หาน เชี่ยวหนี หญิงจีนคนสุดท้ายที่มีเท้ากลีบบัว





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ifeomaben.blogspot.com

          "การมัดเท้า" หรือที่เรียกว่า "เท้ากลีบบัว" เป็นประเพณีโบราณของจีนตั้งแต่สมัยร้อยกว่าปีที่แล้ว ที่นิยมมัดเท้าผู้หญิงให้มีขนาดเล็กกระจิริด ด้วยเชื่อกันว่าสาวที่มีเท้าเล็กและห่อเป็นรูปดอกบัว ถือเป็นหญิงงามและจะได้ครองคู่กับชายที่ร่ำรวย ทำให้กว่าครึ่งหนึ่งของหญิงที่เกิดในยุคต้นศตวรรษที่ 19 ต่างถูกมัดเท้า เพื่ออนาคตภายภาคหน้าที่จะสุขสบาย

           อย่างไรก็ดี บัดนี้ประเพณีการมัดเท้าได้หายไปจากสังคมจีนแล้ว แต่ก็ยังเหลือหลักฐานหลายอย่าง ทั้งรูปถ่าย รองเท้า บันทึก เรื่องเล่าในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น ที่บ่งบอกว่าครั้งหนึ่งการมัดเท้านั้นเคยเป็นที่นิยมมากขนาดไหน และหลักฐานอย่างสุดท้ายที่ยังมีลมหายใจ ก็คือคุณยายหาน เชี่ยวหนี่ วัย 102 ปี ที่ยังคงใส่รองเท้าคู่เล็กประหนึ่งรองเท้าตุ๊กตาจำลอง กับเท้าที่ถูกดัดจนงอหักเป็นดั่งรูป "ดอกบัวทอง" อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ของยายเห็นว่ามันสวยนักสวยหนาในสมัยก่อนหน้านั้น

          รายงานจากเว็บไซต์เดลี่เมล วันที่ 23 กันยายน เปิดเผยภาพของคุณยายหาน พร้อมการบอกเล่าเรื่องราวประเพณีการมัดเท้าที่คุณยายประสบมากับตัว โดยคุณยายหานถูกที่บ้านมัดดัดเท้าตั้งแต่อายุเพียง 2 ขวบเท่านั้น ซึ่งในตอนนั้นยิ่งดัดเท้าตั้งแต่ลูกสาวยังอายุน้อย ๆ ก็จะยิ่งได้เปรียบ เพราะเท้าเด็กยังอ่อนจึงดัดง่าย และสามารถจำกัดการเติบโตของเท้าได้ดีกว่า โดยเท้าถูกดัดแล้วที่มีขนาด 3-4 นิ้ว นับว่าเป็นสุดยอดปรารถนา ตรงกับคุณสมบัติหญิงงามที่เท้าเล็กสวยดั่งดอกบัวทอง โดยเท้าที่มีขนาดสามนิ้ว หรือ "ซาน ชุน จิน เหลียน" นับว่าดีที่สุด ส่วนที่มีขนาดสี่นิ้วก็สวยลดหลั่นลงมา โดยนับเป็นดอกบัวเงิน คุณยายหานเล่าต่อไปว่า เท่าที่จำความได้เธอใช้เวลาอยู่ถึง 6 เดือน กว่าจะเริ่มเดินได้ และชินชากับความเจ็บปวด

          มีหลักฐานบันทึกถึงที่มาของประเพณีนี้ว่า จักรพรรดิหลี่อวี้ แห่งราชวงศ์ถัง ซึ่งปกครองในช่วง ค.ศ. 961-975 ตกหลุมรักนางรำผู้หนึ่งที่ใช้ผ้าพันเท้าเธอไว้จนดูคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยว และขึ้นแสดงร่ายรำในชุด "ดอกบัวทอง" หลังจากรัชสมัยของจักรพรรดิหลี่อวี้แล้ว การรัดเท้าจึงกลายเป็นที่นิยมไปทั่ว นอกจากนี้ในตำรากามา ของราชวงศ์ชิง ยังมีภาพกระบวนท่าร่วมรักถึง 48 ท่า ที่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายหญิงมีเท้ารูปกลีบบัว เป็นหลักฐานอีกหนึ่งชิ้นที่บ่งว่า อาจมีความเชื่อเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีนี้ด้วย โดยเชื่อว่าหญิงผูมีเท้ารูปกลีบบัวจะสามารถบำเรอสามีของตนได้ดีกว่า

          โดยทั่วไปการมัดเท้า หรือ การทำเท้ากลีบดอกบัว จะเริ่มเมื่อเด็กหญิงมีอายุ 4-7 ปี ซึ่งกระดูกเท้ายังไม่แข็ง โดยจะแช่เท้าในน้ำยาพิเศษจากสมุนไพรผสมกับเลือดสัตว์เพื่อให้เท้าอ่อนตัว ตัดเล็บเท้าให้กุดสั้น และหักนิ้วเท้าสี่ยกเว้นหัวแม่เท้าแล้วดัดให้งอพับลงมากับฝ่ายเท้า และใช้ผ้าแถบผืนยาวรัดพันไว้ ผ้านี้จะอนุญาตให้แกะออกได้ทุก ๆ 1-2 วัน เพื่อล้างทำความสะอาดเท้า ก่อนจะถูกพันรัดเข้าไปใหม่และแน่นกว่าเดิม บีบให้เท้าไม่เจริญขึ้นอีก หลายครั้งที่เด็กหญิงถูกบังคับให้เดินในระยะไกล ๆ เพื่อให้น้ำหนักตัวของเธอช่วยกดเท้าให้เข้ารูปได้ง่ายขึ้น
 
          อย่างไรก็ดี กระดูกเท้าที่ถูกหักเพื่อจับดัดจะยังแตกหักอยู่เช่นนั้นเป็นปี ๆ กว่าที่ร่างกายจะค่อย ๆ สมานให้หาย แต่กระนั้นหญิงจีนก็ยังประสบปัญหานิ้วเท้าอักเสบอันเกิดจากอาการเล็บขบ เพราะเล็บที่งอกขึ้นใหม่ถูกปิดกั้นจึงงอกทิ่มลงในเนื้อทำให้อักเสบเจ็บปวด บางรายถึงกับต้องถอดเล็บนิ้วเท้าทั้งหมดออกไปก็มี ทั้งการมัดเท้าจนเล็กเพียงนี้ยังทำให้การทรงตัวของพวกเธอไม่ดี หากกำลังนั่ง สตรีผู้มีเท้ากลีบบัวจะลุกขึ้นยืนได้อย่างยากลำบาก และเสี่ยงทำให้พวกเธอล้ม ยังมาซึ่งอาการบาดเจ็บหรือหักของกระดูกสะโพกและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้โดยง่าย

          ประเพณีการดัดเท้าเป็นกลีบบัวยังคงได้รับความนิยมเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 1874 มีการเคลื่อนไหวต่อต้านเท้ากลีบบัวเป็นครั้งแรก โดยสตรีคริสเตียนผู้หนึ่ง ในปี 1912 หลังการสิ้นสุดของราชวงศ์ชิง รัฐบาลจึงออกกฎห้ามรัดเท้าอย่างเด็ดขาด และบังคับใช้อย่างจริงจังจนมันหายแทบสาบสูญไปในปี 1949 เมื่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์บังคับห้ามการดัดรัดเท้าอย่างเข้มข้น เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ

          หากมองในแง่ประเพณีก็ไม่อาจเถียงได้ว่าการรัดเท้าคือสิ่งที่คนในสังคมสมัยนั้นเห็นว่าสมควรทำและเป็นเรื่องดีงาม แต่หากมองอย่างตีความลึก ๆ ลงไป นี่ก็ไม่ต่างอะไรกับการทรมานผู้หญิง และกดบังคับให้ชีวิตเธอต้องขึ้นอยู่กับเพศตรงข้าม ซึ่งมีอิทธิพลกับผู้หญิงนับตั้งแต่วันแรกที่เกิดจวบจนกระทั่งวันตาย และแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป เท้าที่ถูกบีบรัดจนผิดรูปนี้ก็ไม่อาจกลับคืรสู่สภาพเดิมได้ กลายเป็นหลักฐานที่ติดอยู่กับตัว และยังคงส่งผลกับการใช้ชีวิตต่อไป อย่างน้อยก็ในทุก ๆ ย่างก้าวที่เดิน...


















เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หาน เชี่ยวหนี หญิงจีนคนสุดท้ายที่มีเท้ากลีบบัว อัปเดตล่าสุด 24 กันยายน 2556 เวลา 22:09:53 12,668 อ่าน
TOP
x close