x close

เตรียมพร้อมรับมือ เป็นแม่ลูกอ่อน

ตั้งครรภ์

เคล็ดลับดูแลครรภ์กับการเตรียมพร้อมรับมือเป็นแม่ลูกอ่อน (Woman\'s Story)

          มาเอาใจคุณแม่มือใหม่ ที่แม้ว่าเพิ่งจะคลอดลูกได้ไม่นาน ก็ต้องตั้งครรภ์ท้องต่อไปแล้ว ด้วยเคล็ดลับในการดูแลครรภ์ไปพร้อม ๆ กับการรับมือกับลูกเล็กกันค่ะ ไปติดตามกันเลย...

         1.รีบฝากครรภ์ ทันทีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์อีกครั้ง ควรรีบไปฝากครรภ์เพื่อตรวจดูว่า มีภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก หรือตั้งครรภ์ใหม่ภายใน 3 เดือนหลังจากคลอดลูก เพราะการฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ คุณหมอจะได้ช่วยดูแลสุขภาพและแนะนำวิธีบำรุงร่างกาย เนื่องจากคุณแม่จะต้องเหนื่อยขึ้นเป็น 2 เท่า กับการเลี้ยงลูกไปพร้อมๆ กับ การตั้งครรภ์

         2. ให้นมลูกคนโต หากมีเจ้าตัวเล็กอยู่ในท้องอีกคน ขณะที่ลูกคนโตยังเล็กอยู่ คุณแม่ก็ยังสามารถให้ลูกคนโต ดูดนมหรือปั๊มนมได้ แต่ถ้าสังเกตว่า ในขณะที่ให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมแล้วรู้สึกว่ามดลูกมีการบีบรัดตัว ก็ควรหยุดให้นมก่อน เพราะการให้ลูกดูดนม จะกระตุ้นให้ฮอร์โมนออกซิโตซินหลั่งมาจากต่อมใต้สมองมากขึ้น ทำให้เกิดการบีบรัดตัวของมดลูก จึงมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้

         3. แม่ลูกผูกพัน กรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมและอุ้มลูกคนโตได้ แต่ก็ยังสามารถสนุกกับลูกทั้งสองไปพร้อมๆ กันได้ด้วยการเล่น เช่น ร้องเพลงหรืออ่านนิทานให้ลูกฟังพร้อมกัน หรือถ้าลูกคนโตเริ่มพูดได้แล้ว อาจให้ลูกคุยหรือร้องเพลงให้น้องในท้องฟังก็ได้ วิธีนี้จะทำให้อารมณ์ดี สนุกสนานทั้งแม่และลูก

         4. พักผ่อนอย่างเพียงพอ หากต้องเลี้ยงลูกไปพร้อม ๆ กับการตั้งครรภ์ แล้วยังต้องทำงานบ้านอีก จะทำให้คุณแม่เหนื่อย อ่อนเพลีย และสุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง รวมถึงจะทำให้เกิดความเครียดและกดดันกับการทำหลายอย่างพร้อมกัน ฉะนั้นจึงควรหาผู้ช่วยมาช่วยจัดการงานเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน เพื่อคุณแม่จะได้มีเวลาสำหรับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งจะส่งผลไปสู่สุขภาพของลูกในครรภ์

         5. อาหารและออกกำลังกายก็จำเป็น เรื่องอาหารและการออกกำลังกายก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะคุณแม่ที่เพิ่งคลอด น้ำหนักยังไม่กลับสู่สภาวะเดิม จึงต้องควบคุมอาหารให้ดี ให้น้ำหนักตัวขึ้นตามเกณฑ์ อย่าให้เพิ่มขึ้นมากและเร็วเกินไป พยายามกินอาหารที่มีประโยชน์ให้มาก เพราะต้องใช้พลังงานสำหรับลูกทั้ง 2 คน จึงควรเน้นกินอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง ลดอาหารที่มีแป้งและไขมันสูง ของหวานหรือขนมจุบจิบ ส่วนการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด คือ การพาลูกไปเดินเล่นหรือว่ายน้ำ

         6. อารมณ์ดี...สิ่งสำคัญ อารมณ์ ของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ต้องดูแลไม่แพ้สุขภาพกาย เพราะหากหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ก็จะไม่เป็นผลดีต่อลูกน้อยและลูกในท้องด้วย จึงต้องดูแลตัวเองให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ

          คุณแม่ทั้งหลายทราบแล้วเปลี่ยน...ลองนำเคล็ดลับดี ๆ ที่เราแนะนำไปใช้ดูนะคะ


     
 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตรียมพร้อมรับมือ เป็นแม่ลูกอ่อน อัปเดตล่าสุด 2 กันยายน 2553 เวลา 14:39:23
TOP