x close

ขาโก่ง...โก่งไม่ปกติ






          เด็กแรกเกิดจะขาโก่งกันแทบทุกคน และมักหายเป็นปกติเมื่อเติบโตขึ้น แต่ภายใน 3 ขวบ ถ้าขาลูกยังไม่มีแววจะหายโก่ง อย่างนี้ต้องปรึกษาแพทย์แล้วค่ะ

ขาโก่งที่ควรกังวล

          เด็กเล็กอายุไม่เกิน 3 ขวบ จะมีลักษณะของขาโก่งทั้งชนิดปกติและไม่ปกติ โดยสังเกตได้จาก...

          ถ้าลูกเล็กขาโก่งแบบเข่าติดกันแต่ปลายเท้าแยกออก เข่าแยกแต่ปลายเท้าชิด สามารถเช็กได้ โดยดูว่าส่วนที่โก่งนั้น ใส่ลูกตะกร้อระหว่างขาได้ไหม ถ้าใส่ได้แสดงว่าผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา

          แต่ถ้าขาโก่งไม่กว้างพอให้ลูกตะกร้อใส่เข้าไปได้ แสดงว่าขาโก่งตามวัย ซึ่งเกิดจากพัฒนาการของกล้ามเนื้อและกระดูกของลูกยังไม่สมบูรณ์ เพราะเมื่ออยู่ในท้องแม่ ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด ลูกจึงต้องงอขาและสะโพกไว้ เมื่อแรกคลอดจึงเห็นว่าลูกมีขาโก่ง แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ได้เคลื่อนไหวได้คลาน เดิน และใช้กล้ามเนื้อขามากขึ้น ขาของลูกก็จะกลับมาตรงแบบปกติ


6 สาเหตุขาโก่ง

          1. ขาโก่งตามวัย มีลักษณะโก่งมากตั้งแต่เกิด เมื่อจับให้ข้อเท้าชิดกัน จะมีระยะห่างระหว่างเข่าทั้ง 2 ข้าง แต่เมื่ออายุ 2 ขวบ จะตรงกันข้าม คือเข่าจะชิดกันแต่ปลายเท้าแยกออก ลักษณะแบบนี้ถือว่าปกติ โดยจะหายไปเองหลัง 7 ขวบ แต่ถ้าเด็กที่มีขาโก่งมากๆ หรือหลัง 7 ขวบไปแล้ว ไม่หายแสดงว่าอาจเป็นเพราะโรค

          2. ติดเชื้อที่กระดูก ปกติกระดูก 1 แท่งจะมีด้านในและด้านนอก เมื่อเกิดการติดเชื้อจะทำให้เซลล์กระดูกเจริญเติบโตไม่สมดุล ด้านหนึ่งเจริญเติบโตดี อีกด้านจะเจริญเติบโตไม่ดี และเกิดอาการงอของกระดูกขึ้น

          3. อุบัติเหตุ เกิดการหักในส่วนกระดูกอ่อนที่แบ่งตัว ทำให้กระดูกด้านในและด้านนอกเจริญเติบโตไม่สมดุล ส่งผลให้เกิดการโก่งงอขึ้น

          4. เนื้องอก ถ้าเกิดเนื้องอกที่กระดูก ก็เป็นสาเหตุให้กระดูกเจริญเติบโตผิดปกติ

          5. ความอ้วน น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะไปกดทับการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้กระดูกเจริญเติบโตผิดปกติ

          6. กรรมพันธุ์ เด็กกลุ่มนี้จะมีขาโก่งมากกว่าเด็กคนอื่น แต่เมื่อโตขึ้นก็จะหายไปเอง


ขาโก่งจากโรคต้องรีบรักษา วิธีรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคที่เป็น ดังนี้

          • สาเหตุจากอุบัติเหตุจนกระดูกหัก ต้องรีบเอกซเรย์ตรวจให้ละเอียด คุณหมอไม่แนะนำให้ไปบำบัดด้วยแพทย์ทางเลือก แต่ควรตรวจให้แน่ชัดว่ามีกระดูกส่วนไหนที่หัก เพื่อรักษาได้ถูกต้อง

          • ถ้าติดเชื้อที่ขา มีอาการขาบวมและไข้ขึ้นสูง รีบพาไปพบแพทย์ก่อนที่เชื้อโรคลุกลามไปที่กระดูก

          • รักษาด้วยวิธีผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่ขาโก่งจากการเป็นเนื้องอก ซึ่งต้องผ่าตัดเอาเนื้องอกออกก่อน

           • ถ้าสาเหตุจากความอ้วน คุณหมอจะแนะนำให้ลดน้ำหนักลงมาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

         คุณแม่หลายคนมักจะนวดขาและดัดขาให้ลูกน้อย เพื่อให้ขาตรง แต่ในความเป็นจริงการนวดหรือดัดขาไม่มีผลต่อรูปกระดูกหรือการช่วยให้ขาไม่โก่ง

         อาการขาโก่งที่ผิดปกติ ถ้าปล่อยไว้จนโตโดยไม่รีบรักษา แน่นอนว่าเมื่อโตขึ้นลูกจะมีบุคลิกภาพที่ไม่ดี และจะมีอาการปวดเข่าได้




ขอขอบคุณที่มาจาก


ปีที่ 28 ฉบับที่ 326 มีนาคม 2553


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขาโก่ง...โก่งไม่ปกติ อัปเดตล่าสุด 16 มีนาคม 2553 เวลา 15:36:03 1,142 อ่าน
TOP