x close

ภาวะเสี่ยงที่คุณต้องระวังในยามตั้งครรภ์





           ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านคงดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีเรื่องต่างๆ ที่ต้องระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ขึ้น ในระยะเวลาตลอด 9 เดือน การฝากครรภ์และปรึกษาคุณหมออย่างใกล้ชิดจะช่วยคลายความกังวลของลูกแม่ได้ การตรวจร่างกายทั้งก่อนตั้งครรภ์ และขณะที่ตั้งครรภ์อยู่จะช่วยให้คุณแม่รู้ได้ว่าขณะนี้ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างกับลูกน้อยในครรภ์และตัวคุณแม่เอง

การตรวจร่างกายในขณะตั้งครรภ์

         โดยปกติคุณแม่ตั้งครรภ์จะพบคุณหมออยู่อย่างน้อยๆ เดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อตรวจร่างกายและสิ่งที่คุณหมอจะตรวจนั้นมีดังนี้ค่ะ

          ตรวจปัสสาวะ พื่อดูว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะบ้างหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่เป็นเบาหวานแทรกซ้อนในขณะที่ตั้งครรภ์ นอกจากนั้น เพื่อดูว่ามีโปรตีนหรือไม่ ถ้ามีจะบ่งบอกว่าไตทำงานไม่ปกติ ถ้าตรวจพบในช่วงหลังของครรภ์ ร่วมกับมีความดันโลหิตสูงแสดงว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะมีอาการครรภ์เป็นพิษ

         การชั่งน้ำหนัก-วัดส่วนสูง ในการฝากครรภ์ครั้งแรกจะมีการวัดส่วนสูง ซึ่งเป็นการบอกอย่างคร่าวๆ ถึงขนาดเชิงกราน ถ้าคุณแม่ตัวเล็กอาจทำให้คลอดยากได้ถ้าไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของลูก

          ตรวจเลือด ในการฝากครรภ์ครั้งแรกจะมีการตรวจเลือด โดยเจาะเลือดที่บริเวณข้อพับประมาณ 10 ซีซี เพื่อนำไปตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ส่วนประกอบของเลือด กรุ๊ปเลือดและตรวจหาโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน และเอดส์

          ปกติแล้วระบบเลือดจะแบ่งออกเป็นกลุ่มหลักคือเลือดกรุ๊ป A, B และ O ส่วนกลุ่มรองคือ Rh- และ Rh+ ซึ่งชาวต่างชาติจะพบว่ามีกรุ๊ปเลือดกลุ่ม Rh- มากถึงร้อยละ 20-30 ของประชากร ส่วนชาวไทยพบเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีกรุ๊ปเลือดเป็น Rh- มีโอกาสที่จะเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกในบุตรคนที่ 2 ได้

         วัดความดันโลหิต คุณแม่จะได้รับการวัดความดันโลหิตทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ โดยจะมีตัวเลข 2 ชุด ชุดแรกเป็นความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวดัน ให้โลหิตสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนชุดหลังเป็นความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว ค่าความดันปกติประมาณ 120/30 และหากวัดค่าได้เกิน 140/90 จัดว่ามีความดันสูง

         ตรวจทางหน้าท้อง เป็นการตรวจเพื่อประมาณขนาดและน้ำหนักของลูกในครรภ์ ซึ่งจะบอกได้ว่าลูกเติบโตเป็นปกติดีหรือไม่ เมื่อครรภ์แก่ขึ้นจะตรวจ เพื่อดูท่าของทารกว่ากลับศีรษะลงหรือยัง และในระยะสัปดาห์ท้ายๆ ของการตั้งครรภ์เพื่อให้แน่ใจว่าศีรษะของทารกลงสู่อุ้งเชิงกรานของแม่แล้ว

           ตรวจภายใน เมื่อมีการตรวจภายใน แพทย์จะให้คุณแม่นอนหงายและแยกขาชันเข่า แพทย์จะใส่ถุงมือยางแล้วค่อยๆ ใช้สองนิ้วสอดเข้าช่องคลอด และใช้มืออีกข้างคลำบริเวณหน้าท้องประกอบกัน เป็นการประเมินการเปิดปากมดลูก เมื่อเจ็บครรภ์คลอด




ภาวะเสี่ยง 5 ประเภทของหญิงตั้งครรภ์

          การตั้งครรภ์ที่ผิดปกติซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับแม่และลูกในท้องได้ โดยได้มีการแบ่งประเภทของความเสี่ยงเอาไว้เป็น 5 ประเภท

          1. โรคทางพันธุกรรมของคู่สมรส ประวัติของคู่สมรสและญาติทั้งสองฝ่ายว่า มีโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาสู่ลูกได้ เช่น โรคเลือดจาง นอกจากคุณแม่ที่มีประวัติมีบุตรยาก มีประวัติว่าเคยแท้งบุตร และคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มาแล้วเกิน 4 ครั้ง ก็อยู่ในกลุ่มอาจเกิดภาวะเสี่ยงได้เช่นกัน

          2. อายุของคุณแม่ ถ้าตั้งครรภ์ครั้งแรกขณะแม่อายุน้อยกว่า 15 ปี มีโอกาสคลอดบุตรก่อนกำหนดสูง ขณะที่ถ้าเป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกที่แม่อายุเกิน 35 ปี ทารกจะมีโอกาสเป็นโรคปัญญาอ่อนหรือโครโมโซมผิดปกติ สูงกว่าการ ตั้งครรภ์ที่แม่อายุไม่ถึง 35 ปี

          3. ลักษณะร่างกายของคุณแม่ คุณแม่ที่มีเชิงกรานแคบมีโอกาสทำให้คลอดยากได้

           4. ภาวะโรคประจำตัวหรือโรคที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว โรคที่อาจกำเริบขึ้นถ้ามีครรภ์ เช่น โรคหัวใจโต หัวใจรั่ว ความดันโลหิตสูง หืด โรคเนื้อเหยื่อเกี่ยวพัน เช่น SLE

          5. อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือท้องไม่โต เด็กไม่ดิ้น น้ำหนักตัวแม่ไม่เพิ่มตามเกณฑ์ ถ้าเพิ่มน้อยไปแสดงว่าทารกหรือแม่ไม่สมบูรณ์ ถ้าเพิ่มเร็วไปอาจเป็นครรภ์แฝด หรือครรภ์เป็นพิษ หรือคุณแม่ที่มีระดูขาวข้นเหม็นแสดงว่า อาจมีการอักเสบในช่องคลอด รวมทั้งอาการมีไข้ ก็ต้องให้ความสนใจเพราะเป็นสัญญาณบ่งบอก ถึงการติดเชื้ออักเสบ

โรคหรืออาการเสี่ยงต่างๆ ขณะตั้งครรภ์

          ท้องนอกมดลูก
          พบบ่อยในคนที่มีประวัติเคยมีปีกมดลูกอักเสบ หรือความผิดปกติของปีกมดลูก ปกติเวลาตั้งครรภ์ในมดลูก แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้วไปฝังอยู่ที่ท่อนำไข่ บางคนไปฝังในรังไข่เลยก็มี หรือบางคนก็ในช่องท้องโดยไม่เคลื่อนมาฝังในโพรงมดลูก ในท่อนำไข่ แต่กรณีที่พบบ่อยที่สุดคือท้องในท่อนำไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ส่วนมากเด็กโตไปได้ระยะหนึ่งก็มักจะเกิดการแตกของท่อนำไข่และตกเลือดในช่องท้อง

          การรักษา-การป้องกัน ส่วนมากต้องผ่าตัดเพื่ออาการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติออก บางคนก็จำเป็นต้องตัดท่อนำไข่ทิ้ง แล้วแต่กรณี การป้องกันอันตรายจากภาวะนี้ได้ดีที่สุดก็คือ การฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อหากพบภาวะนี้สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที ไม่เกิดอันตรายต่อคุณแม่ เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดท่อนำไข่ ฉีกขาดได้ และตกเลือดในช่องท้องได้

          ภาวะรกเกาะต่ำ
          ปกติรกจะเกาะที่ยอดมดลูกแต่บางรายรกเกาะต่ำลงมาที่ปากมดลูก จึงขวางทำให้เด็กเคลื่อนลงมาไม่ได้ และถ้าเด็กตัวใหญ่ขึ้นรกที่เกาะอยู่แผ่นใหญ่ขึ้น พอขยายตัวอาจทำให้เกิดรอยเผยอระหว่างตัวรกกับปากมดลูกได้ ทำให้คุณแม่มีเลือดออก ถ้าเลือดออกมากๆ อาจทำให้เด็กและแม่เสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที แต่ก็มีแม่บางท่านซึ่งมีรกเกาะต่ำได้โดยที่ไม่มีอาการ ในขณะที่บางคนมีเลือดออกผิดปกติ

          การรักษา-การป้องกัน แพทย์จะรอจนทารกโต มีอายุครรภ์ครบกำหนด ก็จะนัดมาผ่าตัดคลอด แต่ในบางรายที่ยังไม่ครบกำหนดแล้วมีเลือดออกเยอะ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด เพื่อรักษาชีวิตแม่เอาไว้ ดังนั้นควรจะรีบฝากครรภ์เสียแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าตรวจพบว่ามีรกเกาะต่ำ จะได้ระวังในเรื่องการปฏิบัติตัวไม่ให้มีการกระทบกระเทือน เนื่องจากการเกิดปัญหาเลือดออกจากรกเกาะต่ำ บางคนก็มีเลือดออกอย่างไม่มีสาเหตุเกิดขึ้นมาเอง บางคนอาจจะเกิดจากการกระทบกระเทือนจากการทำงานหนัก หรือมีเพศสัมพันธ์

          แท้งบุตร
          แบ่งเป็น 2 ประการคือ แท้งเองกับตั้งใจทำแท้ง การแท้งเองอาจเกิดจากไข่ที่ไม่สมบูรณ์ หรือว่าแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคเลือดบางชนิด ก็ทำให้แท้งได้ บางรายก็หาสาเหตุชัดๆ ไม่ได้ เช่น เกิดจากภาวะเครียด อดนอน ทำงานหนัก การแท้งบุตรคือการตั้งครรภ์นั้นจำเป็นต้องยุติหรือสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร มักหมายถึงการตั้งครรภ์ที่ยุติก่อน 20-28 สัปดาห์ ซึ่งถ้ายุติในช่วงเวลานี้ส่วนมากเด็กจะไม่สามารถมีชีวิตได้

          การรักษา-การป้องกัน การแท้งจากบางสาเหตุก็ป้องกันไมได้ เช่น การที่ตัวอ่อนไม่สมบูรณ์ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติตัวเองต้องทำลายตัวเองไป แต่หากเป็นการแท้งที่เกิดในแม่ที่มีโรคภัยไข้เจ็บ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ก่อนตั้งครรภ์ต้องตรวจสุขภาพร่างกาย ถ้ามีโรคต้องรีบรักษาให้หาย หรือให้อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ จึงปล่อยให้มีการตั้งครรภ์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์

 

         ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
          อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรงทำให้มีการฉีดขาดของเส้นเลือดหลังรก บางรายก็ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ เช่น แม่เป็นความดันโลหิตสูง ก็อาจทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนดได้เช่นกันตามธรรมชาติรกจะเกาะที่ยอดมดลูก เมื่อเด็กคลอดรกถึงจะหลุดจากมดลูกคลอดตามออกมาด้วย แต่บางรายรกที่เกาะมดลูดอยู่ หลุดออกมาก่อน โดยที่เด็กยังไม่คลอด เมื่อรกหลุดทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงเด็กที่เคยผ่านรกขาดไปทันที หากช่วยไม่ทันจะทำให้เด็กเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้

          การรักษา-การป้องกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถ้ารุนแรงมากจนหัวใจทารก เต้นผิดปกติ จำเป็นต้องเร่งทำคลอดทันที ซึ่งเด็กอาจจะตัวเลือกหรือตัวใหญ่แล้วแต่ว่าเกิดปัญหาเมื่ออายุครรภ์เท่าใด

           โรคความดันโลหิตสูง
         
พบบ่อยในแม่บางกลุ่ม เช่น แม่ตั้งครรภ์ที่อายุน้อยๆ หรืออายุมากๆ กลุ่มนี้มีปัญหาทั้งคู่ แต่ในคนวัยธรรมดา เช่น 20 กว่าๆ -30 ปี พบน้อย และมักพบในครรภ์แรก พบได้บ่อยในครรภ์แฝด แม่เป็นเบาหวาน หรืออาจจะเกี่ยวกับฮอร์โมนที่สร้างจากรก หรือจากตัวเด็กที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ผู้หญิงบางคนเป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ กับผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งตอนที่ไม่ตั้งครรภ์ความดันไม่สูง แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วความดันโลหิตกลับสูงได้

          กลุ่มหลังเราจะเรียกว่าความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้บ่อย คุณแม่จะมีอาการบวม ตรวจปัสสาวะเจอไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรง คนไข้จะชักได้ สมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่า “ครรภ์เป็นพิษ” ส่วนลูกในครรภ์ ถ้าแม่มีอาการรุนแรงมาก หรือถ้าแม่มีอาการนานๆ จะมีผลกับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์เด็กอาจตัวเล็ก แต่ถ้าควบคุมอาการได้ดี ส่วนมากเด็กจะเจริญเติบโตได้ปกติไม่มีความพิการใดๆ

           การรักษา-การป้องกัในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องยุติการตั้งครรภ์ แพทย์จะให้ยาป้องกันการชัก ยาลดความดันโลหิต สามารถประคับประคองให้เด็กโตพอแล้วก็ผ่าตัดคลอด หรือให้ยาเร่งคลอดได้ ส่วนที่ควบคุมไม่ได้มีน้อย และสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้ส่วนมาก มักเกิดจากมาพบแพทย์ตอนที่อาการเป็นมากแล้ว เช่น คนไข้ที่ไม่เคยรู้ตัวว่าเป็น ไม่มาฝากครรภ์เลย มาฝากครรภ์ช้า หรือบางกรณีมาถึงมือหมอก็ชักมาเสียแล้ว ควรจะตั้งครรภ์ในอายุที่เหมาะสม รีบไปฝากครรภ์ แพทย์จะได้ตรวจเจอตั้งแต่แรก และให้การรักษาได้ทันท่วงที

           โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงในแม่ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป เคยคลอดบุตรน้ำหนักตัวตั้งแต่ 4,000 กรัมขึ้นไป หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน หรือแม่มีโรคอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง ซึ่งเราเรียกพวกนี้ว่ากลุ่มเสี่ยง มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งเป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์กับแม่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งตั้งครรภ์แล้ว จึงเป็นเบาหวาน กลุ่มหลังนี้พบว่าการตั้งครรภ์กระตุ้นให้เป็นโรคนี้ เชื่อว่ารกที่อยู่ในมดลูกสามารถสร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีที่ไปยับยั้งการทำงานของอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด ทำให้แม่เป็นเบาหวาน ซึ่งแม่ที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีส่งผลต่อทารกเช่น ทารกตัวเล็กหรือโตผิดปกติ หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์

           การรักษา-การป้องกัน ถ้าตรวจพบต้องรีบรักษา คุณหมอจะแนะนำวิธีการดูแลตนเอง เช่น คุมอาหาร ถ้าคุมอาหารก็เอาไม่อยู่ อาจต้องฉีดอินซูลินช่วย ระหว่างที่ตั้งครรภ์ก็ต้องคอยตรวจระดับน้ำตาลแม่อย่างสม่ำเสมอ ต้องคอยเช็คว่ามีปัญหาแทรกซ้อนอื่นไหม ถ้าแม่เป็นกลุ่มเสี่ยงเวลาตั้งครรภ์ต้องรีบไปฝากครรภ์ ถ้าตรวจเจอจะได้รักษาและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง

          โรคโลหิตจาง มี 2 ชนิด คือโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก กับโรคเลือดจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย

           การรักษา-การป้องกัน โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก แก้ไขได้ไม่ยากโดยรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากๆ เช่น ตับบด ผักใบเขียว หรือกินวิตามินเสริมธาตุเหล็ก ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดจางธาลัสซีเมียเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ มีหลายชนิดบางชนิดรุนแรง มากก็อาจจะทำให้ลูกตายในครรภ์ หรือลูกบวมน้ำได้ ก่อนตั้งครรภ์ควรมีการตรวจเช็คร่างกายว่ามีโลหิตจางหรือไม่ ถ้าเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรรับประทานอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติก่อนจึงตั้งครรภ์ ส่วนเลือดธาลัสซีเมียสามารถตรวจคัดกรองได้ว่าลูกจะเสี่ยงไหม โดยการตรวจเลือดของพ่อแม่ว่าเป็นพาหะหรือไม่

           ไทรอยด์เป็นพิษ
         
ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่สร้างสารไทรอกซิน ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายทำงาน ร่างกายอบอุ่น ทำให้กระฉับกระเฉง แต่ในบางคนต่อมนี้ผลิตสารออกมามากกว่าปกติ ทำให้มือสั่นใจสั่น ร่างกายสูญเสียพลังงานมากเหงื่อออกมาก หงุดหงิด แม่ที่เป็นโรคนี้ แล้วรักษาไม่ดีจะทำให้ลูกเกิดปัญหาตัวเล็ก คนที่เป็นรุนแรงอาจทำให้แท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดได้

          การรักษา-การป้องกัน แพทย์จะให้ยาที่ไปกดการทำงานของไทรอยด์ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปกติ การตั้งครรภ์ก็จะดำเนินไปตามปกติ โดยยาที่ให้ไม่มีผลกับเด็กในครรภ์ เนื่องจากโรคนี้ยังไม่รู้สาเหตุ ดังนั้นเวลาตั้งครรภ์ต้องรีบไปฝากครรภ์เพื่อที่แพทย์จะได้ให้ยาควบคุมอาการได้โดยไม่ทำให้การตั้งครรภ์มีปัญหา

           ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
          โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน แต่ครรภ์ผิดปกติชนิดนี้จะต้องแท้งออกมาเสมออันตรายที่สำคัญ คือ การตกเลือดขณะแท้ง ดังนั้น ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก คือ ภาวะที่ส่วนของการตั้งครรภ์ เป็นเม็ดใสๆ คล้ายเม็ดสาคู หรือไข่ปลาอุกรวมกันเป็นพวงคล้ายพวงองุ่นอยู่ภายในโพรงมดลูก ทำให้มดลูกมีขนาดโตอย่างรวดเร็ว ไม่ได้สัดส่วนกับระยะที่ขาดประจำเดือน มักมีอาการแพ้ท้องมากกว่าธรรมดา และอาจมีอาการของครรภ์เป็นพิษร่วมด้วย เช่น บวมความดันเลือดสูง และมีไข่ขาวในปัสสาวะ อาการที่สำคัญ ได้แก่ เลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอย หรืออาจออกครั้งละมากๆ พร้อมกับมีเม็ดคล้ายเม็ดสาคูออกมาด้วย

           การรักษา-การป้องกัน ครรภ์ไข่ปลาอุกอาจเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นต้องไปรับการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาและดูการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยควรคุมกำเนิดในระยะหลังแท้งอย่างน้อย 1 ปี

          ครรภ์แฝด
          ครรภ์แฝดคือการตั้งครรภ์ที่มีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อแม่และทารก เช่น โลหิตจางภาวะครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนดครรภ์แฝดอาจเกิดจากการผสมของไข่ใบเดียวหรือหลายใบก็ได้

          การดูแลครรภ์แฝด แพทย์สามารถวินิจฉัยการตั้งครรภ์แฝดได้จากการตรวจครรภ์โดยคลำ พบมดลูกมีขนาดโตกว่าอายุครรภ์จริง และฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ได้ชัดเจนมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง โดยมีอัตราการเต้นของหัวใจแตกต่างกันมากกว่า 10 ครั้งต่อนาที มักวินิจฉัยจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ในกรณีที่ตรวจแล้วไม่แน่ใจ ผู้ที่ตั้งครรภ์แฝด ควรพักผ่อนให้มากในระยะ 2 เดือนสุดท้ายของครรภ์เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด


ขอขอบคุณที่มาจาก

มกราคม-มิถุนายน 2553


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาวะเสี่ยงที่คุณต้องระวังในยามตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 16 มีนาคม 2553 เวลา 15:58:05 8,290 อ่าน
TOP