x close

อ้าแขนยิ้มรับกับวัยเตาะแตะ

Baby

อ้าแขนยิ้มรับกับวัยเตาะแตะ
(กรุงเทพธุรกิจ)
โดย : ลอร่า - ศศิธร วัฒนกุล

          ลอร่า ศศิธร คุณแม่ลูกสองถ่ายทอดประสบการณ์รับมือเจ้าตัวน้อย วัยหัดเดิน 1-2 ปี และ 2-3 ปี พร้อมทั้งเทคนิคโต้ตอบสถานการณ์ที่ท้าทาย

          สวัสดีค่ะ คุณพ่อคุณแม่ผู้มีความปรารถนาที่จะเติบโตไปพร้อมลูก!! วันนี้เรามาช่วยกันคิดถึงสิ่งที่น่าสังเกตของเด็กในวัยหัดเดิน 1-2 ปี และ 2-3 ปีกันดีไหมคะ เพราะการที่เราจะเติบโตไปพร้อมกับลูก ก็เพื่อที่เราจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเราเองให้เป็นพ่อแม่ผู้มีความสามารถในการโต้ตอบสถานการณ์ที่ ท้าทายด้วยวินัยเชิงบวกได้ในที่สุดค่ะ

          เราจะพบว่าเรากลายเป็นพ่อแม่ที่ดุลูกน้อยลง บังคับลูกน้อยลง ลงโทษลูกน้อยลง ตามใจลูกมากขึ้น เอ่ยชมลูกมากขึ้น บอกรักลูกบ่อยขึ้นใช่ไหมคะ เตรียมตัวอ้าแขนยิ้มรับกับวัยเตาะแตะได้เลยค่ะ เซียนแค่ไหนก็ปราบได้ด้วยข้อสังเกตดังต่อไปนี้ค่ะ

          สำหรับสิ่งที่น่าสังเกตในการรับมือกับ “ความไม่เข้าใจ” และ “ความต้องการเป็นอิสระ” ของ เด็กวัยหัดเดินหรือ 1-2 ปี มักจะได้ผลดีมากถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เสนอทางเลือกให้กับเขา  เช่น “ลูกอยากทานแอปเปิล หรือมะละกอ” หรือ “ลูกอยากให้แม่อุ้มหรืออยากเดินเอง” แม้ว่าเขาพูดไม่ได้แต่เขามักชี้หรือส่งสัญญาณได้แล้ว

          แต่ข้อคิดคือทางเลือกที่เสนอนั้นไม่ควรเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น “จะให้แม่อุ้มไปด้วยหรือจะอยู่บ้านคนเดียว” เพราะสุดท้ายแล้วลูกจะเรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาเลือกนั้นไม่มีความหมายและข้อเสนอของพ่อแม่ก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ และไม่ควรเสนอทางเลือกที่เป็นคำขู่ เช่น “ให้อุ้มเดี๋ยวนี้นะ ไม่งั้นจะไม่พามาด้วยแล้ว” เพราะการข่มขู่นำมาซึ่งเพียงแต่ความกลัวเท่านั้น

          นอกจากข่มขู่ด้วยวาจาแล้วก็ยังมีการข่มขู่ในรูปแบบอื่น ๆ อีกที่ไม่ใช่ทางออกของการโต้ตอบอย่างสร้างสรรค์ เช่น การดุลูกดัง ๆ การตีที่มือของลูก การยึดเอาของเล่นชิ้นโปรดไปเก็บเป็นการลงโทษ ในกรณีที่หนูน้อยวัยหัดเดินชอบหยิบฉวยของมีคม เอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟหรือพัดลม กวาดแก้วบนโต๊ะแตกลงมา ซึ่งเป็นเรื่องความปลอดภัยในบ้าน

          ทางออกที่ดีที่สุดและเป็นการตอบโต้อย่างสร้างสรรค์ที่สุดเพื่อหนูน้อย วัยหัดเดินที่เป็นวัยแห่งการสำรวจเพื่อเรียนรู้ นั่นคือ “การทำบ้านให้เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” ตรงไหนที่มีอันตราย เช่น ของปลายแหลม เป็นพิษ แตกหักง่าย เราก็ควรเอาไปเก็บไว้ให้พ้นมือเด็ก ตรงไหนมีรูปลั๊กไฟ ของร้อน ต้องดูแลให้รัดกุมว่าลูกของเราจะได้รับความมั่นใจในบ้านหลังนี้ที่มีความ ปลอดภัยสำหรับเขา

          ในวัย 1-2 ปีนี้เด็กเริ่มเข้าใจภาษาที่พ่อแม่ให้การชี้แนะแนวทางได้แล้ว เราจึงควรเริ่มอธิบายสั้น ๆ ถึงแนวทางเพื่อความเข้าใจและการปฏิบัติตัวของเขา เช่น “แก้วแตก เสียดาย แก้วแตกหนูจะเจ็บ เอาไปเก็บในตู้กันดีกว่า” และการตอบโต้ด้วยวิธีเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้จริงก็เมื่อคุณพ่อคุณแม่คิดด้วย กระบวนการคิด 4 ขั้นตอนตามที่เราได้เคยเล่าสู่กันฟังไปแล้วนะคะ

          เด็กวัยเตาะแตะรุ่นใหญ่ หรือวัย 2-3 ปี มีข้อที่น่าสังเกตในเรื่อง “ความหงุดหงิด” ซึ่งจะแสดงออกมาอย่างเปิดเผยจนบางครั้งถึงกับร้องดิ้นหรือลงมืออาละวาด เมื่อสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในที่สาธารณะ คุณพ่อคุณแม่มักจะมองว่าเป็นเรื่อง ที่ทำให้ขายหน้าที่เอาลูกไม่อยู่หมัด

          แต่โปรดคิดอย่างสร้างสรรค์ด้วยมุมมองของพ่อแม่ผู้คิดผ่าน 4 ขั้นตอนมาแล้วว่า ความสัมพันธ์ของท่านกับลูกสำคัญกว่าการมองของคนอื่นมากมายนัก เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขอให้มองว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะให้ความอบอุ่น และให้แนวทางแก่ลูก สอนเขาว่าเด็ก ๆ ควรทำเช่นไร เพื่อสงบใจตัวเองลงให้ได้ และโปรดอย่าลืมว่า การพยายามควบคุมการอาละวาดของลูกก็เหมือนกับการพยายามควบคุมพายุ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้   

          เด็กน้อยร้องงอแงและอาละวาดเพราะเขาไม่รู้ว่าจะจัดการกับความหงุดหงิด อย่างไรดี การร้องอาละวาดเป็นวิธีของเด็กที่จะบอกเราว่าขอกำลังหงุดหงิดมากๆ หากคุณพ่อคุณแม่ดุด่าว่ากล่าวหรือตีเขาในเวลาเช่นนี้ เขาก็มีแต่จะหงุดหงิดมากขึ้น

          นอกจากนั้นเขาจะรู้สึกหวาดกลัวและรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจเขาเลย สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ก็คือ “การรอคอย” ให้เวลามันผ่านพ้นไป และ “อยู่ใกล้ ๆ ลูก” เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยในเวลาที่พายุกลืนเขาให้หายเข้าไปในนั้น “กอดลูกไว้เบา ๆ” ก็ช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ หลังจากพายุผ่านพ้นไปเราก็เริ่มนั่งข้าง ๆ มองตาเขาด้วยความอ่อนโยนและพูดคุยกับเขาว่าเกิดอะไรขึ้น

          เด็กวัยนี้เริ่มเข้าใจเหตุและผลแล้วจึงอย่าลืมใช้โอกาสนี้พูดสอนด้วย ความรักว่าความรู้สึกต่างๆ นี้เป็นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน เราเรียกมันว่าอย่างไรบ้าง บอกลูกว่าเราเข้าใจว่าทำไมลูกจึงหงุดหงิด บอกเขาด้วยว่าเราพูดว่า “ไม่” เพราะอะไร   บอกเขาว่าเวลาที่เราหงุดหงิดมาก ๆ เราใช้วิธีไหนในการทำให้ใจสงบลงได้ สุดท้าย  อย่าลืมสบตาลูกแล้วเขาว่าเรารักเขาเสมอไม่ว่าในเวลาที่เขาเป็นอย่างไร สุข เศร้า หรือโมโห “รักหนูเสมอจ้ะลูก”

          อุปสรรคที่น่ากลัวของการเป็นพ่อแม่ในฝันก็ตามมาหลอกหลอนเราอีกแล้วค่ะ นั่นคือ “ความโกรธ” เพราะพ่อแม่ของเด็กวัยหัดเดินนั้นจะต้องเผชิญหน้ากับความหงุดหงิดใจในพฤติกรรมแสนขยันช่างสำรวจของหนูน้อยอยู่ทุกวี่วันจนบางครั้งอาจกลายเป็นความ โกรธขึ้นมา

          ความอดทนของพ่อแม่จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งค่ะ เด็กจะเรียนรู้และหล่อหลอมตัวตนของเขาในการรับมือกับความโกรธจากการสังเกตวิธีรับมือของพ่อแม่นี่ละค่ะ

          เคล็ดไม่ลับกับการควบคุมความโกรธมีหลายวิธี อาทิเช่น นับหนึ่งถึงสิบ หายใจลึก ๆ มองตาลูกที่ใสบริสุทธิ์เข้าไว้ มองนิ้วก้อยที่เล็กกระจิ๋วหลิวซะ หรือเดินห่างไปจากสถานการณ์และให้เวลาตนเองสงบใจซะก่อนค่อยกลับมารับมือใหม่

          ในระหว่างนั้นก็คิดทบทวนว่าเราต้องการให้ลูกเป็นคนลักษณะไหนในเป้าหมาย ระยะยาวของเราที่ตั้งเอาไว้ ทำใจให้ยอมรับวิธีคิดและความรู้สึกของลูกให้ได้ คิดไว้เสมอว่าดีแล้วที่มีสถานการณ์เกิดขึ้นเพราะเป็นโอกาสดีที่เราจะได้สอนลูกด้วยความอบอุ่นว่าเขาควรจะเรียนรู้เรื่องอะไรและจะรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร

          อย่าปล่อยให้ความโกรธทำให้เราต้องพูดอะไรร้าย ๆ ออกไปเป็นการดูถูกเหยียดหยามลูก ตะโกนดุด่าหรือตีมือถือแขนกันเลย มีแต่จะเจ็บปวดกันทั้งสองฝ่ายเปล่า ๆ เหมือนตะปูที่โดนตอกลงไปในเนื้อไม้ แม้จะได้รับการถอนขึ้นมาแล้วแต่เนื้อไม้ก็ยังคงมีรอยตะปูฉันใดก็ฉันนั้นใช่ ไหมคะ “รักลูกจัง รักลูกจัง” พูดไว้ให้ติดปากดีกว่าค่ะ คราวหน้ามาช่วยกันคิดต่อไปในวัยเริ่มห่างบ้านไปสู่โรงเรียนนะคะ โปรดติดตาม




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ้าแขนยิ้มรับกับวัยเตาะแตะ อัปเดตล่าสุด 8 ตุลาคม 2552 เวลา 17:27:45
TOP