราแชร์ภาพถ่ายกับนิตยสารแฟชั่น และฉันคิดว่านี่ถือเป็นการผสมผสานระหว่างแฟชั่น ธรรมชาติ และสัตว์ที่งดงามครั้งหนึ่งในชีวิตเลยนะ (หัวเราะ)

 การร่วมงานกับชาวบ้านเป็นยังไงบ้าง

           จางซิยี่ : ดีมากเลยค่ะ คุณอาจวาดภาพว่าผู้คนที่นั่นโชคไม่ดีและยากจน แต่ฉันคิดว่าพวกเขาทำได้ดีทีเดียว เราไม่ได้อยู่ที่นั่นนานก็จริง แต่เราก็ไม่ได้เห็นความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนยากจน เรากลับเห็นว่าคนโอมานมีความสุขเพียงไหน เห็นกลุ่มคนที่สวมชุดพื้นเมืองจับกลุ่มคุยกันอย่างสนิทสนมทุกวัน

จางซิยี่



 เรียนรู้อะไรบ้างในการเดินทางครั้งนี้ 

           จางซิยี่ : การเดินทางครั้งนี้ทำให้ฉันเรียนรู้อะไรหลายอย่าง ประสบการณ์ที่ดีที่สุดที่ได้จากการเดินทางครั้งนี้สำหรับฉันก็คือ การได้สัมผัสกับธรรมชาติและบรรดาสัตว์ป่า โครงการนี้ทำให้ฉันรู้ซึ้งถึงทุกสิ่งที่ธรรมชาติได้ให้กับเราในชีวิตประจำ วัน และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

           จางซิยี่ : ทุกวันนี้ ฉันใช้เวลาศึกษาและใส่ใจถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น  อันที่จริง การอนุรักษ์ธรรมชาติสามารถศึกษาและลงมือในหลายด้านและหลายมุมมอง ศิลปินและเซเลบริตี้หลายคนสามารถใช้ความมีอิทธิพลในสังคมมาเป็นประโยชน์ในการให้ความรู้แก่สาธารณชนในเรื่องการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เป็น อย่างดี ฉันรู้สึกว่าปัจจุบันผู้คนเรียนรู้และให้ความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็ถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

 คุณสังเกตเห็นอะไรบ้างที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศของโลกระหว่างการทำงาน

           จางซิยี่ : อันที่จริง ถ้าคุณอยากจะสังเกตเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก คุณต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในแต่ละพื้นที่เลยนะ ฉันว่า แต่พวกเราไม่ได้อยู่นานขนาดนั้น เรื่องนี้ที่ชัดเจนที่สุด เราสังเกตได้จากชีวิตของสัตว์ป่า อย่างเต่าทะเลที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ทำให้พวกมันต้องเปลี่ยนพฤติกรรมและสถานที่ที่วางไข่ นั่นถือเป็นภาพสะท้อนที่ฉันรู้สึกได้จริง ๆ

 การศึกษาชีวิตเต่าทะเลจึงถือเป็นเรื่องที่คุณให้ความสนใจด้วย?

           จางซิยี่ : ใช่ค่ะ ตอนที่พวกเรารอเต่าทะเลวางไข่ มันยาวนานมากจนนึกไม่ออกเลยว่าต้องรอถึงเมื่อไหร่ ขณะที่รอเต่าทะเลวางไข่ที่ทะเลทรายท่ามกลางความมืด เราใช้ได้แค่แสงอินฟราเรดเท่านั้น เพื่อที่จะไม่ทำให้เต่าตกใจกลัว มันน่าสนใจมากที่เราได้มาลุ้นเอาใจช่วยพวกเต่าทะเล ดูพฤติกรรมการขยายพันธุ์ของพวกมัน

 แล้วฝูงโลมาล่ะ?

           จางซิยี่ : ฉันรู้สึกว่าโลมากับมนุษย์ผูกพันกัน และเป็นสัตว์ที่คนหลาย ๆ คนหลงรัก ฉันเคยเห็นโลมาในแหล่งท่องเที่ยวและสวนน้ำหลายแห่ง แต่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นโลมานับพัน ๆ ตัวแหวกว่ายอยู่ตรงหน้า มันวิเศษมาก (เน้นเสียง) มันจะกระโจนไปบนพื้นผิวน้ำ ในขณะที่ทั้งฝูงที่เหลือว่ายอยู่ใต้น้ำ เป็นช่วงเวลาที่ฉันจะไม่ลืมไปตลอดชีวิต นี่เป็นหนึ่งในประสบการณ์การเรียนรู้ชีวิตของสัตว์เหล่านี้มากขึ้น

 ลักษณะงานของคุณ ทำให้ต้องเดินทางไปทั่วโลก มีที่ไหนที่คุณชอบเป็นพิเศษ

           จางซิยี่ : ฉันชอบค้นหาสิ่งใหม่ ๆ สถานที่ใหม่ ๆ ตลอดเวลา ฉันไปตลาดในสิงคโปร์เพื่อสัมผัสกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ฉันไปหอไอเฟลทุกครั้งที่เดินทางไปปารีส แต่มันก็เป็นความพึงพอใจช่วงสั้น ๆ เพราะในความเป็นจริง ไม่มีที่ไหนที่สบายและผ่อนคลายเท่าบ้านของเรา ถ้าให้เลือก... ปักกิ่งก็ยังเป็นที่ที่ฉันชอบที่สุดอยู่ดี


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บันทึกเดินทางของมังกรสาว จางซิยี่ อัปเดตล่าสุด 24 ตุลาคม 2552 เวลา 14:44:12
TOP