ฟิลเลอร์คาง คืออะไร คนที่มีปัญหาอะไรบ้างที่ควรฉีด มาทำความรู้จักการฉีดฟิลเลอร์คางกันว่าต้องเลือกอย่างไร ให้สวยปลอดภัย และไม่เป็นก้อน
รูปทรงของคางถือเป็นองค์ประกอบหลักที่มีผลต่อโครงสร้างของใบหน้า หลายคนจึงมักให้ความสำคัญกับรูปทรงของคาง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหารูปทรงของคาง มักเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยการฉีดฟิลเลอร์เพื่อปรับรูปทรงของคางเป็นหลักแทนการศัลยกรรมคาง แต่ปัญหาที่ตามมาหลังฉีดฟิลเลอร์คือ ฟิลเลอร์ที่กระจุกตัวกันเป็นก้อนทำให้คางไม่ได้รูปทรงตามที่ต้องการ ซึ่งวันนี้เราจะมาแนะนำวิธีเลือกฉีดฟิลเลอร์คางเพื่อให้คางของคุณสวยดั่งใจและไม่กลายเป็นก้อน ไปดูกันเลย
ฟิลเลอร์คางคืออะไร ?
ฟิลเลอร์คาง คือ การปรับแต่งลักษณะของคางให้สวยงามและรับกับใบหน้า ด้วยการฉีดฟิลเลอร์ (Filler) ซึ่งเป็นสารเติมเต็มประเภทหนึ่ง ที่มีชื่อว่ากรดไฮยาลูรอนิก (Hyaluronic Acid) หรือเรียกอย่างย่อว่า HA ซึ่งเป็นกรดไฮยาลูรอนิกสกัดจากธรรมชาติ เช่นเดียวกับกรดไฮยาลูรอนิกที่ร่างกายผลิตขึ้นและสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ ทำให้มีความปลอดภัยสูงต่อร่างกายมนุษย์ และด้วยนวัตกรรมการผลิตอันทันสมัย ฟิลเลอร์จึงถูกพัฒนาทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของฟิลเลอร์มีความหนาแน่นและความยืดหยุ่นสูง จนสามารถปรับแต่งรูปทรงของคางได้อย่างเป็นธรรมชาติ และสามารถยืดระยะเวลาสลายตัวของฟิลเลอร์ ทำให้ผลลัพธ์คงทนยาวนานกว่าเดิม
ทำไมต้องฉีดฟิลเลอร์คาง ?
การฉีดฟิลเลอร์คาง เป็นการปรับรูปทรงของคางสำหรับผู้มีปัญหาคางสั้น คางตัด หรือคางบุ๋ม จนทำให้ลักษณะกรอบของใบหน้าเกิดเป็นสี่เหลี่ยม หรือทรงกลม หรือใบหน้าไม่เรียวยาว ซึ่งลักษณะใบหน้าเช่นนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม โดยเกิดขึ้นที่บริเวณกระดูกขากรรไกรล่าง (Mandible) โดยสามารถระบุลักษณะและสาเหตุของคางที่ทำให้ลักษณะของคางไม่เข้ากับใบหน้า ซึ่งเกิดขึ้นจาก 3 กรณี คือ
คางสั้น
เกิดจากระยะระหว่างริมฝีปากล่างกับปลายคางที่สั้นเกินไป และปลายคางมีลักษณะโค้งมนเข้าหาลำตัว ทำให้ภาพรวมของใบหน้าดูกลม จึงต้องมีการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเพิ่มความยาวของคางและมิติให้กับใบหน้า จนทำให้ใบหน้าดูเรียวยาวมากขึ้น
คางตัด
เกิดจากลักษณะของกระดูกปลายคางที่ยาวขนานกับริมฝีปาก ประกอบกับปลายคางมีกล้ามเนื้อน้อยทำให้เห็นกระดูกปลายคางที่ตัดอย่างชัดเจน ทำให้ภาพรวมของใบหน้าเกิดเป็นสี่เหลี่ยม ลักษณะเช่นนี้หากเกิดขึ้นกับผู้ชายก็จะทำให้ใบหน้าดูคมชัด แต่หากเกิดกับผู้หญิงจะทำให้ใบหน้าดูแข็งกระด้างไม่อ่อนหวาน จึงต้องมีการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเพิ่มปริมาตรและปรับรูปทรงของคาง เพื่อลบเหลี่ยมมุมและทำให้ใบหน้าดูเรียวมากขึ้น
คางบุ๋ม
เกิดจากกระดูกบริเวณปลายคางเป็นร่องลึก ทำให้เกิดปุ่มนูนขึ้นมาสองปุ่ม ในบางรายอาจมีปุ่มที่นูนไม่สมมาตร ทำให้มองดูคล้ายคางเบี้ยว จึงต้องฉีดฟิลเลอร์เพื่อเติมเต็มร่องลึกของผิวหนัง เพิ่มความยาวของคาง และปรับแต่งรูปทรงให้รับกับใบหน้ามากยิ่งขึ้น
ฟิลเลอร์มีกี่ประเภท
ฟิลเลอร์ จัดเป็นสารเติมเต็มที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีต้นทุน วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ที่แตกต่างกัน ฉะนั้นสำหรับใครที่เลือกวิธีการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเสริมความงามหรือแก้ไขข้อบกพร่องของร่างกาย จึงจำเป็นที่จะต้องทำความรู้จักกับสารเติมเต็มเหล่านี้เสียก่อน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- ฟิลเลอร์แบบถาวร (Permanent Filler) เป็นฟิลเลอร์ประเภทหนึ่งที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมีหรือเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการกลั่นปิโตรเลียม มีความหนาแน่น ความยืดหยุ่น และความคงทนสูง จึงถูกผลิตและนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน เช่น พาราฟิน หรือซิลิโคน แต่ด้วยต้นทุนต่อหน่วยปริมาณการผลิตที่ต่ำ ประกอบกับลักษณะทางกายภาพหรือผิวสัมผัสที่เหมือนกรดไฮยาลูรอนิก จึงถูกนำมาปลอมแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีดเข้าสู่ผิวหนัง ซึ่งหลังฉีดจะเกิดผลข้างเคียงคล้ายการฉีดฟิลเลอร์แท้ คือเกิดก้อนแข็งใต้ผิวหนัง แต่ด้วยฟิลเลอร์ประเภทนี้เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย จึงทำให้ร่างกายพยายามจะกำจัด แต่ก็ไม่เป็นผล จึงทำให้เกิดอาการอักเสบอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อขูดเอาฟิลเลอร์ประเภทนี้ออก
- ฟิลเลอร์ชั่วคราว (Temporary filler) เป็นฟิลเลอร์ที่ได้จากสารสกัดธรรมชาติ เมื่อฉีดเข้าสู่ผิวหนังในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก จะเกิดเป็นก้อนที่สามารถคลำได้อย่างชัดเจน จากนั้น 1 เดือน ฟิลเลอร์จะค่อย ๆ กลืนไปกับผิว จนความเป็นก้อนที่สัมผัสได้หายไป กลายเป็นผิวที่เรียบเนียนปกติ โดยฟิลเลอร์แบบชั่วคราวหรือกรดไฮยาลูรอนิกที่ใช้ฉีดเข้าสู่ผิวมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ
- กรดไฮยาลูรอนิก (Hyaluronic Acid; HA) กรดไฮยาลูรอนิกประเภทนี้สกัดจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis) ซึ่งเป็นกรดไฮยาลูรอนิกที่เหมือนกับกรดไฮยาลูรอนิกที่ร่างกายของเราสร้างขึ้นเอง ทำให้หลังจากที่ฉีดเข้าสู่ผิวหนังของเราจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายและมีความปลอดสูง ผลลัพธ์การเติมเต็มดูเป็นธรรมชาติ
- กรดไฮยาลูรอนิกที่ไม่ได้สกัดจากสัตว์ (Non-Animal Stabilized Hyaluronic Acid; NASHA) กรดไฮยาลูรอนิกประเภทนี้ไม่ได้สกัดแบคทีเรีย และมีขนาดโมเลกุลที่เล็กกว่ากรดไฮยาลูรอนิกที่สกัดจากแบคทีเรีย จึงสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นได้ในระดับอิ่มตัวพอดี เมื่อฉีดลงสู่ชั้นผิวจะสามารถคงความชุ่มชื้นไว้ได้นาน ทำให้เนื้อฟิลเลอร์ไม่ดูดซับความชุ่มชื้นบริเวณชั้นผิวจนเกิดการขยายตัว จึงนิยมนำมาฉีดบริเวณใบหน้าเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดเลือนริ้วรอย
ฉีดฟิลเลอร์แล้วทำไมเป็นก้อน ?
หลายคงที่เพิ่งเคยฉีดฟิลเลอร์หรือคนที่ได้พูดคุยกับคนที่ฉีดฟิลเลอร์เป็นครั้งแรก มักจะมีคำถามฮิตขึ้นมาว่า “ฉีดฟิลเลอร์แล้วคลำหน้า ทำไมถึงเป็นก้อน ?” หรือว่า “หลังฉีดฟิลเลอร์แล้วก็ดูผิวเนียนปกติ แต่ทำไม่อยู่ ๆ ถึงเป็นก้อนขึ้นมา ?” วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกัน
ปกติแล้วหลังฉีดฟิลเลอร์ประมาณ 1-2 สัปดาห์แรก ฟิลเลอร์จะมีการบวมขึ้นมาได้ ดังนั้น เราสามารถคลำฟิลเลอร์และรู้สึกถึงลักษณะของก้อนฟิลเลอร์ได้อย่างชัดเจน และหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ฟิลเลอร์ก็จะค่อย ๆ กลืนไปกับผิว ความเป็นก้อนที่สัมผัสได้ก็จะค่อย ๆ หายไปกลายเป็นผิวที่เรียบเนียนปกติ และหากคนอื่นมองก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นก้อน ปูดบวม หรือผิดปกติแต่อย่างใด แต่จะมีการฉีดฟิลเลอร์บางกรณีที่ทำให้เกิดความเป็นก้อนที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณี คือ
1. การฉีดฟิลเลอร์เป็นก้อนแบบไม่อักเสบ
กรณีนี้มักจะคลำได้เป็นก้อนเดี่ยว ๆ รวมถึงขอบเขตของก้อนก็จะชัดเจน และจะไม่มีอาการเจ็บหรือสีผิวแดงผิดปกติ สาเหตุมาจากการฉีดฟิลเลอร์ที่มากเกินไปหรือฉีดฟิลเลอร์ตื้นเกินไป เกิดจากแพทย์ไม่มีความเชี่ยวชาญในการฉีดฟิลเลอร์ หรือแพทย์ไม่เข้าใจโครงสร้างของใบหน้าและปัญหาของคนไข้อย่างชัดเจน ทำให้ประมาณปริมาณฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีดมากเกินไป หรือฉีดชั้นผิวที่ตื้น ทำให้เราคลำและเห็นฟิลเลอร์เป็นก้อนได้อย่างชัดเจน
2. การฉีดฟิลเลอร์เป็นก้อนที่มีการอักเสบร่วมด้วย
กรณีนี้จะเกิดขึ้นร่วมกับกรณีแรก คือมีการใช้ปริมาณฟิลเลอร์ที่มากเกินไปและฉีดที่ระดับความลึกของผิวที่ผิดตำแหน่ง (ฉีดตื้นเกินไป) และเมื่อเรามีการแสดงอารมณ์ทางสีหน้า กล้ามเนื้อจะดันฟิลเลอร์ไปตำแหน่งอื่นที่เราไม่ต้องการ ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บ บวมแดง และอักเสบตามมาได้
3. การฉีดฟิลเลอร์ที่ไม่ผ่าน อย. หรือ ฟิลเลอร์ปลอม
อย่างที่ทราบกันดีว่าฟิลเลอร์ที่นำมาฉีดจะต้องกลมกลืนไปกับผิวและต้องเป็นกรดไฮยาลูรอนิก แต่หากสารที่นำมาฉีดไม่ใช่กรดไฮยาลูรอนิก ก็จะไม่สามารถกลืนไปกับเนื้อเยื่อของผิวและสลายตัวไปเองได้ เช่น สารเหลวอย่างพาราฟิน หรือซิลิโคน เมื่อนำมาฉีดก็จะทำให้รู้สึกเป็นก้อนหรือไตแข็ง ๆ ที่ผิวได้ และเมื่อเวลาผ่านไป 48 ชั่วโมง จะเริ่มมีอาการบวม แดง และร้อนบริเวณที่ฉีด หลังจากนั้นก็จะเกิดอาการอักเสบและมีหนองร่วมด้วย จนต้องรีบเข้าพบแพทย์เพื่อนำฟิลเลอร์ประเภทนี้ออก
มารู้จักกับยี่ห้อฟิลเลอร์ที่นิยมฉีดคางกัน
เนื่องจากฟิลเลอร์ที่เราใช้ ไม่ใช่สารที่สามารถสกัดเองได้ จึงต้องมีหน่วยงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย ออกมาวางจำหน่ายเพื่อให้เราใช้ แต่อย่างไรก็ตาม ฟิลเลอร์ที่ถูกผลิตก็มีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันและสามารถฉีดได้หลายตำแหน่ง เราจึงขอแนะนำยี่ห้อฟิลเลอร์ที่ได้รับความนิยม ปลอดภัย ผ่านการรับรองจาก อย. และสามารถใช้ฟิลเลอร์คางโดยไม่เป็นก้อน จนดูเป็นธรรมชาติ มาดูกันว่ามียี่ห้อและรุ่นใดบ้าง
1. ยี่ห้อ Juvederm Voluma มีอยู่ด้วยกัน 2 รุ่น คือ
- รุ่น Juvederm Voluma ระยะเวลาผลลัพธ์ 24 เดือน
- รุ่น Juvederm Volux ระยะเวลาผลลัพธ์ 18-24 เดือน
2. ยี่ห้อ RESTYLANE มีอยู่ด้วยกัน 2 รุ่น คือ
- Restylane Defyne. ระยะเวลาผลลัพธ์ 12-15 เดือน
- Restylane Lyft. ระยะเวลาผลลัพธ์ 12-15 เดือน
3. ยี่ห้อ BELOTERO รุ่น Belotero Volume ระยะเวลาผลลัพธ์ 18 เดือน
4. ยี่ห้อ PERFECTHA รุ่น Perfectha Complement ระยะเวลาผลลัพธ์ 4-6 เดือน
5. ยี่ห้อ NEURAMIS มีอยู่ด้วยกัน 2 รุ่น คือ
- Neuramis Deep Classic ระยะเวลาผลลัพธ์ 6-8 เดือน
- Neuramis Deep Lidocaine ระยะเวลาผลลัพธ์ 6-8 เดือน
6. ยี่ห้อ YVOIRE รุ่น Yvoire Contour ระยะเวลาผลลัพธ์ 18 เดือน
การเตรียมตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์
การเตรียมตัวก่อนการฉีดฟิลเลอร์คางถือเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ฟิลเลอร์ไม่เกิดความผิดปกติขึ้น ฉะนั้นก่อนการฉีดฟิลเลอร์ คนไข้จะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการซักประวัติและวินิจฉัยการรักษา เพื่อประเมินแนวทางการรักษา พร้อมทั้งนัดหมายคนไข้เพื่อเข้ารับการรักษา โดยก่อนที่จะเข้ารับการรักษาควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- ศึกษาหาข้อมูลของฟิลเลอร์และคลินิกหรือสถาบันเสริมความงามที่มีความน่าเชื่อถือ
- งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนฉีดฟิลเลอร์คางอย่างน้อย 3 วัน
- งดสครับผิวหน้าโดยเฉพาะบริเวณคางก่อนฉีดฟิลเลอร์อย่างน้อย 7 วัน
- งดเลเซอร์ผิวหน้าทุกประเภทโดยเฉพาะบริเวณคางก่อนฉีดฟิลเลอร์อย่างน้อย 3 วัน
- งดรับประทานยาที่มีผลป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว เช่น ยาแอสไพริน NSAIDs น้ำมันปลา กระเทียม วิตามินอี
ข้อควรปฏิบัติหลังฉีดฟิลเลอร์
- หลังฉีดฟิลเลอร์คางควรอยู่ในอาคารที่มีการปรับอากาศอย่างน้อย 48 ชั่วโมง
- ห้ามสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังฉีดฟิลเลอร์อย่างน้อย 14 วัน
- ห้ามเลเซอร์ผิวหน้าทุกประเภทโดยเฉพาะบริเวณคางหลังฉีดฟิลเลอร์อย่างน้อย 30 วัน
- ห้ามบีบ กด บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ เพราะจะทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งที่ไม่ต้องการ
- งดกิจกรรมที่มีการใช้ความร้อน เช่น อบไอน้ำ ซาวหน้า กิจกรรมกลางแจ้ง หลังฉีดฟิลเลอร์อย่างน้อย 48 ชั่วโมง เนื่องจากประสิทธิภาพฟิลเลอร์จะลดลงเมื่อถูกความร้อน
จากข้อมูลที่นำเสนอเกี่ยวกับการฉีดฟิลเลอร์คาง เพื่อให้คางสวยเรียวรับกับใบหน้า และไม่เป็นก้อน สามารถสรุปวิธีการที่สำคัญด้วยกัน 3 ข้อ คือ
- การฉีดฟิลเลอร์จะต้องทำโดยแพทย์ผิวหนังที่เชี่ยวชาญการใช้ฟิลเลอร์ เนื่องจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจะสามารถวิเคราะห์ปัญหาของโครงสร้างของใบหน้า การประมาณปริมาณฟิลเลอร์ได้อย่างแม่นยำ และรู้จักแต่ละตำแหน่งระดับความลึกของการฉีดได้เป็นอย่างดี
- การเลือกใช้ฟิลเลอร์ จะต้องใช้รุ่นของฟิลเลอร์ที่เหมาะสมกับการฉีดคาง และต้องเป็นฟิลเลอร์ของแท้ที่เป็นกรดไฮยาลูรอนิกเพียงเท่านั้น และที่สำคัญคือฟิลเลอร์จะต้องเป็นยี่ห้อที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาแล้วด้วย
- การเตรียมตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์คาง และการปฏิบัติตัวหลังฉีดฟิลเลอร์คาง ก็เป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยให้ฟิลเลอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและสามารถคงสภาพผลลัพธ์ให้อยู่กับเราได้อย่างยาวนาน