x close

หลักการครองเรือน

แต่งงาน
แต่งงาน

หลักการครองเรือน (Life & Family)

โดย: ศ.ดร.ระวี ภาวิไล

          พร้อมหรือยังกับชีวิตหลังสมรส เรามาดูหลักการครองเรือนกัน

          คนเราแต่ละคนมีความแตกต่างจากผู้อื่น เพราะทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตของตนเอง ต่างก็เกิดและเติบโตขึ้นตามสภาพแวดล้อม ซึ่งนับว่าเป็นพิเศษเฉพาะตัว เป็นต้น การที่ชายและหญิงตกลงใจเข้าร่วมชีวิตครองเรือนด้วยกัน เงื่อนไขที่จะทำให้ชีวิตคู่ประสบความสำเร็จที่พึงหวัง เป็นต้นว่าความสุข การมีทายาทสืบสกุล ความมั่นคงยืนยาวของชีวิตสมรส ฯลฯ

          อาจกำหนดได้ บ้างเฉพาะหลักใหญ่ ๆ สิ่งที่ควรตระหนักทั้งสองฝ่ายก็คือ การปรับปรุงตัวเองให้สอดคล้องกับชีวิตคู่ และชีวิตครอบครัว เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้น เมื่อแต่งงานแล้วจะยังดำเนินวิถีชีวิตเหมือนเมื่อยังโสดอยู่ ย่อมไม่เหมาะสม

          ชีวิตสมรสนั้น คือการรับรสชาติของชีวิตร่วมกัน ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายควรได้รับเท่ากันเสมอกัน เพื่อให้เป็นเช่นนี้ ทั้งสองฝ่ายควรมีพื้นฐานทางจิตใจเสมอกัน

          หากแตกต่างกันอยู่บ้างก็ควรปรับเข้าหากันให้กลมกลืนกันได้

          โดยประการแรก มีความเชื่อมั่นหรือศรัทธาในหลักการดำเนินชีวิตที่ดีงามสอดคล้องกัน กล่าวอย่างง่ายที่สุดคือ ถือศาสนานิกายเดียวกัน ถ้าเป็นได้เช่นนี้ ก็ไม่มีปัญหาต้อง ตกลงโอนอ่อนเข้าหากัน ซึ่งจะทำได้หรือไม่ ยากง่ายเพียงใด เป็นเรื่องแต่ละกรณี ในอดีตเรื่องนี้เป็นปัญหามาก คนรุ่นใหม่บางรายดูจะแก้ได้ แต่ถ้าไม่ให้เรื่องนี้เป็นปัญหาได้ก็น่าจะดีกว่า

          ประการที่สอง มีสำนึกและปฏิบัติตนตามหลักจริยธรรมสม่ำเสมอสอดคล้องกัน ถือข้อละเว้นข้อปฏิบัติอย่างเดียวกัน หรือไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เช่นในเรื่องละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ชอบทรมานสัตว์ มีมติสอดคล้องกันในเรื่องการอาชีพที่สุจริต ไม่เกี่ยวข้องกับ สิ่งเสพย์ติด เป็นต้น

          ประการที่สาม มีน้ำใจโอบอ้อมอารีด้วยกัน พอใจที่จะร่วมกันช่วยเหลือผู้ยากไร้ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมกันและกันลดความตระหนี่ บริจาครายได้อันเป็นผลประโยชน์เกิดจากแรงงานและสติปัญญาของตน โดยช่วยกันสะสมบางส่วน เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของ ผู้อื่น และเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สาธารณชน เกิดความสุขอิ่มใจร่วมกัน

          ประการที่สี่ มีสติปัญญาอันเป็นเครื่องให้รู้และเข้าใจชีวิตเท่าเทียมกัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ข้อนี้ไม่จำเป็นต้องหมายความถึงการมีวุฒิทางการศึกษาในระบบ เช่นปริญญา เท่ากันเสมอไป ในข้อนี้มีหลักว่า มนุษย์นั้นมีศักยภาพภายในที่จะพัฒนาได้ อันได้แก่สติปัญญา นั่นเอง ที่จะงอกงามเจริญขึ้น


แต่งงาน
แต่งงาน

          โดยการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีการแสวงหาความรู้ และมีความเพียรฝึกฝนตนเองไม่หยุดหย่อน อาศัยน้ำใจรักที่มีต่อกัน ฝ่ายที่ก้าวหน้าไปมากกว่าย่อม สามารถช่วยเหลืออีกฝ่ายหนึ่งเพิ่มพูนสติปัญญาของตนให้สูงขึ้น เหมาะสมสอดคล้องเป็นที่ ปรึกษาของกันและกันได้

          นอกเหนือจากความเหมาะสมดังกล่าวแล้ว ควรตระหนักตั้งแต่ต้นว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความไม่ปรองดองกันของผู้คน ไม่ว่าในกรณีใดก็คือ ความเห็นแก่ตัว ซึ่งแฝงมาได้ในรูปแบบอันหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องปรากฏให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง

          เมื่อเริ่มคิดจะแต่งงาน ควรตั้งปัญหาถามตนเองว่า เพราะอะไร และเพื่ออะไรจริงอยู่ สัตว์ต่างเพศถูกดึงดูดเข้าสมสู่กันด้วยสัญชาตญาณของการสืบพันธุ์ แต่มนุษย์ประเสริฐกว่าสัตว์อื่นใด ดังปรากฏในวัฒนธรรมและอารยธรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นที่

          ประจักษ์ ดังนั้น เป็นที่แน่นอนว่า ความรักของมนุษย์ที่มีต่อคู่ครองนั้น มิใช่เพียงความปรารถนาเข้าครอบครองเพียงเพื่อใช้ประโยชน์เป็นเครื่องปลด เปลื้องกามราคะ และก็ไม่ควรมีความมุ่งหมายในด้านที่จะใช้ประโยชน์ เพื่อตนเอง โดยถือเอาฐานะ ตระกูล ชื่อเสียง อำนาจวาสนา ฯลฯ ของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ เพื่อตัดสินใจแต่งงานด้วย เพราะหากสิ่งนั้นๆไม่เป็นอย่างที่ปรากฏผิวเผิน หรือเปลี่ยนแปรพลิกผันไป

          ที่ว่ารักนั้นก็มักแปรเปลี่ยนเป็นตรงข้าม คือชิงชังได้โดยง่าย อนึ่ง สัตว์เดรัจฉานนั้นเมื่อสมสู่กันแล้ว ต่างฝ่ายอาจแยกจากกันไปไม่มีเยื่อใย แต่ตัวเมียเมื่อได้ลูกก็ฟูมฟักรักษา แม้ถึงขั้นยอมสละชีวิตได้ ถ้ามนุษย์ไม่รักลูก มีแล้วทอดทิ้ง ไม่เหลียวแล ก็ควรคิดละอายสัตว์บ้าง

          เมื่อยังดำเนินชีวิตของคนโสด เราจะสนองตอบต่อความเห็นแก่ตัวอย่างไรก็ได้ แต่ประสบการณ์ชีวิตจะยืนยันว่า นั่นแหละคือสาเหตุแห่งความทุกข์ทั้งของตนเองและผู้อื่น การมีคู่ครองควรเป็นโอกาสให้จิตใจได้พัฒนาขยายกว้างขึ้นในเชิงคุณธรรมความดีงาม คือ จะได้รู้จักรักผู้อื่นอย่างที่รักตนเอง เมื่อมีลูก เกิดความรัก เอื้ออาทรห่วงใยในลูก ก็จะสำนึกในความรักที่บิดามารดาเคยมีต่อตน และเรียนรู้คุณค่าของความสัมพันธ์อันดีงามที่ควรมีต่อกันในมนุษย์ทั้งหลาย

          ความรักระหว่างเพศนี่แหละ สามารถใช้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาชีวิตจิตใจ ขึ้นสู่ระดับคุณธรรมความดีงามสูงสุดที่มนุษย์พึงบรรลุถึงได้




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

นิตยสาร Life & Family

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หลักการครองเรือน อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2552 เวลา 17:48:00
TOP