x close

ภาวะขาดออกซิเจนในทารก

ตั้งครรภ์

ภาวะขาดออกซิเจนในทารก
(รักลูก)

             การขาดออกซิเจน เป็นสาเหตุที่สำคัญของการตายและภาวะทุพพลภาพของทารก ซึ่งอาจเกิดได้กับทารกขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และระยะหลังคลอด ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงก่อนคลอด และขณะคลอดครับ

             จากการขาดออกซิเจนในช่วงก่อนคลอด จะมีความสัมพันธ์กับภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ พบได้สูงถึงร้อยละ 50 โดยภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ เป็นสาเหตุการตายปริกำเนิดของทารกสูงเป็นอันดับสอง รองจากการคลอดก่อนกำหนด

             ภาวะขาดออกซิเจนของทารก มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยให้ได้เร็วที่สุด ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ เพื่อจะได้ให้การดูแลรักษาที่เหมาะสม ทั้งในระยะก่อนคลอดระยะคลอด และระยะหลังคลอด

สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะขาดออกซิเจน

             เกิดจากความบกพร่องของการไหลเวียนเลือดที่มดลูกและรก โดยร่างกายของทารกจะมีการปรับตัวของระบบการไหลเวียนเลือด มีการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญมากขึ้น ได้แก่ สมอง หัวใจ และต่อมหมวกไต ส่วนอวัยวะอื่นที่มีความสำคัญน้อยกว่า เช่น ตับ ไต กล้ามเนื้อ และชั้นไขมัน ใต้ผิวหนังจะได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง

             โดยทั่วไปการเกิดภาวะขาดออกซิเจนมักจะต้องมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ นำมาก่อน แต่ก็มีทารกจำนวนหนึ่งแม้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่ก็ยังเกิดภาวะนี้ได้ ปัจจัยเสี่ยงที่พบมักจะสัมพันธ์กับสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ความรุนแรงของภาวะนี้มีตั้งแต่น้อยไปจนถึงมากขึ้น อยู่กับสาเหตุว่าเกิดจากอะไร รุนแรงหรือไม่ และเป็นมายาวนานเพียงใด เช่น ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะความดันโลหิตมานาน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ย่อมส่งผลต่อทารกในครรภ์มากกว่า เพราะทารกจะเสี่ยงต่อภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ภาวะน้ำคร่ำน้อย และเกิดปัญหากระทบต่อระบบการหายใจของทารกแรกเกิดได้

ปัจจัยเสี่ยงในช่วงก่อนคลอด

          1. ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ อาชีพของสตรีตั้งครรภ์ และสามี สถานะภาพการสมรส สภาพจิตใจ อายุของคุณแม่ตั้งครรภ์ เชื้อชาติความสูงของคุณแม่ และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่

          2. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และการคลอดในอดีต ได้แก่ การมีบุตรยากการตั้งครรภ์นอกมดลูกและการแห้ง การมีทารกตายคลอด หรือตายในระยะแรกคลอด การมีทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย หรือทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การคลอดทารกโตผิดปกติ

          3. ประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบันของคุณแม่ เช่น โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน โรคของต่อมธัยรอยด์ ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โรคไต

          4. สภาพการตั้งครรภ์ปัจจุบัน เช่น ไม่ฝากครรภ์หรือฝากครรภ์ถ้ามีเลือดออกก่อนคลอด ครรภ์แฝด ทารกในครรภ์มีความพิการ ทารกท่าผิดปกติ ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์เกินกำหนด ตั้งครรภ์แฝดน้ำ และตั้งครรภ์ที่มีน้ำน้อย

          5. นิสัย และความคุ้นเคยในการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การติดยาเสพย์ติด การใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ

             โดยทั่วไปควรเฝ้าระวังภาวะขาดออกซิเจน ถ้าคุณแม่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง เช่น มีประวัติตั้งครรภ์ผิดปกติ มีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือมีการตั้งครรภ์เกินกำหนด

             การเฝ้าระวังสามารถทำได้หลายวิธี โดยให้คุณแม่นับเด็กดิ้นเป็นระยะ มีการตรวจติดตามด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของลูกในท้องดูน้ำคร่ำ เนื้อรก เพื่อเฝ้าระวังภาวะผิดปกติของลูกในครรภ์

             การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงติดต่อกันทุก 2-4 สัปดาห์ เพื่อประเมินหาทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ จะมีความสัมพันธ์กับภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งจะดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ วัดปริมาณน้ำคร่ำ การดูความเร็วของการไหล่เวียนเลือด

             คุณแม่บางราย ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดออกซิเจนของทารกในช่วงก่อนคลอดเลย แต่ก็อาจจะพบภาวะออกซิเจนของทารกในช่วงขณะกำลังคลอดได้ สาเหตุของภาวะขาดออกซิเจนมีมากมายมักเกิดขึ้นภายหลัง

             สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่พบในระยะคลอด ได้แก่ ปัจจัยจากทารก ปัจจัยจากรก น้ำคร่ำสวยสะดือ และปัจจัยจากการดำเนินการคลอด รวมทั้งปัจจัยทางมารดาที่มีจะพบเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง และมักได้รับการตรวจพบตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ระยะคลอด

             การตรวจติดตามแทรกขณะเจ็บครรภ์คลอดมีความจำเป็นและสำคัญมาก เพื่อที่จะประเมินความเสี่ยงของทารกต่อการเกิดภาวะขาดออกซิเจน และให้การดูแลรักษาทารกก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 28 ฉบับที่ 329 มิถุนายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาวะขาดออกซิเจนในทารก อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2553 เวลา 14:42:42 15,641 อ่าน
TOP