x close

รับมืออย่างไร เมื่อลูกชัก

baby

รับมือลูก ‘ชัก’
(modernmom)
โดย: พ.ญ.ขวัญเมือง ณ ตะกั่วทุ่ง กุมารแพทย์

          ปัญหาหนึ่งที่พ่อแม่ลูกเล็กๆ ค่อนข้างกังวลกันมากเมื่อลูกมีไข้สูงคือเรื่องลูกชัก เพราะการชักจากไข้สูง (Febrile Convulsion) มักพบได้ตั้งแต่ลูกอายุ 3 เดือนจนถึง 5 ปี แต่ช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุดคือช่วง 6 เดือน ถึง 3 ปี เพราะสมองของเด็กยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีความไวต่อการกระตุ้นจากอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นค่ะ

สัญญาณเตือนภัย

          อาการชัก มักจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อลูกไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส และมักจะเกิดขึ้นในวันแรก หรือวันที่ 2 ของการมีไข้ เด็กจะเริ่มมีอาการเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟันและลิ้น แล้วตามด้วยการกระตุกของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 1–3 นาที ช่วงนี้อาจมีอาการน้ำลายฟูมปาก หรือริมฝีปากและปลายมือปลายเท้ามีสีคล้ำเขียวได้ ในรายที่ชักเป็นเวลานาน หลังจากหยุดชักแล้วเด็กมักจะหลับ หรือมีอาการสะลึมสะลือไปชั่วครู่

รับมือให้ทันท่วงที

          เมื่อลูกมีอาการชัก คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติ อย่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก รีบช่วยทำการปฐมพยาบาลลูก ดังนี้

         1. จับลูกนอนหงาย และตะแคงศีรษะลูกไปด้านข้าง ให้ศีรษะอยู่ในระดับต่ำเล็กน้อย เพื่อ ให้น้ำลาย เสมหะ หรือเศษอาหารไหลออกมาได้สะดวก ป้องกันไม่ให้สำลักเข้าไปอุดตันในหลอดลม และควรระวังไม่ให้ลูกได้รับอันตรายอื่น ๆ จากการตกหรือล้มในขณะชักด้วย

         2. ถอดหรือคลายเสื้อผ้า รวมถึงผ้าห่มที่อาจทำให้ร่างกายลูกอึดอัดออก

         3. ระวังอย่าให้ลูกกัดลิ้นตัวเอง โดยการสอดด้ามช้อนที่หุ้มด้วยผ้านุ่ม ๆ เข้าในช่องปากของลูก แต่ถ้าลูกกำลังเกร็งและกัดฟันแรงมาก อย่าใช้กำลังงัดปากลูกในทันที เพราะจะทำให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บได้

         4. ไม่ควรเขย่าหรือตีเพื่อให้ลูกตื่นหรือรู้สึกตัว เพราะจะทำให้ลูกชักมากขึ้น

         5. ใช้ผ้าเช็ดตัวชุบน้ำอุ่น โปะไว้ตามข้อพับแขนขา และค่อย ๆ เช็ดตัวลูกด้วยน้ำอุ่น ๆ โดยเช็ดในทิศทางที่ย้อนเข้าหาหัวใจ เพื่อเป็นการเปิดรูขุมขน ให้ความร้อนสามารถระบายออกได้

         6. ห้ามป้อนสิ่งใดเข้าทางปากลูกโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งยาลดไข้ เพราะอาจทำให้สำลักได้

         7. เมื่ออาการชักสงบแล้ว จึงรีบพาลูกไปพบแพทย์ที่ใกล้บ้านที่สุด ส่วนใหญ่เด็กที่มีอาการชักจากไข้สูง มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อทั่วไป เช่น ไข้หวัด คอหรือทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ส่วนสาเหตุที่รองลงมาได้แก่ บิด ลำไส้อักเสบ หลอดลมหรือปอดอักเสบ รวมถึงไข้ออกผื่นต่าง ๆ ด้วย

ดูแลต่อเนื่องหลังอาการชัก

          เมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว คุณหมอจะทำการตรวจร่างกายของลูกอย่างละเอียด โดยเฉพาะระบบประสาท และอาจจะต้องทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือเอ็กซเรย์เพิ่มเติม เพื่อจะได้ทราบสาเหตุและให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง

          กรณีเด็กที่ชักนานกว่า 15 นาที หรือตรวจพบอาการผิดปกติทางระบบประสาท ก็อาจจะต้องทำการตรวจน้ำไขสันหลัง หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งกรณีนี้ คุณหมอมักจะแนะนำให้ลูกนอนโรงพยาบาลเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด

          จากการศึกษาของหลายสถาบันต่างยืนยันตรงกันว่า เด็กที่ชักจากไข้สูง ส่วนใหญ่มักไม่มีผลกระทบในอนาคตต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการด้านต่าง ๆ รวมถึงสติปัญญาด้วย และมักไม่จำเป็นต้องกินยากันชักต่อเนื่อง เว้นแต่จะมีการชักซ้ำ หรือมีความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ จึงมีหน้าที่ที่จะต้องป้องกันไม่ให้ลูกเกิดอาการชักซ้ำในครั้งต่อไป ซึ่งคุณหมอมักจะเน้นไม่ให้มีการชักซ้ำในระยะ 1-2 ปี

          อยากจะย้ำให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักวิธีการรับมือเมื่อลูกน้อยมีไข้ และสามารถให้การดูแลไข้ได้อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเช็ดตัวลดไข้ เพราะเป็นวิธีการป้องกันการชักจากไข้สูงของลูกที่ดีที่สุด แต่เมื่อลูกเกิดอาการชัก ก็สามารถให้การช่วยเหลือลูกได้อย่างถูกต้องเช่นกัน

          อย่าลืมว่า คุณพ่อคุณแม่นอกจากเป็นครูคนแรกของลูกแล้ว ต้องเป็นทั้งหมอและพยาบาลคนแรกของลูกด้วยเหมือนกัน


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมืออย่างไร เมื่อลูกชัก อัปเดตล่าสุด 6 กรกฎาคม 2553 เวลา 15:37:34 5,706 อ่าน
TOP