x close

ลูกแพ้อาหารเฉียบพลัน!

baby

ลูกแพ้อาหารเฉียบพลัน!
(รักลูก)

             แพ้อาหารเป็นโรคที่ใกล้ตัวลูกมาก ๆ ค่ะ ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในเด็กเล็กช่วง 2-3 ปีแรก ที่มีอัตราการแพ้อาหารมากที่สุดและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นด้วย

             แพ้อาหารเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรากินอาหารเข้าไปแล้วร่างกายของเราสร้างแอนติบอดี้ (Antibody) หรือสร้างภูมิต่อต้านกับอาหารชนิดนั้น ๆ ทำให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่างแล้วแสดงอาการออกมาในลักษณะต่าง ๆ

             ในเด็กโตหรือวัยผู้ใหญ่ อาการแพ้จะปรากฏทางผิวหนัง เช่น ผื่นลมพิษ ผื่นเม็ดทราย หากแพ้รุนแรงหรือที่เรียกว่า Anaphylactic Shock จะมีอาการปากบวมหน้าบวม จุกแน่นในคอ มีเสมหะในปอดหายใจไม่ได้ ปวดท้อง อาเจียน เป็นลมความดันลดต่ำ อาจเกิดอาการช็อกและถึงกับเสียชีวิตได้ แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กอายุประมาณ 1-3 ปี อาหารที่เด็กแพ้แล้วเกิดอาการ อาจจะแสดงออกได้หลายระบบหรือทุกระบบในร่างกาย

แพ้อาหารเฉียบพลัน

             อาการแพ้เฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ค่ะ ซึ่งถ้าเป็นการแพ้ครั้งแรกของลูก อาจป้องกันไม่ได้คุณพ่อคุณแม่จึงต้องจำให้ได้ว่าลูกแพ้อาหารชนิดไหน แพทย์จะได้วินิจฉัยได้ว่า มีสารอาหารอะไรในอาหารที่ลูกกินที่เสี่ยงต่อการแพ้มากที่สุด แล้วอาจให้ยาแก้แพ้ตามอาการที่เกิดขึ้น ควบคู่กับหลีเลี่ยงอาหารที่ทำให้แพ้

             ในกรณีที่ลูกแพ้รุนแรงแล้วมีอาการช็อก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมก็คือยาช่วยชีวิต หรืออะดีนาลีนแบบพกพาเมื่อมีอาการให้ฉีดยาในตำแหน่งที่หมอแนะนำ และอาจมีการให้ยาแก้แพ้ และยาขยายหลอดลมหากลูกมีอาการแน่นหน้าอกร่วมด้วย แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นเท่านั้น เพราะถ้าแพ้รุนแรงต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และให้เร็วที่สุด

สังเกตอาการ

             อาการแพ้อาหารในเด็กขวบปีแรกจะแสดงออกได้ทุกระบบในร่างกายค่ะ สามารถสังเกตความแตกต่างระหว่างอาการแพ้แบบเรื้อรัง กับแพ้รุนแรงได้ดังนี้

อาการแพ้แบบเรื้อรัง

             ทางผิวหนัง มีผื่นเม็ดทรายหรือผื่นลมพิษขึ้นตามผิวหนังทั่วตัว

             ทางเดินหายใจ มีน้ำมูกเรื้อรัง คัดจมูก นอนกรน หายใจดังในขวบปีแรก หากกินยาแก้แพ้แล้วยังไม่ดีขึ้น อาการอาจรุนแรง ถึงขั้นมีน้ำในหูช้นกลางทำให้เกิดภาวะหูไม่ได้ยินเสียง ซึ่งส่งผลให้พูดไม่ได้ โดยเด็กบางคนอาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีผื่นที่ผิวหนัง ถ่ายบ่อยวันละหลาย ๆ ครั้ง หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย สันนิษฐานได้ว่าลูกอาจแพ้นมวัว เพราะบางทีอาการอาจแสดงออกแค่ที่ผิวหนังที่พ่อแม่ไม่ทันได้สังเกต ถ้าปล่อยไว้ก็อาจทำให้มีอาการของระบบอื่น ๆ ตามมา หรือมีเสมหะในปอดเยอะ หายใจวี้ด ๆ เหมือนเป็นหอบหืด

             ทางเดินอาหาร มีอาการอาเจียนหรือท้องเสียเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ อาการปวดท้องร้องกวนแบบโคลิกซึ่งเกิดในเด็กเล็ก ๆ ต่ำกว่า 1 ขวบ

อาการแพ้รุนแรง

             ไอเป็นเลือด เป็นอาการรุนแรงที่สุด ในระบบทางเดินหายใจ แต่ยังพบในประเทศไทยไม่มาก

             ถ่ายและอาเจียนเป็นเลือด ถ้าเป็นขั้นรุนแรง เด็กจะอาเจียนเป็นเลือด ซีดและความดันต่ำ หรือถ้าอาจเจียนบ่อยๆ จนมีเลือดปนออกมานั้น อาจมีสาเหตุจากการอักเสบที่หลอดอาหารจนเป็นแผลได้

             แพ้แบบ Anaphylactic Shock เป็นการแพ้ที่มีอาการหลายระบบ ซึ่งเจอได้แต่ไม่บ่อย จะมีอาการ เช่น ผื่นลมพิษปากบวม หน้าบวม จุกแน่นในคอ หายใจ ไม่ได้มีเสมหะในปอดปวดท้อง อาเจียน เป็นลม ความดันต่ำ อาจเกิดอาการช็อก และเสียชีวิตได้

สาเหตุที่แพ้

             จากสถิติเด็กแพ้อาหารช่วงขวบปีแรกของชีวิต มักพบว่าแพ้นมวัวมากที่สุด ซึ่งเด็กที่แพ้นมวัวจะมีโอกาสแพ้อาหารชนิดอื่น ๆ ตามมาได้มากขึ้น เช่น ไข่ และอาหารทะเล

             หากเด็กแรกเกิดกินนมแม่เป็นหลักโอกาสที่แพ้ก็จะน้อยลง เพราะโปรตีนในนมวัวที่เข้าไปในร่างกายนั้นถือเป็นสารแปลกปลอม ในเด็กเล็ก ๆ ที่เกิดอาการแพ้อาหารได้ง่าย เพราะระบบภูมิคุ้มกันในลำไส้ของเด็ก อาจยังมีการพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่

เพราะระบบภูมิคุ้มกัน

             1. ระบบน้ำย่อย ในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด-3 ปี ระบบน้ำย่อยยังทำงานไม่สมบูรณ์จึงไม่สามารถย่อยโปรตีนขนาดใหญ่ได้ ดังนั้นหากเด็กกินอาหารมี่ไม่ถูกย่อยให้เป็นตัวโปรตีนเล็ก ๆ เช่น นมวัว หรือไข่ก็จะทำให้เกิดสารก่อภูมิแพ้ที่ร่างกายตรวจจับได้ จากนั้นก็จะสร้างภูมิต่อต้านจนแสดงออกเป็นอาการแพ้ในที่สุด

             2. ผนังลำไส้ เนื่องจากเยื่อบุลำไส้ในเด็กเล็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้น โปรตีนขนาดใหญ่ที่พบในนมวัว หรืออาหารจำพวกโปรตีนทั้งหลาย ก็อาจจะเล็ดรอดเข้าไปในร่างกาย แล้วไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทำให้เกิดการแพ้ขึ้นได้ เพราะเซลล์ต่าง ๆ ที่อยู่ในผนังลำไส้ มีหน้าที่คอยคักจับโปรตีนแปลกปลอมบางชนิดยังทำงานไม่ได้ดี ในเด็กขวบปีแรกโอกาสแพ้อาหารจึงมีมากกว่าในเด็กโต ที่ระบบภูมิคุ้มกันโรค ทำงานได้สมบูรณ์แล้ว

เพราะอาหาร

             กลุ่มสารอาหารทั้ง 5 ชนิด ซึ่งได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ สารอาหารที่พบว่าเด็กแพ้มากที่สุด คือ โปรตีน โดยเฉพาะจากอาหาร 3 ชนิดนี้

             1. นมวัว โปรตีนจากนมวัวเป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะนมเป็นอาหารหลักในเด็กเล็กและยังทานในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ และเด็กที่แพ้นมวัวมีโอกาสแพ้อาหารอย่างอื่นตามมาได้มาก เช่น แพ้ไข่ แพ้อาหารทะเล แต่บางคนที่มีอาการรุนแรงมากอาจแพ้ทั้งผัก ผลไม้ รวมทั้งข้าวด้วย

             2. ไข่ เด็ก 4-10 เดือนขึ้นไป ควรให้กินเฉพาะไข่แดงสุก 100% เพราะโปรตีนที่อยู่ในไข่ขาว สามารถกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการแพ้ได้มากกว่าไข่แดงโดย 4 เดือน แรกควรให้ลูกกินเฉพาะไข่แดง ส่วนไข่ขาวให้กินเมื่ออายุ 9-10 เดือนขึ้นไป

             3. เนื้อสัตว์ ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่นิยมให้ลูกกินอาหารที่มี DHA-ARA ซึ่งมีอยู่ในปลาทะเล และอาหารทะเลกันเยอะมาก เพราะเป็นสารอาหารที่ช่วยให้สมองเจริญเติบโตได้ดี แต่จริง ๆ แล้วในเด็กเล็กมีความเสี่ยงที่จะแพ้อาหารทะเลสูงมาก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี

ป้องกัน "แม้"

             การแพ้อาหารในเด็กสามารถป้องกันได้ โดยคุณพ่อคุณแม่พาลูกไปพบแพทย์ แล้วเล่าอาการที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นให้ฟัง จากคะแนนความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ในครอบครัว ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการคาดคะเนของแพทย์

วิธีป้องกันเมื่อพบความเสี่ยง

              1. กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน แต่ถ้าไม่สามารถกินนมแม่ได้ ก็ต้องให้นมสูตรพิเศษสำหรับใช้ป้องกันที่เรียกว่า Hypoallergenic ซึ่งเป็นนมที่เอานมวัวมาสลายโปรตีนให้มีขนาดเล็ก ทำให้โอกาสที่จะไปกระตุ้นการแพ้มีน้อยลง ซึ่งควรกินนานถึง 6 เดือนเพื่อป้องกันอาการแพ้นมวัวในเด็กได้ พอพ้น 6 เดือน ไปแล้วก็ให้ลูกกินนมสูตรปกติได้

              2. เริ่มอาหารเสริมเมื่ออายุ 4 เดือน คุณแม่ควรเลือกอาหารที่จะให้ลูกกิน โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่จะให้ลูกกิน โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นการแพ้ได้ง่าย เช่น ไข่ อาหารทะเล แล้วเปลี่ยนมากินหมู หรือผักใบเขียวแทน โดยอาจให้เริ่มไข่แดงหลังอายุ 6 เดือน ส่วนอาหารทะเลให้เริ่มกินได้หลัง 2 ขวบแล้ว วิธีนี้จะช่วยป้องกันอาการแพ้อาหาร และช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรงสมบูรณ์ได้

             โรคแพ้อาหารสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่กำลังต้องการสารอาหารสำคัญ ๆ มาช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจและดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีสมวัยค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 28 ฉบับที่ 330 กรกฎาคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกแพ้อาหารเฉียบพลัน! อัปเดตล่าสุด 3 สิงหาคม 2553 เวลา 15:23:10 6,947 อ่าน
TOP