x close

แม่ตั้งครรภ์ขับรถยนต์..ปลอดภัยไว้ก่อน



แม่ท้องกับรถยนต์..ปลอดภัยไว้ก่อน
(Mother&Care)

         แม้จะอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ แต่เวิร์กกิ้งมัมหลายท่านก็ยังขับหรือโดยสารรถยนต์อยู่ ซึ่งการขับรถไม่ได้เป็นข้อห้ามในช่วงตั้งครรภ์ แต่คุณแม่ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตราย รวมถึงคุณแม่ที่พาลูกนั่งรถไปด้วย ก็ต้องปลอดภัยไว้ก่อนทั้งคุณแม่และลูกค่ะ

อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย

         หลายครั้งที่อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในรถยนต์อย่างเข็มขัดนิรภัย หรือถุงลมนิรภัย มักจะถูกมองข้ามการใช้งานไป เพราะคุณแม่อาจจะรู้สึกอึดอัดหากต้องคาดเข็มขัดนิรภัยช่วงตั้งครรภ์ หรือคิดว่าถุงลมนิรภัยอาจกระแทกท้องได้ แต่หากใช้อย่างถูกวิธีแล้ว ก็จะช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้ไม่น้อยเลยค่ะ

         เข็มขัดนิรภัย : ในการขับรถหรือนั่งรถ คุณแม่อาจกลัวว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยจะทำให้อึดอัด หรือรัดหน้าท้องจนเป็นอันตรายต่อทารกได้ แต่ในความเป็นจริง อุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้คุณแม่บาดเจ็บรุนแรงมักจะเกิดจากการไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยค่ะ

         การคาดเข็มขัดนิรภัยที่ถูกต้องในช่วงตั้งครรภ์ จะต้องคาดให้ส่วนบนของเข็มขัดพาดผ่านระหว่างอกพอดีและพาดเลยต่อไปที่ด้านข้างของลำตัว ห้ามพาดผ่านส่วนท้อง ส่วนเข็มขัดส่วนล่างจะต้องพาดผ่านบริเวณส่วนบนของขา (หน้าตัก) ไม่พาดเลยขึ้นไปที่ท้อง โดยให้เข็มขัดพาดยาวจากสะโพกข้างหนึ่งไปยังสะโพกอีกข้าง เนื่องจากบริเวณนี้สามารถรองรับและป้องกันแรงกระแทกจากการชนได้มากที่สุด และอาจใช้หมอนใบเล็กรองที่ท้องส่วนล่างก่อนพาดเข็มขัดเพื่อลดแรงกระแทกและการเสียดสีที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างขับรถ

         ถุงลมนิรภัย : จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ และเพื่อความปลอดภัย คุณแม่ควรปรับเก้าอี้ให้ห่างจากถุงลมนิรภัยประมาณ 10 นิ้ว เพื่อลดการบาดเจ็บจากแรงดันของถุงลมนิรภัย และถึงแม้จะมีถุงลมนิรภัยแต่ก็ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง

แม่ท้องพาลูกเล็กเดินทาง

         การพาลูกที่ยังเล็กอยู่เดินทางโดยรถยนต์ด้วย ไม่ว่าคุณแม่จะกำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ก็ตาม ก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็น 2 เท่า

         นั่งปลอดภัย : คุณแม่ไม่ควรให้ลูกนั่งที่นั่งข้างคนขับ หรืออุ้มลูกไว้บนตักในขณะขับหรือนั่งด้านหน้ารถ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุที่มีแรงปะทะมาก ๆ ยิ่งกอดลูกไว้แน่นก็จะทำให้ลูกกระแทกกับกระจกหน้ารถแรงขึ้น ทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บมากกว่าคุณแม่

         เบาะนั่งสำหรับเด็ก (car seat) : การติดตั้งเบาะนั่งสำหรับเด็กจะช่วยให้คุณแม่ขับรถได้สะดวกขึ้น ควรติดบริเวณเบาะรถด้านหลังซึ่งเป็นบริเวณที่ปลอดภัยที่สุด โดยใช้เข็มขัดนิรภัยของเบาะหลังยึดให้เบาะเด็กติดกับเบาะรถ ในเด็กเล็กควรวางเบาะเด็กให้นั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถ จะช่วยลดแรงกระแทกจากการหยุดรถกะทันหัน หลีกเลี่ยงการติดเบาะนั่งสำหรับเด็กบริเวณเบาะหน้าข้างคนขับ เพราะหากถุงลมนิรภัยทำงานจะดันเบาะเด็กให้กระแทกกับเบาะรถ แรงกระแทกจะทำให้ลูกบาดเจ็บได้

เตรียมพร้อมก่อนขึ้นรถ

         การขับรถยนต์อาจไม่เป็นปัญหาในช่วงตั้งครรภ์ 2 ไตรมาสแรก แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้าย อาจทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดเพราะหน้าท้องที่ใหญ่อยู่ชิดกับพวงมาลัยรถยนต์มาก ดังนั้นคุณแม่จึงควรงดขับรถในช่วงใกล้คลอด และเมื่อมีอาการเวียนหัว ตาพร่า หรือเจ็บครรภ์

         การเตรียมตัวก่อนขึ้นรถ ไม่ว่าคุณแม่จะเป็นคนขับหรือคนนั่งก็ตาม ถ้าเป็นช่วงระหว่างมื้ออาหารควรเตรียมอาหารและน้ำให้พร้อม หารองเท้าที่สวมใส่สบายไว้เปลี่ยนในรถ ถ้ารถติดนาน ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ้างเพื่อป้องกันอาการปวดหลัง หรือเตรียมหมอนหนุนหลัง หมอนรองคอไว้แก้เมื่อย

         ที่สำคัญคือ อย่าขับรถเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะยิ่งความเร็วมากเท่าใด โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ถนนขรุขระ ไม่ราบเรียบ ก็จะช่วยให้การเดินทางของคุณแม่มีความปลอดภัยมากขึ้นค่ะ

         ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการกระแทกเล็กน้อยจากการหยุดรถกะทันหัน การเฉี่ยวชน ที่คุณแม่อาจไม่มีอาการบาดเจ็บใด ๆ ภายนอก แต่ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ตรวจเช็คภายในโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป

เลือก Car seat ให้เหมาะกับวัยของลูก

         ควรเลือกเบาะนั่งที่มีขนาดพอดีกับอายุ น้ำหนักตัวและส่วนสูงของลูก เพื่อให้ลูกนั่งสบาย สายรัดไม่รัดคอลูกให้อึดอัดหรือถูกดึงรั้ง และไม่หลวมเกินไปจนทำให้ลูกหลุดออกจากเบาะนั่งหากเกิดอุบัติเหตุ

         วัยแรกเกิด – 12 เดือน : ควรเลือกเปลในรถ (Infant Car Bed) หรือเบาะนั่งทารก (Baby Seat)  เหมาะสำหรับทารกที่น้ำหนักตัวไม่เกิน 10 กิโลกรัม ซึ่งในทารกที่อายุต่ำกว่า 4 เดือน (ส่วนคอยังไม่แข็ง) ไม่ควรให้นั่งหรือนอนใน baby seat นานเกินไป และควรมีผู้ใหญ่คอยดูแล

         วัย 1 – 4 ปี : ใช้เบาะนั่งเด็กเล็กแบบมีพนักพิงหลัง เหมาะสำหรับเด็กน้ำหนักตัวไม่เกิน 18 กิโลกรัม

         วัย 4 ปีขึ้นไป : หากศีรษะของลูกสูงเกินกว่าเบาะนั่งเด็กเล็ก ให้เปลี่ยนมาใช้เบาะนั่งเด็กโต (เบาะเสริม) แบบมีพนักพิงหลัง หรือหากลูกนั่งตัวตรงได้เองแล้ว อาจใช้เบาะเสริมแบบไม่มีพนักพิง ซึ่งเบาะเสริมจะยกตัวเด็กให้สูงจนสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่ได้พอดี เหมาะสำหรับเด็กน้ำหนักตัว 15 – 25 กิโลกรัม

         เข็มขัดนิรภัย : คาดเข็มขัดนิรภัยให้ลูกทุกครั้ง และควรมีผู้ใหญ่นั่งรถไปกับคุณแม่ด้วยเพื่อช่วยดูแลลูก เตรียมของเล่นที่ลูกชอบให้เล่นระหว่างเดินทาง เพื่อไม่ให้รบกวนการขับรถของคุณแม่ และอย่าให้ลูกอยู่ในรถเพียงลำพังหากคุณแม่ต้องลงจากรถเพื่อไปทำธุระ เด็กสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยของรถได้ เมื่อส่วนสูงประมาณ 150 เซนติเมตร หรืออายุประมาณ 8 ขวบ (ขึ้นอยู่กับความสูงและขนาดตัวของลูก) โดยพิจารณาได้จาก

         เด็กสามารถนั่งตัวตรง หลังพิงพนักได้ตรง

         เข็มขัดนิรภัยของรถ ส่วนบนที่พาดบ่า ต้องพาดผ่านมาตรงส่วนหน้าอก ไม่ใกล้หรือรัดคอ และส่วนล่างจะต้องรัดได้ตรงส่วนกระดูกเชิงกราน ไม่รัดบริเวณท้อง

         เด็กสูงเพียงพอ สามารถนั่งห้อยขาและเข่ากับเบาะนั่งรถได้พอดี

         อุบัติเหตุจากการขับหรือนั่งรถยนต์ เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ หากคุณแม่ไม่ประมาท และไม่มองข้ามความปลอดภัย!

  เรื่องราวผู้หญิง ความสวยความงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

 
 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
       

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แม่ตั้งครรภ์ขับรถยนต์..ปลอดภัยไว้ก่อน อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2552 เวลา 23:26:38
TOP