x close

เทคนิคลดความก้าวร้าวให้ลูก

ลูกก้าวร้าว baby

เทคนิคลดความก้าวร้าวให้ลูก
(modernmom)

           ความก้าวร้าวเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะกังวลว่าลูกจะมีพฤติกรรมแบบนี้ แต่ใช่ว่าทุกพฤติกรรมของการเล่นแรง จะใช่พฤติกรรมก้าวร้าวไปเสียหมด เพราะบางครั้งเบื้องหลังพฤติกรรมที่ว่าก้าวร้าวนั้นมีที่มา

           ผมไม่อยากใช้คำว่า "เด็กก้าวร้าว" อยากจะเปลี่ยนใหม่เป็น "เด็กแสดงความโกรธไม่เป็น" ปรับมุมมองนิดก็แลเห็นทางแก้ปัญหาได้ไม่ยาก ทีนี้คนเราก็มีโกรธง่ายยากต่างกันไป ถ้าบังเอิญเด็กโกรธง่าย แล้วแสดงออกไม่เป็น ก็แสดงออกแบบรุนแรงบ่อย ๆ จนคนรอบข้างก็เรียกว่าเด็กก้าวร้าว

           หากเด็กคนนี้ได้รับการฝึกการแสดงความโกรธที่ถูกต้องก็จะไม่มีใครว่าอะไร เด็กบางคนโกรธง่ายปานกลางหรือโกรธยาก แต่มีคนแหย่บ่อย นานวันเข้าต่อมโมโหก็บางแตกง่าย แบบนี้ก็กลายเป็นคนโกรธง่ายไป เด็กที่ไม่โกรธเลยคงไม่มี ถ้ามีคงมีคนเอาดอกไม้ธูปเทียนไปเช่นไหว้ ข้อหาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลองกลับไปที่โจทย์ดั้งเดิมนะครับ "เด็กแสดงความโกรธไม่เป็น" วิธีแก้ก็มีสองมาตรการ คือ

หัดให้โกรธยาก และแสดงความโกรธให้เป็น

           ผมใช้คำว่า "หัด" ไม่ใช้คำว่า "สอน" เพราะต้องฝึกเด็กจนทำได้ไม่ใช่เราพูดปาว ๆ พูดไปพูดมา ต่อมโมโหเราแตกพอดี กลายเป็น "ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง" ทั้งสองมาตรการทำพร้อมกันได้เลยครับ

           ลองมาดูกันก่อนว่า เด็กโกรธครั้งแรกเมื่อไหร่ เกิดมาก็เอาแล้ว "หิว" เมื่อไหร่เป็นได้เรื่อง ร้องไห้จ้าทันทีเสียงร้องไห้ของเด็กนี่มีคนเคยศึกษานะครับ แล้วพบว่าพอจะแยกแยะได้ ที่เป็นการร้องไห้หลัก ๆ คือ Hungry Cry ร้องเพราะหิว กับ Anger Cry ร้องเพราะยัวะ และ Pain Cry ร้องเพราะเจ็บ ดังนั้นเราจึงควรฝึกเด็กให้โกรธยากตั้งแต่เกิด ความสามารถในการแก้หรือชะลอความโกรธ คือ "ความอดทน" ขันติครับขันติ

ทนรอ

           ความอดทนประการแรกที่เด็กต้องเรียน คือ "ทนรอ" ก็เข้าสูตรเดิมนะครับ การฝึกการรอคอย ธรรมชาติเบื้องหลังการรอคอยคือความอดทน ซึ่งทำให้คนสามารถข่มความโกรธได้ ทีนี้พอเด็กโตขึ้นอีกนิด ประมาณขวบสองขวบ เวลาเด็กโกรธส่วนมากจะร้องไห้ปลอบให้หายร้อง พออารมณ์ดีขึ้นนิดหน่อยรีบสอนให้รู้ว่า ถ้าโกรธร้องไห้ได้พ่อแม่รับได้ ทำบ่อย ๆ เด็กก็แสดงความโกรธด้วยการร้องไห้ ไม่ได้ให้โอ๋เด็กนะครับ ให้คลายอารมณ์เด็กจนสติกลับมา พอเหมาะแล้วค่อยสอน สอนทันทีอย่าคอยนานเด็กจะลืม เราก็ลืมอย่าว่าแต่เด็กเลยครับ

           พอเด็กโตขึ้นอีกหน่อยอาจจะมีท่าทางเป็นสัญญาณว่าต่อมโมโหจะแตกแล้วนะ เช่น เม้มปาก กำมือ หรือชักสีหน้า ให้รีบหยุดเร้าอีกเพราะอารมณ์มาแล้ว แต่พฤติกรรมยังคุมได้จังหวะประมาณนี้แหละครับ ทำให้ผ่อนคลาย แล้วค่อยชม ชมให้รู้เลยว่าท่าทางแบบนี้ พ่อแม่ยอมรับ ทำบ่อยครั้งการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมก็จะไม่มาก คงเห็นนะครับว่าสองมาตรการนี้ พอใช้แล้วเด็ก "เย็น" และ "เป็น" เองไม่ต้องตามแก้

เรียนรู้มาผิดจะแก้อย่างไร

           ขั้นแรกต้องดูว่าเหตุอะไรทำให้เด็กโกรธ ส่วนมากจะเป็นการขัดใจระยะแรกต้องลดการขัดใจลงก่อน เพื่อปรับความเคยชินไม่ใช่ห้ามขัดนะครับ ให้ขัดเฉพาะที่จำเป็น อะไรรับได้ก็รับไปก่อน พยายามลดการขัดใจ เพื่อลดความเคยชินระยะหนึ่ง เท่านั้น กุศโลบายของกระบวนการนี้ ก็เพื่อฝึกได้ง่ายขึ้น จากนั้นก็กลับไปขัดใจต่อได้

           ต่อมาให้สังเกตว่าเด็กต้องโกรธมากแค่ไหนถึงจะคุมอาการไม่ได้ อย่าขัดใจหรือตอแยจนถึงขั้นนั้น พยายามขัดใจให้อยู่ในระดับโกรธ แต่ไม่เสียกิริยาเท่านั้น แล้วใช้การแสดงออกที่ยังพอคุมได้ นั่นแหละเป็นพฤติกรรมเป้าหมาย ที่ใช้สื่อสารเพื่อแสดงออกว่าโกรธ จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย แต่จะว่ายากก็พอไหวนะครับ ถ้ายังไม่ถึงขั้นรุนแรง

           การแก้ปัญหาในแนวที่ผมเสนอนี้ เหมาะจะใช้กับการเลี้ยงเด็กทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีความซับซ้อน ถ้าเป็นกรณีซับซ้อนหรือที่มีปัญหาอื่น ๆ ประกอบ เช่น ก้าวร้าว เกิดร่วมกับอาการทางกาย ไม่ไปโรงเรียน รุนแรงขนดาขัดใจไม่ได้ ดื้ออย่างมากคุมอารมณ์และตัวเองไม่ได้เลย หรือครอบครัวมีปัญหาด้วย เหล่านี้ก็ต้องใช้กระบวนการอื่นร่วมนะครับ


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.15 No.172 กุมภาพันธ์ 2553


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคนิคลดความก้าวร้าวให้ลูก อัปเดตล่าสุด 2 มีนาคม 2553 เวลา 17:24:59
TOP