x close

เตือนอุบัติภัยกับเด็กที่มักเกิดในอาคารสูง



ปภ.เตือนอุบัติภัยกับเด็กที่มักเกิดในอาคารสูง

          กระทรวงมหาดไทย โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  เตือนผู้ที่อาศัยในอาคารสูงดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด  ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ในห้องตามลำพัง  และระมัดระวังอันตรายจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยของอาคารสูง  โดยเฉพาะระเบียงห้อง  ลิฟท์  บันได  บันไดเลื่อน  ลานจอดรถ  รวมถึงสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องและปลอดภัย หากเกิดเหตุฉุกเฉินในอาคารสูง    

          นายอนุชา  โมกขะเวส  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  เปิดเผยว่า  ในปัจจุบันครอบครัวยุคใหม่มักอาศัยอยู่ตามคอนโดมีเนียม  และอพาร์ทเมนต์ที่มีสิ่งสาธารณูปโภคครบครัน  แต่การอาศัยในอาคารสูงก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยได้มาก  โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็กอาศัยอยู่ด้วย ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ  เพื่อมิให้เกิดโศกนาฎกรรมดังเช่นข่าวเด็กอายุ ๕ ขวบ ปีนระเบียงออกมานอกห้อง และพลัดตกลงมาเสียชีวิต เพื่อความปลอดภัย  ขอเตือนผู้อาศัยในอาคารสูงดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด  สอนให้เด็กเรียนรู้วิธีป้องกันภัยและร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยกับเด็ก โดยเฉพาะ ๙ จุดเสี่ยงต่าง ๆ ที่มักเกิดอุบัติภัยกับเด็กในอาคารสูง ดังนี้ 

           ระเบียง   ไม่วางโต๊ะ เก้าอี้เชื่อมต่อกับระเบียงนอกห้อง  เพราะเด็กอาจปีนป่ายออกมาเล่น      จนพลัดตกลงมาจากตึก  จัดทำที่กั้นราวระเบียงแบบปิดทึบ  เพื่อป้องกันศีรษะ แขนและขาของเด็กเข้าไปติดกับช่องเหล็กดัด 

          กระเบื้องปูพื้น  โดยเฉพาะพื้นที่มีลักษณะมันวาว ถ้าพื้นเปียกน้ำให้แจ้งพนักงานทำความสะอาดในทันที เพื่อป้องกันเด็กลื่นหกล้ม                    

          ลิฟต์  ควรสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีการใช้ลิฟท์  การปฏิบัติตนกรณีลิฟท์ค้างหรือขัดข้อง  ไม่ควรให้เด็กขึ้น-ลงลิฟท์ตามลำพัง  เพราะหากเกิดอันตรายเด็กจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัย 

          บันไดเลื่อน  ควรจูงเด็กขึ้น - ลงบันไดเลื่อน  และสอนให้เด็กการไม่เล่นบริเวณทางขึ้น - ลงบันไดเลื่อน  เพราะพื้นที่ไม่เท่ากันและการเคลื่อนตัวบันไดเลื่อน อาจทำให้เด็กสะดุดล้ม รวมทั้ง            ไม่ควรให้เด็กสวมเสื้อผ้ายาวรุ่มร่าม  เพราะอาจเข้าไปติดในบันไดเลื่อนทำให้เด็กได้รับอันตราย หากแผ่นยางสีดำที่ซับหุ้มเหล็กราวบันไดเลื่อนฉีกขาด ไม่ควรให้เด็กเอามือไปแตะหรือสัมผัส  เพราะอาจถูกเหล็กราวบันไดที่มีลักษณะเป็นลวดแหลมบาดได้ 

          บันไดหนีไฟ   ไม่วางสิ่งของกีดขวางทางขึ้น – ลงบันได  เพราะหากเกิดเหตุเพลิงไหม้จะเป็นอุปสรรคในการหลบหนี

          บันไดทางเดิน  ไม่ควรให้เด็กเล่นบริเวณบันได  เพราะอาจพลัดตกจากบันได  โดยซี่ราวบันไดที่ปลอดภัยควรมีระยะห่างระหว่าง ๘ – ๑๒.๗ เซนติเมตร  เพื่อป้องกันเด็กมุด  ทำให้ศีรษะติดค้างหรือลอดตกจากบันได 

          สระว่ายน้ำ   ในขณะที่เด็กเล่นน้ำควรดูแลอย่างใกล้ชิด  สอนให้เด็กเล่นน้ำบริเวณสระเด็กเท่านั้น  และให้เด็กสวมเสื้อชูชีพ  ใส่ห่วงยางหรือเกาะแผ่นโฟมขณะเล่นน้ำ เพื่อป้องกันเด็กจมน้ำเสียชีวิต             

          ลานจอดรถ  ไม่ควรให้เด็กวิ่งเล่นบริเวณลานจอดรถ  เพราะอาจถูกรถชน ทุกครั้งที่พาเด็กโดยสารรถไปด้วย  ควรดูแลให้เด็กขึ้นนั่งบนรถให้เรียบร้อยก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ 

          ประตู หน้าต่าง  ควรทำด้วยเหล็กกั้นหรือเหล็กดัดที่สามารถเปิดออกได้  และมีที่ครอบลูกบิด  เพื่อป้องกันเด็กกดล๊อคประตูและติดค้างอยู่ภายในห้อง 

          ที่สำคัญ  ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยเด็กอยู่ในห้องเพียงลำพัง เพราะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจเกิดอันตรายขึ้นกับเด็ก  รวมทั้งควรสอนให้เด็กเรียนรู้การช่วยเหลือตนเองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน  เช่น  หากเกิดเพลิงไหม้  ควรวิ่งหนีออกทางบันไดหนีไฟ  ไม่ใช้ลิฟท์อย่างเด็ดขาด  กรณีเกิดแผ่นดินไหวให้หลบใต้โต๊ะ   ไม่อยู่ใกล้ประตูหน้าต่างที่มีลักษณะเป็นกระจกหรือสิ่งของที่ยึดติดไม่แน่นหนา จะช่วยป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดกับเด็กในอาคารสูงได้


                     เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

                    คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนอุบัติภัยกับเด็กที่มักเกิดในอาคารสูง อัปเดตล่าสุด 15 ตุลาคม 2552 เวลา 14:19:18
TOP