เปิดใจ ชมพู่ ภัทราวรรณ มิสวีลแชร์ ผู้ไม่ย่อท้อ ในรายการวีไอพี





 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการวีไอพี โพสต์โดยคุณ DuangAesthetic สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
 
             แม้ร่างกายจะพิการ แต่หากหัวใจไม่ย่อท้อ ก็ย่อมที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เฉกเช่นคนทั่วไป และชมพู่ ภัทราวรรณ พานิชชา สาวขอนแก่น วัย 21 ปี ผู้ครอบครองตำแหน่ง มิสวีลแชร์ ไทยแลนด์ 2012 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้พิการ ที่แม้สภาพร่างกายจะไม่สามารถใช้การได้ครบถ้วนเหมือนคนทั่วไป แต่ทัศนคติที่ดีและกำลังใจจากคนรอบข้าง ก็ทำให้ชมพู่เข้มแข็ง และยืนหยัดได้จนถึงปัจจุบัน

             โดยในช่วงต้นรายการ ชมพู่ ได้เล่าความเป็นมาของการประกวด มิสวีลแชร์ ไทยแลนด์ ผ่านรายการวีไอพี (24 กันยายน) ว่า โครงการนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้จัดอย่างเนื่อง และเป็นเพียงกิจกรรมเล็ก ๆ ซึ่งจัดขึ้นที่สนามหลวงเท่านั้น โดยปีนี้นับเป็นปีแรกที่มีการจัดงานอย่างจริงจัง โดยมีกิจกรรมและการเก็บตัว เหมือนเวทีการประกวดนางงามทั่ว ๆ ไป ซึ่งในแต่ละรอบ จะมีการคัดเลือกผู้เข้าประกวดด้วยการตอบคำถาม และแสดงความสามารถ

             จนกระทั่งในรอบ 3 คนสุดท้าย ผู้เข้าประกวดต้องสุ่มเลือกซองคำถาม โดยในรอบนี้กรรมการได้ถามชมพู่ว่า  คิดเห็นอย่างไรกับสโลแกนของการประกวดที่ว่า "เป็นมากกว่าสายสะพายและมงกุฎ" ซึ่งชมพู่ได้ตอบว่า "สายสะพายและมงกุฎเป็นเพียงแค่ของรางวัล แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้นก็คือ การที่เวทีนี้ให้โอกาสสตรีพิการได้แสดงศักยภาพ และความรู้ความสามารถของเราที่มีทัดเทียมกับคนทั่วไป" ซึ่งคำตอบดังกล่าวก็ทำให้ชมพู่สามารถเอาชนะใจกรรมได้สำเร็จ และคว้ามงกุฎมิสวีลแชร์ ไทยแลนด์ 2012 มาครอง





             จากนั้น ชมพู่ ได้เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ร่างกายพิการว่า เธอไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด แต่เพราะประสบอุบัติเหตุถูกรถสิบล้อชน ขณะนั่งรถจักรยานยนต์ เมื่ออายุได้ 16 ปี ซึ่งอุบัติเหตุดังกล่าวทำให้ชมพู่บาดเจ็บสาหัส และที่ร้ายแรงที่สุดคือ กระดูกสันหลังหัก และแตกละเอียด จนไปเบียดทับเส้นประสาท ซึ่งหลังการผ่าตัด ชมพู่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2 แห่ง เพื่อรักษาตัวและทำกายภาพบำบัด โดยใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน

             โดยช่วงแรกที่ทำกายภาพบำบัด ชมพู่ยังรู้สึกมีความหวังอยู่ เพราะแพทย์บอกว่าต้องดูอาการก่อนว่าจะฟื้นตัวเร็วแค่ไหน กระทั่งเมื่อแพทย์แจ้งว่าไม่สามารถรักษาได้ ชมพู่ก็เสียใจจนร้องไห้ตลอดทั้งวัน แต่หลังจากนั้นเมื่อตั้งสติได้ ชมพู่ก็คิดว่า ร้องไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น แถมยังเหนื่อยเปล่า ๆ เธอจึงเลิกร้องไห้ทันที เนื่องจากปกติชมพู่เป็นคนไม่ค่อยคิดมาก ยิ่งทางครอบครัวคอยพูดให้กำลังใจตลอดเวลา ชมพู่จึงคิดว่าเดินไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็แค่เดินไม่ได้เท่านั้นเอง

             หลังจากที่ชมพู่ต้องหยุดเรียนเพื่อพักรักษาตัว และเมื่อเห็นว่าไม่สะดวกที่จะเรียนโรงเรียนเดิม ชมพู่จึงย้ายไปเข้าโรงเรียนใหม่ที่เปิดรับผู้พิการ รวมถึงมีสถานที่ที่สะดวกต่อการเรียน ส่วนในแง่การใช้ชีวิตประจำวัน ที่บ้านต้องทำห้องน้ำ และห้องนอนใหม่ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งในช่วงแรกที่กลับมาบ้าน จะมีญาติคอยช่วยเข็นรถ และช่วยชมพู่แต่งตัว แต่หลังจากนั้น 1 เดือน ชมพู่ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยระหว่างที่เรียนเธอก็ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ เหมือนคนทั่วไป และในเทอมแรกก็ได้เกรดเฉลี่ยประมาณ 3.96





             หลังจากนั้นเมื่อชมพู่ต้องก็เอนทรานซ์ เธอก็ได้เลือกไว้ 2 สาขา คือ คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ภาคธุรกิจ กับ คณะมนุษยศาสตร์ เอกอังกฤษธรรมดา ซึ่งชมพู่ก็สามารถเอนทรานซ์ติดคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ภาคธุรกิจ แต่เมื่อไปสอบสัมภาษณ์ ชมพู่ก็พบกับอุปสรรคคือ ไม่สามารถขึ้นไปสัมภาษณ์บนตึกได้ เพราะอาคารดังกล่าวมีแต่บันได และต้องรอข้างล่างเพื่อให้ทุกคนสัมภาษณ์เสร็จก่อน อาจารย์ทั้ง 2 ท่าน จึงจะลงมาสัมภาษณ์ชมพู่ได้

             จากนั้นอาจารย์ที่มาสัมภาษณ์ก็บอกชมพู่ว่า คณะนี้บางอาคารไม่มีลิฟต์ แล้วถามชมพู่ว่า จะเรียนอย่างไร ใครจะคอยดูแล ใครจะคอยยกขึ้นไปข้างบน ชมพู่จึงใจเสียว่าอาจจะสอบไม่ผ่านสัมภาษณ์ ต่อมาอาจารย์จึงแนะนำให้ไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิด เพราะน่าจะสะดวกกว่า แต่ในที่สุดชมพู่ก็สอบสัมภาษณ์ผ่านด้วยดี ทว่า เมื่อชมพู่คิดว่าการที่เรียนที่นี่อาจทำให้คนอื่นลำบาก เธอจึงตัดสินใจสละสิทธิ์ในที่สุด และเรื่องนี้ก็กระทบต่อจิตใจของชมพู่พอสมควร

             เมื่อต้องหาที่เรียนใหม่ชมพู่จึงเสิร์ชหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตว่ามีมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่เปิดรับคนพิการ และดูว่าคณะอะไรที่พอจะเรียนได้ รวมถึงมองว่า หากเรียนจบแล้วจะไปทำงานอะไร เมื่อเห็นว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคณะสังคมสงเคราะห์ ชมพู่จึงเลือกคณะนี้เป็นอันดับ 1 และสอบติดคณะดังกล่าวตามที่หวังไว้ โดยชมพู่ กล่าวว่า กำลังใจจากครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญ พวกเขาดูแลตนอยู่ทุกวัน ทั้ง ๆ ที่เขาก็เหนื่อย แต่เขาไม่เคยบ่นว่าเหนื่อย หรือแสดงอะไรให้เห็น ดังนั้นตนจะยอมแพ้ได้อย่างไร







             จากนั้น ชมพู่จึงต้องย้ายจาก จ.ขอนแก่น เข้ามาอยู่หอในมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีศูนย์นักศึกษาพิการ ดังนั้นในช่วงแรกจะมีรุ่นพี่มาคอยแนะนำ และช่วยดูแลในเรื่องต่าง ๆ และชมพู่ยังมีรูมเมทที่คอยช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ  ด้วย โดยระหว่างที่เรียนชมพู่ยังได้ตำแหน่งดาวคณะจากการโหวตของเพื่อน ๆ ด้วย กระทั่งมีรุ่นพี่แนะนำให้ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับการประกวดมิสวีลแชร์ เมื่อชมพู่อ่านรายละเอียดต่าง ๆ ในเว็บไซต์แล้ว จึงตัดสินใจสมัครทันที

             ชมพู่ เล่าว่า หลังจากที่ได้รับตำแหน่ง มิสวีลแชร์ ไทยแลนด์ 2012 ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีคนเข้ามาทักทายอยู่เป็นประจำ ที่ผ่านมาชมพู่รู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก เพราะถึงแม้ว่าร่างกายจะพิการ แต่ก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ และชมพู่ยังวางแผนอนาคตว่า อยากจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์คอยดูแลช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาส หรือยากลำบาก เพราะอยากช่วยเหลือให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น



             และในช่วงท้ายรายการชมพู่ ยังได้ฝากข้อความถึงผู้ที่กำลังท้อแท้ในชีวิตว่า คนเรามีท้อแท้ เสียใจ หรือผิดหวังได้ แต่อย่าเสียใจนาน อย่าร้องไห้นาน ให้กลับมาลุกขึ้นโดยเร็ว และยิ้มให้ได้อีกครั้ง ถ้าไม่รู้ว่าจะเอากำลังใจจากไหน ให้มองกลับมาหาคนที่รักเรา เช่น คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพราะยังมีอีกหลายคนที่รักเรา และอย่าคิดว่าเราอยู่ตัวคนเดียวในโลกใบนี้ ถ้ายังยิ้มไม่ได้อีก ให้มองคนที่ด้อยกว่า หรือลำบากกว่า เพราะพวกเขายังมีชีวิตอยู่ได้ และมีความสุขได้ ดังนั้นทุกคนก็ไม่ควรย่อท้อ  คนเราย่อมมีทั้งทุกข์ และสุข ดังนั้นแม้เราจะมีความทุกข์ แต่เราก็มีความสุขได้เช่นกัน









เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดใจ ชมพู่ ภัทราวรรณ มิสวีลแชร์ ผู้ไม่ย่อท้อ ในรายการวีไอพี อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2555 เวลา 17:30:07 6,591 อ่าน
TOP
x close