วิจัยชี้ พ่อกินอะไร ลูกเป็นอย่างนั้น

พ่อลูก


พ่อกินอะไร ลูกเป็นอย่างนั้น (ไทยโพสต์)

         มีประโยคยอดฮิตในโลกตะวันตกว่า เรากินอะไร เราก็เป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้ต้องเพิ่มประโยคใหม่เข้าไปด้วยว่า พ่อเรากินอะไร (ก่อนที่เราจะเกิด) เราก็เป็นแบบนั้น 

         ข้างต้นคืนผลการวิจัยชิ้นใหม่ที่บ่งชี้ว่า สิ่งที่พ่อของเรากินกระทั่งเติบใหญ่ขึ้นมานั้นสามารถกระทบถึงสุขภาพของเราในอนาคตด้วย ไม่น่าก็ต้องเชื่อ นักวิจัยได้ค้นพบว่า รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้เป็นพ่อนั้นสามารถส่งผ่านมายังลูกๆ เพราะสิ่งนั้นได้ "แก้โปรแกรม" ยีนของเขา

         การศึกษาเผยให้เห็นว่า ผลกระทบทางพันธุกรรมของกระบวนการ "เหนือพันธุกรรม" (epigenetics) ที่ซึ่งสภาพแวดล้อมและรูปแบบการใช้ชีวิตสามารถเปลี่ยนแปรยีนของเราได้อย่างถาวรเมื่อเราเติบโตขึ้น การผันแปรของยีนที่ว่านี้ยังสามารถส่งผ่านไปยังลูกหลานได้ด้วย นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการเจาะจงศึกษาผลกระทบจากการกินอาหารของฝ่ายพ่อ โดยดูว่าจะมีอิทธิพลต่อความเสี่ยงในการพัฒนาโรคซับซ้อน เช่น เบาหวานและโรคหัวใจของลูกๆ หรือไม่

         ศาสตราจารย์โอลิเวอร์ แรนโด จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ กล่าวว่า งานวิจัยของเขาจะช่วยระบุได้ว่าบุคคลใดมีความเสี่ยงสูงต่อโรค เช่น หัวใจและเบาหวาน "การได้รู้ว่าพ่อแม่ของคุณทำอะไรก่อนที่คุณจะปฏิสนธิกลายเป็นเรื่องสำคัญที่จะตัดสินว่าคุณอาจมีปัจจัยเสี่ยงของโรคชนิดใด"

         เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาแพทย์มักมองพฤติกรรมของผู้ป่วยและยีนของพวกเขาเพื่อประเมินความเสี่ยง ถ้าผู้ป่วยสูบบุหรี่ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นมะเร็ง หรือถ้าครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ คนคนนั้นก็อาจได้ยีนที่เพิ่มความอ่อนไหวต่อโรคนี้ "แต่คนเราเป็นมากกว่ายีนและพฤติกรรมของเรา" ศาสตราจารย์แรนโดกล่าว "การรับรู้ว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมชนิดใดที่พ่อแม่ของเราผ่านพ้นมาก็มีความสำคัญเช่นกัน"

         ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าการสืบทอดเหนือพันธุกรรม ที่ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในการแสดงออกของยีนซึ่งไม่ได้เกิดจากการการเปลี่ยนแปลงของลำดับดีเอ็นเอที่ซ่อนเร้นอยู่ ได้ถูกส่งผ่านจากพ่อหรือแม่มายังลูกด้วย และอาจเกี่ยวพันไปถึงโรคภัยไข้เจ็บของลูก

         นักวิจัยทดลองด้วยการให้อาหารหนูตัวผู้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับอาหารตามเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป ส่วนกลุ่มที่สองได้อาหารโปรตีนต่ำ ขณะที่หนูตัวเมียทุกตัวถูกเลี้ยงด้วยอาหารตามมาตรฐานเหมือนกันหมด พวกเขาสังเกตเห็นว่า ลูกของหนูที่กินอาหารโปรตีนต่ำมียีนที่รับหน้าที่สังเคราะห์คอเลสเตอรอลและลิพิดเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดเมื่อเทียบกับลูกหนูในกลุ่มควบคุมที่เลี้ยงด้วยอาหารตามมาตรฐาน ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเป็นโรคหัวใจ

         การศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้ชี้แนะว่า ครรลองชีวิตของผู้เป็นพ่อสามารถส่งผลด้านพันธุกรรมกับลูกๆ แต่เราก็ไม่อาจตัดปัจจัยด้านเศรษฐกิจสังคมเช่นกัน  "การศึกษาของเริ่มด้วยการตัดความเป็นไปได้ที่ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ หรือความแตกต่างในลำดับดีเอ็นเอ อาจส่งผลต่อสิ่งที่เป็นอยู่" ศาสตราจารย์แรนโดร่ายต่อ "และมันทำให้การสืบทอดเหนือพันธุกรรมกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของยีนอย่างชัดเจน"

         กระนั้นก็ดี ศาสตราจารย์แรนโดบอกว่า เรายังไม่รู้แน่ว่าทำไมยีนเหล่านี้จึงถูกปรับแก้ หรือข้อมูลเหล่านี้ส่งผ่านมายังรุ่นต่อไปได้อย่างไร "มันสอดคล้องกับความคิดที่ว่า เมื่อพ่อแม่หิว สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกคือกักตุนแคลอรีไว้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นประโยชน์ในบริบทของการกินอาหารโปรตีนต่ำหรือไม่"






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิจัยชี้ พ่อกินอะไร ลูกเป็นอย่างนั้น อัปเดตล่าสุด 30 ธันวาคม 2553 เวลา 14:42:39
TOP
x close