บีบสิวอันตรายไหม ? ทำอย่างไรให้ถูกวิธี ถ้าไม่อยากเสี่ยงหน้าพัง

          บีบสิวอันตรายไหม ? คำถามคาใจของคนเป็นสิว มาหาคำตอบกันดีกว่าว่า บีบสิว ดีไหม ควรหรือไม่ควรทำ มีความเสี่ยงต่อร่างกายมากแค่ไหน แล้วถ้าอยากบีบสิวเองมีวิธีการอย่างไรไม่ให้หน้าพัง
สิว

          ปัญหาผิวโลกแตกที่เกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย ต้องยกตำแหน่งให้กับ “สิว” ศัตรูตัวร้ายของผิวที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งหากใครเป็นสิวแล้วก็จะทำให้ความมั่นใจลดลงไป จนต้องรีบหาทางกำจัดออก และวิธีที่หลายคนเคยทำก็คือการบีบสิวใช่ไหมล่ะคะ แต่รู้ไหมว่านอกจากจะเป็นการจัดการปัญหาที่ปลายเหตุแล้ว การบีบสิวยังอันตรายกว่าที่คิดอีกด้วย เหมือนที่มีข่าวออกมาบ่อย ๆ โดยเฉพาะการบีบสิวบริเวณสามเหลี่ยมอันตราย เพราะบางทีอาจทำให้ถึงแก่เสียชีวิตได้เลย เมื่อรู้แบบนี้แล้วสาว ๆ คงรู้สึกเข็ดขยาดกับการบีบสิวขึ้นมา แต่ถ้าใครสงสัยว่า บีบสิวอันตรายไหม ? ควรหรือไม่ควรทำกันแน่ สิวแบบไหนที่บีบได้หรือไม่ควรบีบ เรามีคำตอบมาให้แล้ว รวมถึงวิธีบีบสิวที่ถูกต้อง หากอยากรักษาสิวด้วยตัวเองมาฝากกันด้วยค่ะ

สิว

เป็นสิว ควรบีบสิวไหม ?

          หากพูดถึง สิว สำหรับคำแนะนำจากแพทย์ ไม่ควรบีบสิวทุกกรณี โดยเฉพาะสิวอักเสบ เพราะในทางที่ร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายเข้าสู่สมองได้ นอกจากนี้การบีบสิวเม็ดเล็ก ยังอาจทำให้เกิดการอักเสบ เป็นแผล และเกิดแผลเป็นได้ง่าย

บีบสิวอันตรายไหม ?

          การบีบสิว กดสิว หรือเจาะสิวที่ไม่ถูกวิธี แทนที่หัวสิวจะหลุดออก กลับทำให้เชื้อแบคทีเรียยิ่งเข้าลึกไปในผิวหนัง และสิวเกิดการอักเสบเป็นสิวหัวหนองขึ้นมาได้ รวมทั้งมีโอกาสที่สิวจะเพิ่มมากขึ้น เพราะเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปรอบ ๆ แถมทุกครั้งที่เราออกแรงบีบสิว เซลล์ผิวของเราก็จะอ่อนแอลงไปด้วย ส่งผลให้สิวเกิดใหม่ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
 

          ทั้งนี้ การทำความสะอาดมือหรืออุปกรณ์ไม่ดีพอ ยังสามารถทำให้เป็นสิวซ้ำซ้อน และที่น่ากลัวคือการติดเชื้อลุกลามได้ อีกทั้งถ้าเราบีบสิวผิดวิธี หรือกดสิวบ่อย ๆ ก็เสี่ยงใบหน้าช้ำเป็นรอย หรือเกิดแผลเป็นจากสิวและหลุมสิวตามมา ซึ่งรักษาได้ยาก

สิวแบบไหนบีบได้ หรือไม่ควรบีบ

          ถึงแม้ทางแพทย์จะไม่แนะนำให้บีบสิวออกด้วยตัวเอง แต่บางครั้งเราก็อดใจไม่ไหว คันไม้คันมือขอบีบสักหน่อย แต่การบีบสิวใช่ว่าจะได้ผลกับสิวทุกประเภท ก่อนอื่นเราจึงควรรู้ว่าสิวประเภทไหนที่บีบได้หรือไม่ควรบีบ โดยสามารถจำแนกประเภทสิว ได้ดังนี้
สิว

สิวที่บีบ หรือกดได้

  • สิวหัวดำชนิดเปิด
     
  • สิวหัวขาวชนิดเปิด
     
  • สิวหัวหนอง

สิวที่ห้ามบีบหรือกด

  • สิวหัวช้างเม็ดใหญ่ ๆ
     
  • สิวหัวปิด (สิวอุดตันสีขาว) มีอาการบวม ไม่แดง ไม่อักเสบ
     
  • สิวอักเสบหัวแดง ที่ยังไม่เห็นหัว
          สรุปง่าย ๆ ว่าสิวที่เราบีบหรือกดได้คือ “สิวที่เห็นหัวสิวชัดเจน” พร้อมจะหลุดออกมาง่าย ๆ ไม่เหมือนกับสิวที่บีบไม่ได้ คือ “สิวที่ไม่เห็นหัวชัดเจน” เพราะอาจอยู่ลึกจนเกินที่จะบีบออกมา หากฝืนจะกลายเป็นอาการอักเสบ สิวไม่หลุด แถมสร้างรอยแผลให้เราอีก

จุดสำคัญบนใบหน้า ที่ไม่ควรบีบสิว

          นอกจากประเภทของสิวแล้ว บนใบหน้าของเรายังมีบริเวณที่ไม่ควรบีบสิวด้วย เพราะจะส่งผลร้ายแรงมากกว่าที่คิด เช่น เกิดการติดเชื้อลามถึงเส้นประสาท สมอง เกิดอาการบวม อักเสบรุนแรง จะมีจุดไหนบ้าง ตามมาดูกันค่ะ

1. รอบจมูก

          บริวณรอบจมูกมีเยื่อบุต่อเนื่องเข้าไปภายในโพรงจมูก ซึ่งมีหลอดเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก หลอดเลือดดังกล่าวมีผลเสี่ยงติดเชื้อต่อดวงตาและสมองได้

2. รอบดวงตา

          รอบ ๆ ดวงตาเป็นบริเวณที่ถือว่าบอบบางและเสี่ยงติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงอาจพลาดทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อดวงตาได้

3. หน้าผาก

          หน้าผากเป็นส่วนที่ตรงกับศูนย์รวมเส้นประสาท อาจทำให้หน้าบวมและอักเสบได้ง่าย

4. สามเหลี่ยมอันตราย

          จุดสามเหลี่ยนอันตราย คือ ตั้งแต่บริเวณโคนจมูก ลงมาถึงบริเวณมุมปากทั้งสองด้าน เป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดมากมายหล่อเลี้ยงใบหน้าและโพรงจมูก ซึ่งเชื่อมโยงไปยังปอดและด้านหลังของศีรษะ คือบริเวณสมองส่วนท้าย ดังนั้น การบีบสิวบริเวณนี้มีโอกาสเกิดการอักเสบและติดเชื้อโดยตรงไปยังศูนย์ประสาทได้ ทั้งนี้ เคยมีรายงานการพบเคสที่เกิดจากการบีบสิวในจุดสามเหลี่ยมมรณะนี้ ว่าทำให้สูญเสียการมองเห็น เป็นอัมพาตถาวร และบางรายถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว

วิธีบีบสิว ถ้าต้องการบีบสิว ควรทำอย่างไร

          สำหรับการบีบสิวโดยใช้นิ้วมือ 2 นิ้ว หรือใช้เล็บกดไปที่ข้าง ๆ เม็ดสิว นับว่าเป็นวิธีบีบสิวหรือเจาะสิวที่ผิด เพราะจะทำให้ผิวหน้าช้ำดำเป็นบริเวณกว้าง หรือเป็นหลุมได้ อีกทั้งสิวบางเม็ดก็หลุดออกไม่หมด จนเกิดการติดเชื้อแล้วทำให้สิวขึ้นลุกลามไม่หายขาด ดังนั้น ถ้าอยากบีบสิวแบบไม่เสี่ยงหน้าพัง ควรใช้อุปกรณ์แทนการใช้นิ้วหรือเล็บมือ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เป็นสิวอักเสบ
สิว

วิธีกดสิว หรือ วิธีบีบสิวที่ถูกต้อง

1. เตรียมอุปกรณ์

  • ที่กดสิวแบบด้านหนึ่งมีลักษณะเป็นห่วงรูเล็ก ๆ สำหรับกดสิว ส่วนอีกด้านหนึ่งมีลักษณะเป็นปลายแหลมสำหรับใช้เจาะสิว
     
  • น้ำอุ่น
     
  • ผ้าขนหนู
     
  • น้ำเกลือสำหรับล้างแผล
     
  • แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ
     
  • สำลี หรือกระดาษทิชชู
     
  • ถุงมือยางอนามัย

2. ทำความสะอาด

          ล้างมือให้สะอาด ถ้าใส่ถุงมืออนามัยด้วยจะดีมาก จากนั้นทำความสะอาดเครื่องมือด้วยการแช่กับแอลกอฮอล์ก่อนเพื่อฆ่าเชื้อ

3. เปิดรูขุมขน

          ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นวางโปะไว้ที่ใบหน้า ทิ้งไว้สัก 10 นาที ความอุ่นจะทำให้รูขุมขนบนใบหน้าเปิด เพื่อให้การบีบสิวหรือเจาะสิวออกง่ายขึ้น

4. บีบหรือกดสิวออก

          ใช้ที่กดด้านที่เป็นห่วงกดเบา ๆ ทำมุมกับผิว 45 องศา เฉพาะสิวหัวขาว หรือสิวหัวดำที่หัวเปิดเท่านั้น  โดยให้สังเกตมุมของสิว ถ้ากดได้ตรงจะยิ่งทำให้สิวออกง่ายขึ้น ควรกดหัวสิวออกให้หมด เนื่องจากถ้าหัวสิวเม็ดนั้นออกไม่หมดจะทำให้เกิดสิวซ้ำขึ้นมาได้
สิว

5. เจาะสิวหัวดำบางหัว

          ให้ใช้เข็มเจาะบนจุดที่นูนที่สุดบนหัวสิวเบา ๆ และกดด้วยที่กดสิว เมื่อสิวออกแล้วอาจมีเลือดตามมา ให้ซับด้วยลำลีให้เรียบร้อย

6. ล้างแผล

          เมื่อบีบสิวหรือเจาะสิวจนหมดแล้ว ให้ใช้สำลีชุบน้ำเกลือสำหรับล้างแผล เช็ดเบา ๆ ให้ทั่ว โดยเฉพาะบริเวณที่กดสิว เพื่อฆ่าเชื้อและทำความสะอาด จากนั้นใช้ยาทารักษาสิวแต้มบริเวณสิวหัวอักเสบจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

วิธีดูแลหลังบีบสิว

          แผลหลังบีบหรือกดสิวมักจะมีอาการบวมแดง ให้ใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการบวม เวลาล้างหน้าและเช็ดหน้าให้ทำอย่างเบามือที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจทาครีมลดรอยแดง หรือไม่ทาก็ได้ เพราะแผลประเภทนี้สามารถหายเองได้ตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถดูวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่ (5 วิธีดูแลผิวไม่ให้หน้าเยิน หลังเผลอบีบสิว)
 

          อย่างไรก็ตาม หากเป็นสิวมาก ๆ ควรรักษาที่ต้นเหตุและใช้ยาควบคู่กันไป แต่ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองนะคะ ทางที่ดีให้ปรึกษาคุณหมอผิวหนังจะดีกว่า และอย่าลืมหันมาดูแลตัวเอง รักษาความสะอาดของใบหน้า พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้สิวหายแบบไม่กลับมากวนใจแล้วล่ะค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : chulalongkornhospital.go.th, medicalnewstoday.com, aad.org, pandermacare.com, tanapornclinic.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บีบสิวอันตรายไหม ? ทำอย่างไรให้ถูกวิธี ถ้าไม่อยากเสี่ยงหน้าพัง อัปเดตล่าสุด 29 พฤศจิกายน 2564 เวลา 17:11:09 47,103 อ่าน
TOP
x close