x close

ยามีผลกับลูกในท้องไหมนะ?

ตั้งครรภ์ - ยา

ยามีผลกับลูกในท้องไหมนะ? (รักลูก)
โดย: รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์

          ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่มีโอกาสที่จะเจ็บป่วย และจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรค หรืออาจมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยารักษามาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ คุณแม่บางท่านก็ใช้ยาหรือฉีดวัคซีนโดยไม่ทราบว่าตั้งครรภ์

          เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายคุณแม่ก็อาจผ่านสู่เจ้าตัวเล็ก และก่อให้เกิดความผิดปกติได้ ทั้งความพิการแต่กำเนิด และการทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ผิดปกติไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของยา อายุครรภ์ขณะใช้ยา และปัจจัยอื่น ๆ ด้วยครับ

          คุณผู้หญิงที่ใช้ยาเป็นประจำและประสงค์จะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอว่าจะใช้ยานั้นต่อไปได้หรือไม่ หรือใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย ในบางกรณีอาจต้องปรับเปลี่ยนขนาดและชนิดของยา หรืองดใช้ยาตามความเหมาะสม

          ขณะเริ่มใช้ยาและวัคซีนบางตัว ควรแน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ และควรคุมกำเนิดไประยะเวลาหนึ่งหรือจนกว่าจะหยุดยา เวลาคุณแม่ไปพบคุณหมอก็ควรแจ้งว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ คุณหมอที่ดูแลจะได้เลือกใช้ยาอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงยาที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลของยาต่อทารกในครรภ์

          1. คุณสมบัติในการผ่านเนื้อรกของยา ยาแต่ละตัวผ่านเนื้อรกแตกต่างกัน บางตัวไม่ผ่านเนื้อรกเลยหรือน้อยมาก หรือถูกทำลายเกือบหมดที่เนื้อรก แต่ยาบางตัวผ่านเนื้อรกได้ดีมาก

          2. อายุครรภ์ขณะใช้ยา ลูกน้อยในครรภ์จะได้รับผลจากยาที่ผ่านเนื้อรก ซึ่งจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับอายุของตัวอ่อนขณะใช้ยา ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

          ระยะเวลา 2 สัปดาห์แรก ตั้งแต่การเกิดตัวอ่อนจนถึงตัวอ่อนเป็นเซลล์ 2 ชั้น ในระยะนี้ถ้าเซลล์ถูกทำลายเป็นจำนวนมากตัวอ่อนก็จะตายไป ถ้าเซลล์ถูกทำลายจำนวนน้อย เซลล์ที่เหลือก็จะแบ่งตัวทดแทนได้ ตัวอ่อนก็จะมีชีวิตรอดต่อไปได้

          ระยะ Embryonic period เป็นระยะเวลาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ 3 ของตัวอ่อนจนกระทั่งครบ 8 สัปดาห์เต็ม (อายุครรภ์ 5-10 สัปดาห์) ระยะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นระยะที่ตัวอ่อนสร้างและพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจจะพัฒนาโครงสร้างที่สำคัญ ขณะตัวอ่อนอายุ 3.5-6 สัปดาห์ หากลูกน้อยในครรภ์ได้รับยา สารเคมี หรือรังสีต่าง ๆ ในระยะนี้ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความพิการแต่กำเนิดได้มากกว่าระยะอื่นๆ ครับ

          ระยะ Fetal period คือระยะเวลาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ 9 ของตัวอ่อนจนกระทั่งคลอด เป็นช่วงเวลาที่ทารกพัฒนาการทำงานและเพิ่มขนาดของอวัยวะระบบต่าง ๆ

          3. คุณสมบัติของยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น ยาเคมีบำบัดต่าง ๆ ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติได้มาก และการที่จะทราบได้ว่ายาตัวใดก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ ในเบื้องต้น คุณหมอจะพิจารณาจากข้อมูลจากการใช้ยาในสัตว์ทดลอง ถ้ามีรายงานว่ามีความผิดปกติของตัวอ่อนในสัตว์ทดลองที่ได้รับยา ยาตัวนั้นก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในมนุษย์ได้ ยิ่งมีรายงานความผิดปกติในสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ ก็ไม่ควรใช้ในมนุษย์

ในทางตรงข้าม แม้มีรายงานว่าค่อนข้างปลอดภัย เมื่อใช้ยาในสัตว์ทดลอง ก็ยังอาจพบความผิดปกติเมื่อใช้ในมนุษย์ได้

เมื่อทารกในครรภ์ได้รับยาและสารเคมี อาจก่อให้เกิดผลดังนี้

          1. ไม่เกิดความผิดปกติใด ๆ หรือไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติใด ๆ ส่วนใหญ่แล้วทารกที่คุณแม่ใช้ยาขณะตั้งครรภ์มักจะไม่เกิดผลเสียใดๆ

          2. ความพิการแต่กำเนิด เกิดขึ้นเนื่องจากได้รับยาบางชนิด ในช่วงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 จนกระทั่งครบ 8 สัปดาห์เต็ม ซึ่งความพิการเหล่านี้ บางครั้งมีลักษณะจำเพาะว่าเป็นผลจากยาตัวใด แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่จำเพาะเจาะจงว่าเกิดจากยาตัวใด เพียงแต่เพิ่มอุบัติการณ์ของความพิการแต่กำเนิดเมื่อใช้ยานั้น

          3. ความผิดปกติของการเจริญเติบโตของร่างกาย และการทำงานของอวัยวะต่างๆ เกิดจากการได้รับยาในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ ทำให้ทารกโตช้าในครรภ์หรืออวัยวะทำงานผิดปกติ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หัวใจตอบสนองต่อการขาดออกซิเจนผิดปกติ เกล็ดเลือดต่ำ ภาวะเหลืองในทารกแรกเกิดเป็นต้น

          4. เกิดผลเสียโดยอ้อมต่อทารกในครรภ์ คือผลที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากผลของยาต่อทารกโดยตรง แต่เกิดจากการที่ยามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในมารดา แล้วจึงเกิดผลต่อทารกในครรภ์ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ อาจทำให้ความดันโลหิตและเลือดไหลเวียนไปที่รกลดลง ทำให้ทารกโตช้าในครรภ์ได้ เป็นต้น

          5. เกิดผลดีต่อทารกในครรภ์ เช่น การใช้ Dexamethasone หรือ Betamethasone เพื่อกระตุ้นการทำงานของปอด ทารกจะลดอุบัติการณ์ของการเกิดความไม่สมบูรณ์ของปอด ในกรณีที่คลอดก่อนกำหนด

ยากลุ่มต่าง ๆ ที่ใช้บ่อยในระหว่างตั้งครรภ์

1. ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน

          อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นอาการที่พบบ่อยในไตรมาสแรก แนะนำให้รับประทานอาหารปริมาณน้อยในแต่ละครั้ง แต่รับประทานบ่อย ๆ โดยการตรวจดูว่ามีสาเหตุอื่นด้วยหรือไม่ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้นคุณหมออาจให้ยาวิตามินบี 6 ร่วมกับยา Doxylamine ในรายที่มีอาการรุนแรงจนกระทั่งมีภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ควรนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทดแทน และให้ยาแก้อาเจียน เช่น Metoclopramide promethazine ซึ่งยากลุ่มนี้ไม่มีหลักฐานว่าเกิดความผิดปกติในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีรายงานเพียงพอในมนุษย์ จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวังครับ

2. ยาระบาย

          อาการท้องผูกเป็นอาการที่พบบ่อยขณะตั้งครรภ์ อาจถึงร้อยละ 40 ในไตรมาสแรก แต่อาการมักจะไม่รุนแรงมาก การป้องกันและรักษาท้องผูกขณะตั้งครรภ์ ควรรับประทานอาหารที่มีกากมาก และอาจให้ยาระบายกลุ่มที่ช่วยให้ย่อยง่อยขึ้น ยาบางชนิดอาจทำให้ปวดบิด ๆ และระคายเคืองทวารหนักได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

          คุณแม่อ่านแล้วคงเข้าใจว่า ยาที่คุณแม่จะใช้ในระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีผลต่อลูกน้อยในหลาย ๆ ช่วงของการตั้งครรภ์ เนื่องจากมียาหลายตัวที่สามารถผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ได้ คุณแม่จึงควรระมัดระวัง เรื่องของการรับประทานยา ในช่วงที่เริ่มตั้งครรภ์ หากมีข้อสงสัยต้องรีบปรึกษาคุณหมอนะครับ


     


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยามีผลกับลูกในท้องไหมนะ? อัปเดตล่าสุด 6 กันยายน 2553 เวลา 16:19:54
TOP