หลาย ๆ คนคงได้มีโอกาสเห็นคลิปสุดซึ้งของคุณโอปอล์ ปาณิสรา ที่บอกเล่าเรื่องราวการปกป้องลูกน้อยเมื่อเธอรู้ตัวว่าต้องคลอดในขณะที่อายุครรภ์เพียง 23 สัปดาห์ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คุณโอปอล์ได้เรียนรู้ว่าการป้องกันนั้น สำคัญกว่าการแก้ไข
นอกจากนี้ในคลิปนั้น ยังได้มีการกล่าวถึงโรค "ไอพีดี" ซึ่งหลายๆคนอาจจะยังสงสัยว่ามันคืออะไร อันตรายกับลูกน้อยของเราอย่างไร และเราจะป้องกันได้อย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลจากคุณหมอมาฝากกันค่ะ
พ.ญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด
มารู้จักโรคไอพีดี
โรคไอพีดี (IPD, Invasive Pneumococcal Disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ชนิดรุนแรงและแพร่กระจาย ประกอบด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, โรคติดเชื้อในกระแสเลือด, โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม หรือทำให้เป็นโรคที่พบบ่อยกว่าไอพีดีแต่ไม่รุนแรง เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก), โรคไซนัสอักเสบ, โรคคออักเสบบางครั้งแม้เป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงในเบื้องต้น แต่ถ้ารักษาไม่ถูกต้อง เชื้ออาจลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงและสมองได้
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ แต่จะพบบ่อยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูง หรือเมื่อรักษาหายอาจมีผลแทรกซ้อนตามมาภายหลัง เช่น อาจมีความผิดปกติของระบบประสาท, การได้ยินบกพร่อง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก โดยอุบัติการณ์ของการเกิดโรคไอพีดี (IPD) ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเป็น 11.7 ต่อแสนประชากร1
การติดต่อ
เชื้อนิวโมคอคคัสมักพบอาศัยอยู่ในโพรงจมูกหรือคอของคนทั่วไป ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ขึ้นกับอายุและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ตรวจพบเชื้อได้ในสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ โดยที่ผู้ที่เป็นพาหะจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ผู้เป็นพาหะจะแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยการ ไอ จาม การเอาของเล่นเข้าปาก การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำถ้วยเดียวกัน ซึ่งเป็นการแพร่กระจายในลักษณะเดียวกับโรคหวัด ฉะนั้นเด็กเล็กที่ไม่มีภูมิต้านทานก็จะติดเชื้อได้ง่าย
อาการของโรค
ตัวอย่างโรคที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งอาจก่อโรคได้ทั้งแบบชนิดรุนแรง (ไอพีดี) และแบบไม่รุนแรง เช่น
1. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ซึมลง อาเจียน คอแข็ง ส่วนในเด็กทารกจะมีไข้สูง ซึม ร้องกวนงอแง กระหม่อมโป่งตึง โคม่าไม่รู้สึกตัว ชักและอาจเสียชีวิตได้ ถ้าไม่เสียชีวิตก็อาจมีความผิดปกติของระบบประสาท เช่น หูหนวก ระดับสติปัญญาต่ำ แขนขาเกร็ง เป็นโรคลมชัก เนื่องจากสมองถูกทำลาย การวินิจฉัยโรคนี้ต้องมีการตรวจเพาะเชื้อจากการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง
2. โรคติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีอาการไข้สูง ซึมลง ร้องกวนงอแง ความดันโลหิตต่ำหรือช็อค และเสียชีวิตถึง 20%2เชื้อจากกระแสเลือดอาจกระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
3. โรคปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ และเหนื่อยหอบ ถ้ารุนแรงมากอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากภาวะการหายใจล้มเหลว เสียชีวิตได้ 5-7%3 และมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เชื้อจากปอดเข้ากระแสเลือด ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากขึ้น ภาวะหนองที่ช่องปอด ภาวะปอดแฟบ เป็นฝีในปอด ทำให้ต้องผ่าตัดระบายหนองหรือตัดเนื้อปอดที่เสียหาย หรืออุดตันซึ่งถ้าทิ้งไว้จะเป็นแหล่งของเชื้อโรค ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจที่อยู่ใกล้กับปอดอักเสบติดเชื้อ ทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติอาการปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสมักมีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ป่วยอาการทรุดหนักได้ภายใน 2-3 วัน บางรายก็อาการไม่ดีขึ้นทั้ง ๆ ที่ให้ยาฆ่าเชื้อไปแล้ว แต่เป็นเพราะเชื้อดื้อยา
4. โรคหูชั้นกลางอักเสบ เด็กจะมีอาการไข้สูง บ่นปวดหู งอแง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การติดเชื้ออาจลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียงหรือสมองได้ และสามารถเกิดหูน้ำหนวกเรื้อรัง แก้วหูทะลุ การได้ยินบกพร่อง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการด้านภาษาของเด็กด้วย
โรคไอพีดีรักษาได้อย่างไร
การติดเชื้อนิวโมคอคคัส สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง เช่น คออักเสบ หูน้ำหนวก หรือไซนัสอักเสบ สามารถให้ในรูปแบบยารับประทานได้ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อไอพีดี จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะโรคจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือเกิดความพิการทางสมอง ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยใน บางครั้งต้องรักษาในไอซียู ต้องได้รับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดพร้อมกับการรักษาอาการที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาการหายใจล้มเหลวขาดออกซิเจน ทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ยากันชัก ยาเพิ่มความดันโลหิต เป็นต้น
เด็กกลุ่มไหนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้
1. เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่ภูมิต้านทานยังพัฒนาไม่เต็มที่เมื่อติดเชื้อมักจะมีอาการรุนแรง
2. เด็กทุกช่วงอายุที่มีภาวะต่อไปนี้
- เด็กฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงขึ้นถึง 2-3 เท่า3
- โรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคหอบหืด โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โรคเลือด sickle cell disease*
- เด็กที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานไม่ดี*
- ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง* เช่น ติดเชื้อเอชไอวี* โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เด็กที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ต้องได้ยาสเตียรอยด์ ยาเคมีบำบัด เป็นต้น
- เด็กที่มีน้ำไขสันหลังรั่วหรือได้รับการผ่าตัดใส่วัสดุเทียมของหูชั้นใน
*ภาวะเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อนี้สูงกว่าเด็กปกติในช่วงอายุเดียวกันถึง 50 เท่า3
ข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการป้องกันโรคไอพีดีในเด็ก
1. สอนให้เด็กมีสุขภาพอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อย ๆ และปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่จาม หรือไอ
2. สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงการสัมผัส กับคนที่เป็นไข้หวัดหรือป่วย
3. ให้ลูกกินนมแม่ซึ่งมีภูมิต้านทานโรค ใครให้ลูกกินนมแม่อยู่ให้กินต่อเนื่องไปนาน ๆ
4. กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
5. หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และการพาเด็กไปในที่ ๆ มีผู้คนแออัด
6. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม โดยสามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
1.Rhodes J, Dejsirilert S, Maloney SA, Jorakate P, Kaewpan A, Salika P, et al. Pneumococcal Bacteremia Requiring Hospitalization in Rural Thailand: An update on incidence, Clinical Characteristics, Serotype Distribution, and Atimicrobial Susceptibility, 2005-2010. PLoS One. 2013;8:e66038.
2.World Health Organization. Pneumococcal vaccines WHO position paper 2012. Wkly Epidemiological Rec 2012; 14: 129-144.
3.Centers for Disease Control and Prevention. Epidemiology and Prevention of Vaccine-Preventable Diseases. Hamborsky J, Kroger A, Wolfe S, eds. 13th ed. Washington DC: Public Health Foundation; 2015.
บทความโดย
พ.ญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด
PP-PNP-THA-0023