x close

วัยรุ่นถามอะไรเรื่องเซ็กส์

วัยรุ่น

วัยรุ่นถามอะไรเรื่องเซ็กส์ (สสส.)


เรื่องโดย : กิตติยา ธนกาลมารวย

          เด็กขาดต้นทุนชีวิตเข้าใจผิดเรื่องเพศ ... มีเซ็กส์ครั้งแรกจะท้องไหม หลั่งข้างนอกปลอดภัยแค่ไหน ทำไมต้องใช้ถุงยางอนามัย ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจจะทำอย่างไร ช่วยตัวเองผิดปกติหรือไม่ ทำไมรู้สึกแปลก ๆ หลังมีเพศสัมพันธ์….?

          นี่คือหลากหลายคำถามเรื่องเซ็กส์ของวัยรุ่นที่ต้องการคำตอบ แต่เมื่อพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ข้อมูลในเรื่องนี้กลับมีไม่มากพอ ด้วยค่านิยมทางสังคมมองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรถูกนำมาเปิดเผยโดยเฉพาะในครอบครัว "เพื่อน" จึงกลายเป็นบุคคลที่ให้คำปรึกษาแทนพ่อแม่

          จากผลสำรวจเอแบคโพลเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศของเด็กและเยาวชนไทย พบเด็กและเยาวชนไทยอายุ 9 -18 ปี ในพื้นที่ กทม. เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา จำนวน 2,060 ตัวอย่าง พบบุคคลที่เด็กและเยาวชนปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศ อันดับ 1 คือเพื่อนสนิท สูงถึง 51% ตามมาด้วย พ่อแม่ 14% และแฟน/คู่รัก 10% ตามลำดับ โดยพ่อแม่เป็นบุคคลที่เยาวชนคาดหวังว่าควรมีบทบาทในการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศมากที่สุดถึง 60% ขณะเดียวกันพ่อแม่และผู้ปกครอง ยังเป็นบุคคลที่เด็กเยาวชนตั้งใจจะไปปรึกษาด้วยมากที่สุด

          โดยตัวอย่าง 10 คำถามที่เด็กอยากรู้นั้น ได้แก่...

          ความกังวลใจเรื่องของการมีประจำเดือน
          การฝันเปียกเป็นอาการหมกมุ่นหรือไม่
          ช่วยตัวเองจิตผิดปกติไหม
          ช่วยตัวเองบ่อยแล้วเป็นสาเหตุทำให้สิวขึ้น
          ช่วยตัวเองบ่อยครั้งอาจทำให้เป็นหมัน
          การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกไม่ทำให้ท้องจริงหรือ
          การนับหน้า 7 หลัง 7 มีโอกาสท้องต่ำ
          มีเพศสัมพันธ์แล้วป้องกันจะท้องไหม
          กอดจูบลูบคลำภายนอกแบบไม่สอดใส่คงไม่ท้อง
          การหลั่งนอกเป็นหนึ่งวิธีทำให้ไม่ท้องจริงหรือไม่

          ปรากฎการณ์ข้างต้นนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กและเยาวชนหันหาเพื่อนให้คำปรึกษาซึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ ที่ถูกต้องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ไม่ทราบวิธีการคุมกำเนิดที่ถูกวิธีและเหมาะสม ขาดความเข้าใจเรื่องวิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงตามกระแสนิยมในหมู่วัยรุ่นที่มองเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ

          สอดคล้องกับข้อมูลแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชนจากการสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน เปรียบเทียบระหว่างเด็กที่มีเพศสัมพันธ์และไม่มีเพศสัมพันธ์ ทั้งที่เข้ารับบริการสุขภาพทางเพศของโครงการเลิฟแคร์ จำนวน 333 คน อายุเฉลี่ย 20 ปี ไม่เพียงเท่านี้เด็กในสถานศึกษาที่ยอมรับว่ามีเพศสัมพันธ์แล้ว 513 คน อายุเฉลี่ย 19 ปี มีทักษะในการปฎิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์ต่ำที่สุดคือ 65% และมีจุดยืนต่อการมีเพศสัมพันธ์เพียง 42% ต่ำกว่าทักษะปฏิเสธ

          โดย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี ชี้ให้เห็นว่า แม้เด็กยุคใหม่จะมีทักษะที่จะปฏิเสธ แต่กลับยอมรับการมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ส่วนเด็กผู้หญิงยังมีทักษะปฏิเสธและมีจุดยืนต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ดีกว่าเด็กผู้ชาย แต่ยังขาดการปฏิเสธอย่างจริงจัง เนื่องจากเด็กทั้ง 3 กลุ่ม ต่างอ่อนแอเรื่องการทำกิจกรรมที่ดีในชุมชนและหมู่เพื่อน ขาดการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา เมื่อต้นทุนชีวิตเด็กขาดหายภูมิคุ้มกันโรคทางสังคมมีน้อย เด็กจึงถูกโน้มนำไปตามกระแสได้ง่าย ตามคำชักชวนของกลุ่มเพื่อนไม่ว่าดีหรือไม่ดี เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทำให้เด็กพร้อมที่จะทำตามคำชักชวนเหล่านั้นได้ไม่ยาก

          ด้วยเหตุที่เด็กและเยาวชนขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงจากปัญหาการมี "เพศสัมพันธ์ที่ไม่พร้อม" ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ปัญหาที่ตามมารบกวนจิตใจและสุขภาพก็คือ ท้องไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยในประเทศไทยพบแม่วัยรุ่นอายุระหว่าง 16-20 ปี จำนวนกว่า 145,000 ซึ่งมากกว่าครึ่งหรือ 53% เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม


ความรัก

          นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโลกยังพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ป่วยมากที่สุด คือ โรคหนองใน บ่งชี้การแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นำไปสู่การระบาดของ โรคเอดส์ ที่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าปกติ

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ที่ปรึกษาองค์การแพธแห่งประเทศไทย (PATH) แนะนำว่า หากเด็กวัยรุ่นรับรู้ได้ถึงพฤติกรรมการเสี่ยงติดเชื้อเอดส์ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการพลาดถูกเข็มของผู้อื่นตำ หรือด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม ควรกินยาต้านเชื้อเอดส์ (HIV) ภายในเวลา 3 วันหรือ 72 ชั่วโมง จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ถือเป็นการป้องกันไว้ดีกว่าแก้

          ดังนั้น วัยรุ่นยุคใหม่จึงควรหันมาดูแลใส่ใจสุขภาวะทางเพศของตนเองอย่างเหมาะสม ระมัดระวังในเรื่องเพศสัมพันธ์พฤติกรรม หรือการปฏิบัติทางเพศที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันร่างกายให้ห่างไกลเชื้อ HIV ที่จะนำมาซึ่ง โรคเอดส์หรือความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในปากมดลูก (ที่เกิดจากเชื้อ HPV) เกราะป้องกันภัยที่ดีที่สุดคือ การมีเพศสัมพันธ์เมื่อถึงวัยอันควรและควรใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มความปลอดภัย ลดช่องทางเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะถุงยางอนามัยสามารถช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันเชื้อโรค ที่รวมถึงการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ในทางอื่นด้วย เช่น ทางปาก ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก หรือทางอื่น ๆ

          แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าถุงยางจะป้องกันโรคเอดส์ได้ 100% ขอเพียงสร้างความมั่นใจป้องกันตนเองให้มากที่สุด เนื่องจากถุงยางที่มีอยู่ในท้องตลาดมีหลายชนิดหลายประเภท มีทั้งที่โฆษณาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ แต่ในทางการแพทย์แนะนำเพียงให้ใช้ถุงยางที่ไม่ปริแตกง่าย สวมกระชับ และสะดวกในการใช้งาน เพื่อเป็นตัวช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ดังนี้ อันดับแรกช่วยในการคุมกำเนิด ตามมาด้วยป้องกันกามโรค การแพร่โรคเอดส์ช่วยไม่ให้ติดโรคเอดส์ได้ง่ายและไม่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งช่วยไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์หรือท้องไม่พร้อม ไม่เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากการทำแท้ง

          อย่างไรก็ตาม เส้นทางชีวิตของเด็กและเยาวชนจะเป็นเช่นไร จะดีจะร้าย สิ่งหนึ่งที่ช่วยฉุดดึงพวกเขาไว้คือ ภูมิคุ้มกันชั้นดี ที่สร้างขึ้นด้วยแรงโอบอุ้มจากพ่อแม่ชุมชนร่วมไปถึงสังคม ต่างมีส่วนร่วมสร้างความหมายและคุณค่าชีวิตทางเพศที่เป็นสุขและปลอดภัยไปพร้อม ๆ กันได้...เพราะเราเชื่ออย่างหนึ่งว่า "ต้นทุนชีวิต พิชิตปัญหาเซ็กส์"




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัยรุ่นถามอะไรเรื่องเซ็กส์ อัปเดตล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 11:18:01 2,932 อ่าน
TOP