x close

เด็กขี้กลัว แก้ไขอย่างไร



เด็กขี้กลัว
(Mother & Care )

           ฉบับนี้เรามารู้จักความกลัวของเด็ก ๆ เพื่อแก้ไขไม่ให้เด็กกลัวมากเกินไป และให้กลัวในบางสิ่ง บางอย่างกันค่ะ

แก้ไขอย่างไร

           ความกลัวของเด็กมีให้ผู้ใหญ่เห็นได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึงขวบ ที่เห็นชัดก็คือ กลัวการพลัดพราก หรือเรามักจะเรียกว่า อาการติดแม่ เมื่อโตขึ้นมามีการเรียนรู้มากขึ้น รู้ประสามากขึ้น ก็มีความกลัวหลากหลายขึ้น เหตุที่ทำให้เกิดความกลัวก็แตกต่างกันไป แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ อาการกลัวที่มากจนเกินไป ทำให้มีผลต่อพฤติกรรมน่าเป็นห่วงคือ อาการกลัวที่มากจนเกินไป ทำให้มีผลต่อพฤติกรรมด้านอื่น ๆ หรือถ้าโตขึ้นไปก็เป็นปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตในสังคมทีเดียว

กลัว...พฤติกรรมปกติของมนุษย์

           มนุษย์เราต้องมีความกังวลหรือความกลัว เพื่อปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยธรรมชาติของเด็กจะกลัวสิ่งต่าง ๆ สูงสุดในช่วง 3-5 ปี และจะมีพัฒนาการเรื่องความกลัวที่เป็นไปตามช่วงวัย การกลัวคนแปลกหน้า กลัวความมืด ในเด็กวัยนี้ ก็ถือว่าเป็นความกลัวตามปกติ แต่ถ้าความกลัวมีมากเกินไป และติดตัวจนเข้าสู่วัยรุ่นก็ก่อให้เกิดผลเสียอื่น ๆ ตามได้

กลัว...อะไรบ้าง

           มานึกถึงผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ มีอาการกลัวสารพัด ทั้งกลัวความสูง กลัวสัตว์ บางชนิด กลัวความมืด กลัวผี เด็ก ๆ ก็ไม่ต่างกัน มีความกลัวแตกต่างกันออกไป

         กลัวการแยกจาก จะพบได้บ่อยมากในเด็กวัยนี้ เป็นความวิตกกังวลว่าจะไม่ได้เจอพ่อแม่ จึงทำให้มีปัญหาติดแม่ไม่ยอมไปโรงเรียน ถ้าเป็นมากเด็กจะมีอาการทางกายเช่น ฝันร้าย ปัสสาวะ รดที่นอน หรือปวดท้องบ่อย ๆ

         กลัวคนแปลกหน้า นับเป็นเรื่องธรรมของวัยเด็กเล็ก แต่ถ้าโตขึ้นมาแล้ว ยังมีปัญหานี้อยู่ เด็กจะมีลักษณะไม่พูดคุยกับคนที่ไม่คุ้นเคย ไม่กล้าแสดงออก ไม่ค่อยมีเพื่อน เป็นต้น

         กลัวบางสิ่งบางอย่าง เช่น กลัวสุนัข กลัวหุ่นแมสคอต กลัวเสียงฟ้าร้อง กลัวผี กลัวความมืด เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้กลัว...

           1. การพูดขู่ การหลอก หรือทำให้เด็กตกใจอยู่บ่อย ๆ มีความรู้สึกฝังใจกับเรื่องนั้น ๆ จากสาเหตุนี้คนที่เป็นต้นเหตุคือ ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กนั่นเอง

           2. พ่อแม่ หรือคนที่อยู่ใกล้ชิด มีอาการวิตกกังวล หรือเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นเป็นประจำ เช่น คุณแม่กลัวแมลงสาป เมื่อเห็นแมลงสาปทีไรต้องวิ่งหนี กระโดดหนี หรือร้องเสียงดังทุกครั้ง

           3. มีประสบการณ์ที่ทำให้ตกใจอย่างมาก หรือกระทบใจอย่างรุนแรงมาก่อน เช่น ถูกตีอย่างแรง ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว หรือได้รับอุบัติเหตุที่รุนแรงมาก่อนจึงทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ต้องคอยระแวงระวังไว้ก่อน

           4. ขาดความอบอุ่น ความเข้าใจจากผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด ไม่มีการฝึกทักษะด้านต่า งๆ ขาดความมั่นใจ

           5. พื้นฐานอารมณ์ที่มีมาตั้งแต่กำเนิด เด็กบางคนนิ่ง ๆ ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก บางคนกล้าเจออะไรใหม่ ๆ ก็ให้ความสนใจอย่างรวดเร็ว

เปลี่ยนกลัว...ให้กล้า

         การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บางอย่างดูเป็นเรื่องยาก ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลา และวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง แต่เด็ก ๆ ก็เปรียบเสมือนไม้อ่อน ที่ยังสามารถดัดได้ แก้ไขได้ แม้จะต้องอาศัยความใจเย็น และอดทนของผู้ใหญ่ที่คอยให้ความเหลือเป็นสำคัญนั่นเอง

         ปรับความคาดหวัง พ่อแม่ไม่ควรคาดหวังลูก ให้มีความกล้าเหมือนเด็กคนอื่น หรือเหมือนที่ตนเองตั้งใจ เพราะความคาดหวังนั้น จะกลายเป็นความกดดันลูก และทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นใจในตนเองได้ ข้อที่ควรจำเป็นอันดับแรก คือ เข้าใจธรรมชาติของลูกว่ามีความกลัวมากน้อยแค่ไหน แล้วจึงค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ

         ไม่พูดข่มขู่ ทั้งคำพูดและท่าทาง ที่คุณพ่อคุณแม่แสดงออกอย่างรุนแรงจะไปเพิ่มความหวาดกลัวให้ลูก ดังนั้นควรใช้วิธีการพูดที่อ่อนโยน การใช้เหตุผลที่เหมาะกับวัยในการพูดคุยกับลูกมากกว่า รวมถึงการพูดหลอก พูดขู่ต่าง ๆ เช่น "ไม่กินข้าวเดี๋ยวให้ตำรวจมาจับ" "ดื้อมากเดี๋ยวให้หมดฉีดยาเลย" "ไม่หลับตานอนมืด ๆ แล้วตุ๊กแกจะมากินตับ" ประโยคเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กเกิดความกลัว และมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น

         ปลอบใจลูกเสมอ เมื่อลูกเกิดความกลัว ต้องปลอบโยนบอกความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และเบี่ยงเบนความสนใจไปทำกิจกรรมอื่น ๆ

         ฝึกลูกช่วยเหลือตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป และในด้านความคิด ต้องหมั่นให้ลูกตัดสินใจทำด้วยตัวเอง รู้จักการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกเกิดความมั่นใจ

         ไม่เร่งจนเกินไป การลดความหวาดกลัวของเด็ก ต้องค่อยเป็นค่อยไปไม่ควรตั้งระยะเวลาเอาไว้ หรือจะให้ลกหายกลัวภายในกำหนดของผู้ใหญ่ เพราะเด็กแต่ละคนมีทักษะการปรับตัวไม่เท่ากัน และต้องให้ลูกเผชิญสิ่งที่ลูกกลัวทีละน้อย คอยให้กำลังใจลูกอยู่เสมอ

         ความกลัวก็ใช่ว่าจะเป็นผลเสียไปซะหมด เพราะการกลัวบางอย่างเป็นผลดี เช่น กลัวอันตราย จึงต้องระมัดระวัง ซึ่งเรื่องเช่นนี้ พ่อแม่ต้องสอนแบบเด็ดขาด คือ ใช้ลักษณะคำสั่งห้ามถ้าสิ่งนั้น ๆ จะทำให้เกิดอันตราย เช่น การเล่นปลั๊กไฟ หรือของมีคมต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนการกลัวอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ควรมีไว้ประจำใจคือ กลัวบาป ถ้าคนในสังคมกลัวบาป ก็จะช่วยกันสร้างความดี สังคมเราก็จะน่าอยู่มากขึ้น


     


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.6 No.72 ธันวาคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เด็กขี้กลัว แก้ไขอย่างไร อัปเดตล่าสุด 6 มกราคม 2554 เวลา 14:59:03 6,600 อ่าน
TOP