Thailand Web Stat

ประวัติ ผ่องศรี วรนุช ราชินีลูกทุ่ง ตำนานเสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย ก่อนจากไปในวัย 85

           ประวัติ ผ่องศรี วรนุช ราชินีลูกทุ่ง ศิลปินแห่งชาติ  เจ้าของตำนานเสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย ก่อนจากไปอย่างสงบในวัย 85

ภาพจาก เฟซบุ๊ก กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม

           วันที่ 6 เมษายน 2568 วงการเพลงไทยสูญเสียศิลปินแห่งชาติ ผ่องศรี วรนุช เจ้าของฉายาราชินีลูกทุ่งคนแรก ถึงแก่กรรมในวัย 85 ปี ภายหลังจากล้มป่วยด้วยโรคปอด และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ระยะหนึ่ง โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา อาการดีขึ้นจนสามารถกลับบ้านได้ กระทั่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านอาการได้ทรุดลง และจากไปอย่างสงบ ท่ามกลางความโศกเศร้าของครอบครัว รวมไปถึงแฟนคลับที่ร่วมอาลัย
ประวัติ ผ่องศรี วรนุช คือใคร
           ผ่องศรี วรนุช เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2482 ที่จังหวัดชัยนาท เมื่ออายุ 16 ปี ได้เริ่มต้นร้องเพลงจากที่ได้ไปอยู่ละครเร่คณะของหนู สุวรรณประกาศ ละครเร่ชื่อดังจากเพชรบุรี ในปี 2498 โดยได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงหัวใจไม่มีใครครอง ซึ่งเป็นเพลงแรกในชีวิต และโด่งดังสูงสุด หลังจากได้ร่วมงานกับวงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ โดยได้ร้องเพลงไหนว่าไม่ลืม เพลงแก้ของ สุรพล สมบัติเจริญ จนกลายเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว

ผ่องศรี วรนุช ผลงาน
           ในปี 2502 ผ่องศรี วรนุช เริ่มเข้าสู่วงการ มีผลงานอย่างเป็นทางการ โดยได้ร้องเพลงไหนว่าไม่ลืม เพลงแก้ของ สุรพล สมบัติเจริญ จนกลายเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว จากนั้นได้มีผลงานอย่างต่อเนื่อง และมีเพลงฮิตมากมาย อาทิ สาวเหนือเบื่อรัก, ฝนหนาวสาวครวญ, กอดหมอนนอนหนาว, น้ำตาเมียหลวง, ฝากดิน, บาร์หัวใจ, กินข้าวกับน้ำพริก, จันทร์อ้อน, ภูเก็ต และ ด่วนพิสวาส ซึ่งมีท่อนฮิตติดหูคือ "เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย" และกลายมาเป็นตำนานจนทุกวันนี้

ภาพจาก เฟซบุ๊ก กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม

ผ่องศรี วรนุช รางวัลในชีวิต

           ผ่องศรี วรนุช ได้ชื่อว่าเป็นราชินีลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทย ด้วยน้ำเสียงโทนสูงที่เป็นเอกลักษณ์ ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ 2 ครั้ง จากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

           ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ 3 ปีซ้อน จากเพลง กินข้าวกับน้ำพริก, เขามาทุกวัน และ จันทร์อ้อน และได้รับรางวัลพระราชทานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย 2 ครั้ง

           ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เพลงไทยลูกทุ่ง-ขับร้อง ปี 2535

           ในช่วงชีวิตของ ชีวิตผ่องศรี วรนุช ได้ช่วยกิจกรรมงานการกุศลและสาธารณประโยชน์ รวมถึงสร้าง พิพิธภัณฑ์ ผ่องศรี วรนุช ย่านพุทธมณฑล สาย 5 เพื่อจัดแสดงประวัติความเป็นมา และรางวัลทรงเกียรติยศที่ได้จากการเป็นนักร้อง โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวในอดีตได้เข้าชมฟรี โดยเคยกล่าวไว้ว่า "ขอไม่ยึดติดกับทางโลก เพราะอยากใช้ชีวิตทำการกุศลให้มากที่สุด"

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Mike Thongdee

บั้นปลายชีวิต

           ผ่องศรี วรนุช มีปัญหาสุขภาพจากอาการอ่อนเพลีย โรคปอด และน้ำหนักลดลงอย่างมาก จนไม่ถึง 20 กิโลกรัม ต้องเข้าออกรักษาตัวที่โรงพยาบาลตลอด จนเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา ร่างกายแข็งแรงขึ้นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จึงกลับมาพักฟื้นที่บ้าน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 เวลา 8.28 น. ผ่องศรี วรนุช ได้ถึงแก่กรรมจากไปอย่างสงบที่บ้านพัก สิริอายุ 85 ปี  

           ผ่องศรี วรนุช ถือเป็นตำนานแห่งวงการเพลงลูกทุ่งไทย ด้วยเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์และบทเพลงอมตะมากมาย ชื่อของเธอได้รับการยกย่องและจดจำว่าเป็นแบบอย่างของศิลปินผู้มีคุณูปการต่อวงการวัฒนธรรมไทย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก NineEntertain, เฟซบุ๊ก โบราณนานมา, เดลินิวส์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติ ผ่องศรี วรนุช ราชินีลูกทุ่ง ตำนานเสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย ก่อนจากไปในวัย 85 โพสต์เมื่อ 6 เมษายน 2568 เวลา 13:03:16 7,842 อ่าน
TOP
x close