ทำอย่างไรเมื่อ ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (modernmom)
ภายหลังตั้งครรภ์ไปได้ระยะหนึ่ง คุณแม่บางคนก็อาจจะมีอาการปวดท้องและมีเลือดออกทางช่องคลอด แต่สีเลือดที่ออกมาไม่ใช่สีแดงสด แต่กลับเป็นสีน้ำตาลคล้ำ เหมือนเลือดเก่า บางรายก็มีเม็ดใสๆ คล้ายเม็ดสาคูปนออกมาด้วย เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอแจ้งให้ทราบว่าคุณแม่มีการแท้ง แต่เป็นการแท้งที่เรียกว่า "แท้งไข่ปลาอุก" คุณแม่หลายคนฟังแล้วอาจจะงุนงงว่าเป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และอันตรายไหม ลองมาดูตัวอย่างคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกกันดูนะครับ
Case1
คุณสุดดา อายุ 28 ปี ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ 3 การตั้งครรภ์ 2 ครั้งที่ผ่านมาปกติ แต่ครรภ์นี้คุณสุดา ยังไม่ได้ไปฝากครรภ์ จนเมื่อขาดประจำเดือนประมาณ 4 เดือน และเริ่มมีเลือดอกทางช่องคลอดเป็นเลือดเก่า ๆ ร่วมกับมีชิ้นเนื้อเป็นเม็ดใส ๆ คล้ายเม็ดสาคูปนออกมาจึงไปพบคุณหมอ ผลการตรวจพบว่า เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวเด็ก จากการดูด้วยอัลตร้าซาวนด์เห็นเป็นเม็ดๆ คล้ายเม็ดสาคูกระจายเต็มโพรงมดลูก คุณหมอให้การวินิจฉัยว่ามีการตั้งครรภ์ผิดปกติที่เรียกว่า "การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก" จึงรักษาด้วยการใช้เครื่องมือดูดและขูดเอาชิ้นเนื้อที่อยู่ในโพรงมดลูกออก ผลการรักษาปกติ คุณหมอจึงอนุญาตให้กลับบ้านและนัดตรวจทุกสัปดาห์ เพื่อเจาะเลือดตรวจดูปริมาณฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ของแต่ละสัปดาห์ว่ามีระดับลดลงตามที่ควรจะเป็นหรือไม่ ภายหลังการตรวจติดตามพบว่าปริมาณฮอร์โมนดังกล่าวลงสู่ระดับปกติในเวลาประมาณ 8 สัปดาห์ คุณหมอจึงแนะนำให้คุณสุดามารับการตรวจติดตามห่างออก แต่แนะนำให้คุมกำเนิดไว้อย่างน้อย 1 ปี
อะไรคือครรภ์ไข่ปลาอุก
ตามปกติภายหลังจากการผสมกันระหว่างไข่กับเชื้ออสุจิ จะมีตัวอ่อนเกิดขึ้นตัวอ่อนนี้จะมีการพัฒนาต่อไป โดยส่วนหนึ่งจะพัฒนาไปเป็นตัวเด็ก อีกส่วนหนึ่งพัฒนาไปเป็นรก จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า การตั้งครรภ์ของคุณแม่บางรายไม่เป็นเช่นนั้น เซลล์ส่วนที่จะเป็นรกมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เซลล์ส่วนที่จะกลายเป็นตัวทารกกลับตายไป ผลดังกล่าวทำให้การตั้งครรภ์ไม่มีตัวทารกมีแต่ส่วนที่เป็นรก และรกนั้นสามารถสร้างน้ำขึ้นมาอย่างมากมาย ทำให้มองเห็นเป็นเม็ดใส ๆ คล้ายเม็ดสาคู คนสมัยก่อนมองดูแล้ว บอกว่าเหมือนกับไข่ของปลาอุก จึงเรียกการตั้งครรภ์แบบนี้ว่า การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
ตัวปลาอุกจริง ๆ รูปร่างเป็นอย่างไรผมก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน แต่ตามพจนานุกรมบอกว่าเป็นปลาในกลุ่มปลากด สำหรับคนในประเทศทางตะวันตกมองว่า เม็ดใสของรกเหมือนกับพวงองุ่นจึงเรียกการตั้งครรภ์แบบนี้ว่า การตั้งครรภ์พวงองุ่น (Molar Pregnancy) มีความพยายามหาสาเหตุของการตั้งครรภ์แบบนี้มานานแล้ว บางคนเชื่อว่าน่าจะเกิดจากกรรมพันธุ์ บางคนก็ว่าน่าจะเกิดจากการขาดสารอาหารบางอย่าง บางคนก็ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนบางชนิดผิดปกติ สรุปก็คือยังไม่ทราบครับ
รู้ได้อย่างไร ว่าตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ๆ คุณแม่ก็จะมีอาการเหมือนการตั้งครรภ์ตามปกติ เช่น ขาดประจำเดือน คัดตึงเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น แต่เมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปสักระยะหนึ่ง ก็จะมีเลือดสีน้ำตาลหรือสีแดงคล้ำไหลออก ๆ หยุด ๆ ทางช่องคลอด ถ้ามีอาการเพียงเท่านี้ คุณหมออาจให้การวินิจฉัยว่าเป็นการแท้งบุตรได้
ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ไปอีกระยะหนึ่ง ก็จะมีอาการแสดงที่แตกต่างไปจากการตั้งครรภ์ และการแท้งบุตรตามปกติหลายประการ เช่น อาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย
เลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น บางรายอาจมีเม็ดใสๆ คล้ายไข่ปลาอุกออกมาด้วย
อาการแพ้ท้อง มักจะเป็นมากกว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ตามปกติหลายเท่า
คุณแม่บางรายอาจมีอาการมือสั่น ใจสั่น ซึ่งเป็นอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย
คุณแม่บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะแขนขาบวม วัดความดันโลหิตพบว่าสูง ซึ่งทั้งหมดเป็นอาการของครรภ์เป็นพิษ
วินิจฉัยและรักษาครรภ์ไข่ปลาอุก
การวินิจฉัยทำได้ง่ายมาก อาศัยเพียงการตรวจร่างกายและการตรวจด้วยอัลตร้าซาวนด์ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้แล้ว การตรวจทางหน้าท้องมักจะพบมดลูกมีขนาดใหญ่กว่าอายุครรภ์ ส่วนการตรวจด้วยอัลตร้าซาวนด์จะเห็นภาพในโพรงมดลูกมีลักษณะคล้ายพายุหิมะ (Snow Storm Appearance) ซึ่งเป็นลักษณะค่อนข้างเฉพาะของโรคนี้ ภายหลังให้การวินิจฉัยแล้ว คุณหมอจะรีบยุติการตั้งครรภ์ให้สิ้นสุดลงโดยเร็ว เพราะหากทิ้งไว้นาน คุณแม่อาจได้รับอันตรายจากการเสียเลือดเรื้อรัง หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้ท้องมาก หรือจากโรคไทรอยด์เป็นพิษและครรภ์เป็นพิษที่พบร่วมด้วย
วิธียุติการตั้งครรภ์ทำได้ 2 หลักใหญ่ ๆ คือ ขูดมดลูกโดยใช้เครื่องดูดหรือตัดมดลูกการจะเลือกใช้วิธีไหนต้องดูตามความเหมาะสม ถ้าคุณแม่มีอายุมากและมีลูกเพียงพอแล้ว การตัดมดลูกจะเป็นประโยชน์กว่า แต่หากคุณแม่อายุยังน้อยและยังต้องการมีลูกอีก คุณหมอก็มักจะแนะนำให้ขูดมดลูกโดยการใช้เครื่องดูดออก
ระวังหลังตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
การรักษาการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ไม่จบง่ายเหมือนกับการรักษาการแท้งบุตรหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก เพราะแม้จะให้การรักษาโดยการขูดมดลูกหรือตัดมดลูกเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะหายขาดจากโรคนี้เลย มีคุณแม่บางคน ประมาณร้อยละ 10 ที่โรคไม่ยอมหาย แต่กลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกตามมา ซึ่งถ้ารักษาไม่ดีอาจทำให้เสียชีวิตได้
โรคมะเร็งที่ว่านี้มักจะเกิดภายในระยะเวลา 1 ปี ภายหลังการรักษาการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ดังนั้นคุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกจึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามโดยคุณหมออย่างใกล้ชิด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี การตรวจติดตามจะทำโดยการตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ซึ่งย่อมมาจากคำว่า Human Chorionic Gonadotrophin) เป็นระยะ ๆ เพราะฮอร์โมนตัวนี้สร้างมาจากเซลล์ของตัวโรคครรภ์ไข่ปลาอุก และถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด
ถ้าตรวจฮอร์โมนตัวนี้เป็นระยะ ๆ แล้ว พบว่าระดับลดลงเรื่อย ๆ จนหมดไปตามเวลาที่ผ่านไป แสดงว่าการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกของคุณแม่น่าจะสิ้นสุดลงในที่สุด แต่ถ้าภายหลังการตรวจระดับฮอร์โมนตัวนี้ไประยะหนึ่งแล้วพบว่า ระดับฮอร์โมนไม่ลดลงหรือลดลงแล้วกลับสูงขึ้นมาใหม่ ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็เป็นเรื่องครับ โรคครรภ์ไข่ปลาอุกของคุณแม่อาจกลับขึ้นมาใหม่ หรือกลายเป็นโรคมะเร็งไข่ปลาอุกไปแล้วก็ได้ ซึ่งคุณหมอจะต้องรีบให้การรักษาโดยด่วนที่สุด
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ขณะที่รับการตรวจติดตามอยู่นี้ คุณแม่จะต้องคุมกำเนิดให้ดี ไม่ให้มีการตั้งครรภ์ เนื่องจากถ้ามีการตั้งครรภ์จะมีการสร้างฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนตัวเดียวกับฮอร์โมนที่สร้างจากมะเร็งไข่ปลาอุก จะทำให้สับสนว่าฮอร์โมนที่ตรวจได้ขณะตรวจติดตามเกิดจากการตั้งครรภ์ หรือเกิดจากโรคมะเร็งไข่ปลาอุกกันแน่ เลยไม่แน่ใจว่าจะดูแลรักษาอย่างไรกันดี
ขอให้คุณแม่ทุกท่านโชคดี ตั้งครรภ์โดยปราศจากครรภ์ไข่ปลาอุกนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.15 No.177 กรกฎาคม 2553