x close

ภูมิแพ้ทางเดินหายใจรุนแรงมากในแม่ท้อง

 

 

 

ภูมิแพ้ทางเดินหายใจรุนแรงมากในแม่ท้อง  (รักลูก)
โดย: อาราดา
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ พญ.สิรินันท์ บุญยะลีพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ 

          โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจและหอบหืดนั้น ถือเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ได้มากกว่าบรรดาภูมิแพ้ทั้งหลาย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นเกิดจากการปฏิบัติตัวของคุณแม่ล้วนๆ ค่ะ

           อาการภูมิแพ้

          โรคภูมิแพ้จะมีลักษณะความรุนแรงของอาการมากน้อยต่างกันไปตามแต่ละบุคคล บางคนอาจคันตา คันเพดานปาก บางคนอาจคัดจมูกร่วมกับน้ำมูกใส หรือบางรายหายใจหอบ หรืออาจจะมีอาการทุกอย่างร่วมกันอยู่ก็ได้ แต่อย่างหนึ่งที่มั่นใจได้คือ โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจและหอบหืดนั้น สามารถส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตทั้งคุณแม่และลูกได้

           อายุครรภ์เพิ่ม...ความรุนแรงเพิ่ม?

          ลักษณะความรุนแรงของโรค แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มอาการคือ มีอาการคงที่ อาการจะรุนแรงขึ้น และอาการลดลงค่ะนอกจากนี้ พบว่าการกำเริบมักจะไม่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แต่มักเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 ต่อไตรมาส 3 หรือช่วงที่อายุครรภ์ 29-36 สัปดาห์ แต่ที่เป็นข่าวดีคือ 1 เดือนสุดท้ายก่อนคลอดจนถึงในระหว่างการคลอด อาการจะไม่ค่อยกำเริบ

          ส่วนระดับความรุนแรงของโรคจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของโรคที่เป็นก่อนตั้งครรภ์ค่ะ เช่น หากคุณเป็นภูมิแพ้แต่มีการดูแลรักษาตัวเองเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมสิ่งแวดล้อมเพื่อลดสารกระตุ้นภูมิแพ้ การใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง อาการของโรคภูมิแพ้ในช่วงตั้งครรภ์ก็จะไม่รุนแรงขึ้น หรือถ้าหากกำเริบก็จะมีระดับการกำเริบเท่าเดิม แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่แพทย์มักเจอ คือคุณแม่ตั้งครรภ์จะเชื่อว่ายาต่างๆ ส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ จนหยุดใช้ยา เลยทำให้อาการเป็นหนักกว่าเดิม

           ป้องกันก่อนตั้งครรภ์ดีที่สุด...

          การดูแลและป้องกันโรคภูมิแพ้นั้น จะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อ คุณทราบแน่ชัดแล้วว่าแพ้สิ่งกระตุ้นชนิดใด ซึ่งทำได้โดยการทดสอบภูมิแพ้จากแพทย์เฉพาะทางค่ะ เมื่อรู้คำตอบแล้วคุณก็จะสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้ได้ คุณหมอแนะว่าห้ามเดา ห้ามมั่ว ห้ามมั้ง ว่าแพ้นู่นนี่เป็นอันขาด เพราะหากเดาผิด ก็เท่ากับว่าคุณไม่ได้แก้สิ่งที่แพ้จริงๆ แต่ถ้าทดสอบก็จะสามารถจัดการสิ่งแวดล้อมได้ทัน ยิ่งคุณแม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลเรื่องกิน นอน การพักผ่อน ทำจิตใจแจ่มใส อย่างเต็มที่ โรคก็จะสงบ คุณแม่ก็แทบจะไม่ต้องใช้ยาในการรักษาเลยค่ะ

          และหากคุณต้องการทดสอบภูมิแพ้ระหว่างตั้งครรภ์ ขอบอกเลยค่ะว่าคุณหมอจะไม่ทดสอบภูมิแพ้ในแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากการทดสอบมีความเสี่ยงจะแพ้ และอาการกำเริบ หากทดสอบแล้วเกิดอาการกำเริบ คุณหมอก็ต้องให้ยาที่แรงขึ้น ซึ่งไม่ดีต่อลูกในท้องแน่ๆ เพราะฉะนั้น การทดสอบก่อนตั้งครรภ์จึงถือเป็นการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์สำหรับคนที่กำลังตั้งใจจะมีบุตรด้วย

          แต่ถ้าคุณตั้งครรภ์แล้ว และยังไม่เคยทดสอบภูมิแพ้ ก็อย่ากังวลใจไปค่ะ เพราะถ้าคุณไปพบคุณหมอโรคภูมิแพ้เป็นประจำ อีกทั้งทำตามคำแนะนำของคุณหมอ ก็มั่นใจได้ว่า ท้องนี้ถึงเป็นภูมิแพ้ก็ปลอดภัยค่ะ

           ซื้อยากินเอง จะเสี่ยงเพิ่มขึ้น!

          แทบไม่น่าเชื่อค่ะว่าคนที่เป็นภูมิแพ้ส่วนใหญ่มักเลือกที่จะรักษาตัวเอง คือเมื่อเป็นโรคแล้วไปพบคุณหมอ ครั้งแรกคุณหมอจ่ายยามาให้ ไปพบครั้งที่สองคุณหมอก็ยังจ่ายยาตัวเดิม ทีนี้พอครั้งที่สามเลยเข้าใจไปเองว่าคุณหมอต้องจ่ายยาตัวเดิมให้ เลยตัดสินใจเลิกพบหมอ แล้วหันไปซื้อยาตัวเดียวกับที่คุณหมอจ่ายให้ที่ร้านขายยาเอง ทำให้ขาดการรักษาที่ต่อเนื่องจากโรงพยาบาลค่ะ

          และเมื่อใช้ยาเองก็ทำให้ไม่รู้ว่าโรคภูมิแพ้อยู่ที่ระดับใด มากน้อยแค่ไหน ขาดการประเมินผล ไม่มีการวัดสมรรถภาพปอด และเมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมาก็หยุดใช้ยารักษาภูมิแพ้ หันไปกินยาจากคุณหมอสูตินรีเวช ซึ่งคุณหมอเจ้าของไข้อาจรู้หรือไม่รู้ก็ได้ว่าคุณแม่เป็นภูมิแพ้ พอหยุดยาทันที อาการก็แย่ลง เดือดร้อนถึงตนเองและคุณหมอสูติต้องส่งคนไข้ไปหาหมอภูมิแพ้ตรวจว่าอาการกำเริบยังไง อยู่ในขั้นปลอดภัยแค่ไหน ซึ่งจะกลายเป็นกระบวนการที่ยากขึ้น

          เนื่องจากการใช้ยาอย่างต่อเนื่องตอนที่โรคสงบจะใช้ยาน้อย ผลข้างเคียงก็มีน้อย แต่พอหยุดยาอาการกำเริบหนัก ต้องใช้ยามากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณแม่และคุณลูกแน่นอน เพราะภูมิแพ้ทางเดินหายใจและหอบหืดเป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตได้ หากปล่อยให้กำเริบหนัก คุณแม่ก็อาจไม่รอด หรือถ้ารอด ลูกน้อยก็อาจได้ออกซิเจนน้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักตัวน้อย ระดับการเต้นของหัวใจไม่ปกติ ทีนี้พอคุณแม่อาการหนักแพทย์ ก็ต้องให้ยาแรงๆ เพื่อกู้ชีวิตแม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้น นี่คือการต้องยอมแลกกับผลเสียที่ตามมาค่ะ 

          สรุปแล้ว ไม่แนะนำให้หยุดยาเองทันที และไม่ซื้อยาใช้เองด้วย เพราะยาแก้แพ้บางชนิดไม่อนุญาตให้ใช้ในแม่ท้อง บางชนิดอนุญาตให้ใช้ได้ตอนไตรมาส 2-3 แต่ใช้ไตรมาสแรกไม่ได้เพราะจะส่งผลต่อเด็ก หรือบางตัวใช้ได้ระยะสั้นๆ กินต่อเป็นเดือนๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น คำสั่งของคุณหมอนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะภูมิแพ้เป็นโรคที่มีอาการของโรคต่างกัน เป็นมากน้อยก็ต่างกัน ดังนั้น หากบอกวิธีในการรักษาหรือบรรเทาที่เป็นมาตรฐานสากลคงเป็นไปไม่ได้ แต่คุณแม่สามารถอุ่นใจและมั่นใจได้มากขึ้น หากคุณแม่ไปพบคุณ หมอเป็นประจำ ทำให้ได้รับคำแนะนำ อีกทั้งการวางแผนในการรักษา รวมถึงข้อปฏิบัติที่ควรทำเมื่ออาการกำเริบค่ะ

           ท้องนี้...ลูกมีปัญหาหรือเปล่า?

          หากสงสัยว่าลูกจะได้รับผลกระทบจากอาการภูมิแพ้ของคุณหรือเปล่า ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ประจำตัวโดยคุณหมอจะสามารถตรวจพบได้จากการประมาณค่าน้ำหนักของทารก จำนวนครั้งในการดิ้น อัตราการเต้นของหัวใจ ผ่านการตรวจคลำทางหน้าท้อง และการอัลตราซาวนด์

           การป้องกันรักษา

          ส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ถ้าแพ้ฝุ่นก็จัดการสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้ปราศจากฝุ่น นำที่นอนหมอนมุ้งมาปัดฝุ่นและซักทุกๆ สัปดาห์ เป็นต้น แต่ถ้าจัดการไม่ได้เต็มที่อันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก เช่น บ้านอยู่ติดถนนทำให้มีฝุ่นมาก คุณหมอก็จะให้ยามาใช้ค่ะ

          คุณหมอบอกว่าคนไทยชอบเข้าใจไปเองว่า ถ้าได้ยาพ่นมาแสดงว่าอาการหนักแล้ว ซึ่งความเป็นจริงนั้น ถ้าคุณได้รับการดูแลจากแพทย์เป็นอย่างดีมักจะได้ยาพ่นซึ่งมีคุณภาพดีกว่า อีกทั้งไม่มีผลข้างเคียงต่อแม่ท้อง เนื่องจาก ยาพ่นจะไปเฉพาะอยู่ที่อวัยวะนั้นๆ เช่น พ่นจมูกก็ไปที่จมูก พ่นหลอดลมก็ไปอยู่ที่หลอดลม แต่ข้อเสียคือมีราคาที่แพงกว่า ตรงข้ามกับยากินซึ่งแม้จะราคาถูกกว่า แต่เรากินลงกระเพาะไปก่อน แล้วร่างกายจึงดูดซึมตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นก็กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ รวมไปถึงรกด้วย

         คุณหมอแนะนำค่ะว่า คุณแม่ไม่ควรตัดสินหรือคิดเองว่ายาชนิดไหนแรง - ไม่แรง วิธีที่ดีที่สุดคือ เมื่อเกิดความสงสัยต้องสอบถามแพทย์ที่ดูแลและสั่งยาให้ ที่สำคัญคือ ใช้ยาเท่าที่สั่ง อย่าใช้เกินความจำเป็น หรือหยุดยากะทันหัน สรุปคือ หากคุณหมอสั่งให้ใช้ก็ใช้ไปอย่าไปกังวลและลดยาเองเป็นอันขาดค่ะ

           ภูมิแพ้ ลูกไม่แพ้ตามแม่ได้มั้ย?

          โรคภูมิแพ้มีปัจจัยหลักๆ 2 อย่างคือ กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม เช่น หากคุณแพ้แมว แต่ไม่เคยรู้จักแมว ก็เป็นภูมิแพ้แมวไม่ได้ ถ้าแพ้ไรฝุ่น แต่มีการกำจัดฝุ่น ทำความสะอาดบ้านบ่อย ๆ โอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ก็จะลดลง เพราะฉะนั้น คุณไม่สามารถเปลี่ยนกรรมพันธุ์ให้กับลูกได้ แต่สามารถจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัว  เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ หรือทำให้ระดับอาการทุเลาลงได้ ที่สำคัญ นอกจากนี้ควรให้ลูกกินนมแม่ให้ครบ 6 เดือน เพื่อเป็นการลดโอกาสการเกิดภูมิแพ้ลงได้มากค่ะ

          สรุปคือ รู้ดูแลและป้องกัน เสียแต่เนิ่นๆ จะกี่ภูมิแพ้คุณแม่ก็เบาใจได้ค่ะ


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับที่ 318 เดือนกรกฎาคม 2552





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภูมิแพ้ทางเดินหายใจรุนแรงมากในแม่ท้อง อัปเดตล่าสุด 14 กันยายน 2552 เวลา 15:33:50 14,853 อ่าน
TOP