วิธีลบรอยดำ อำพรางผิว (Momypedia)
โดย แม่เจ้าปุ้น
รอยดำที่เกิดขึ้นหลังเป็นสิวนั้น เกิดจากกลไกหลัก ๆ 2 กลไกด้วยกันค่ะ หนึ่งคือ การอักเสบอันแสนเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากสิว ได้ส่งสัญญาณไปยังเซลล์สร้างเม็ดสี ให้ขยันสร้างเม็ดสีและส่งเม็ดสีออกไปยังเซลล์ผิวหนังมากขึ้น และสองคือ การอักเสบได้ทำลายเซลล์ผิวหนังที่มีเม็ดสีสะสมอยู่แล้วให้แตกออก เกิดการร่วงหล่นกระเด็นของเม็ดสีไปอยู่ที่ชั้นหนังแท้ ส่งผลให้เม็ดเลือดขาวมาเก็บกินเม็ดสีและตกค้างกันอยู่ในชั้นหนังแท้ ซึ่งกลไกที่สองนี้จะเกิดในกรณีที่มีการอักเสบมาก และส่งผลให้รอยดำติดทนนานรักษายากกว่า แต่ก็ไม่มีอะไรจะยากเกินกว่าที่เทคโนโลยีจะแก้ไขได้ ดังนั้นคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เรามาดูวิธีรักษารอยดำกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
ยาทา
เราเรียกยาในกลุ่มนี้ว่า Whitening agents ซึ่งมีสารให้เลือกใช้หลายตัวมาก ทั้งหน้าเก่าอย่าง วิตามินเอ ซี บี3 อาร์บูติน กรดโคจิก ลิโคริซ และหน้าใหม่ ๆ อย่าง กรดเอลลาจิก(Ellagic acid) และกรดทรานนิกซามิก(Tranexamic acid) ซึ่งประสิทธิภาพของยาแต่ละตัวนั้นขึ้นกับสูตรการปรุงและความเข้มข้น การจะเลือกใช้ตัวไหนต้องขึ้นกับสภาพผิวของคุณแม่แต่ละท่าน แต่ในคุณแม่ที่ให้นมบุตรควรใช้เป็นกลุ่มเก่าที่มีการศึกษามายาวนานกว่า เช่น วิตามินซี วิตามินบี3 และยาทากลุ่มที่ไม่ควรใช้ คือ ไฮโดรควิโนน(Hydroquinone) โดยเฉพาะในความเข้มข้นสูง ๆ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะฝ้า หน้าดำถาวรได้!
ครีมกันแดด
การทาครีมกันแดดที่มีค่าปกป้อง SPF30 PA+++ ขึ้นไปเป็นประจำทุกวัน ช่วยป้องกันไม่ให้รังสียูวีมากระตุ้นการสร้างเม็ดสีเพิ่มเติมได้ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีซึ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้รอยดำจางเร็วขึ้นค่ะ
ผลัดเซลล์ผิวด้วยกรด
เป็นการใช้กรดเร่งการขจัดเซลล์ผิวเก่าที่ด่างดำหมองคล้ำออก โดยตัวที่นิยมใช้รักษารอยดำกันในปัจจุบัน คือ กรดไกลโคลิก(Glycolic acid) ซึ่งในรูปแบบความเข้มข้นต่ำ ๆ จะมีผสมอยู่ในครีมกลุ่มไวท์เทนนิ่งบางแบรนด์ ส่วนความเข้มข้มสูง ๆ ควรทาโดยอยู่ในความดูแลของแพทย์ การผลัดเซลล์ผิวด้วยกรดผลไม้มีข้อดี คือ นอกจากจะช่วยลดรอยด่างดำแล้ว ยังช่วยให้หน้าใสและรูขุมขนกระชับขึ้นได้ แต่ก็มีข้อเสีย คือ ในคนที่ผิวบอบบาง อาจมีอาการแสบหรือระคายเคืองได้ง่าย โดยเฉพาะผิวบริเวณรอบดวงตา
เลเซอร์/แสงความเข้มสูง
การใช้เลเซอร์หรือแสงความเข้มสูงอย่าง IPL(Intense Pulsed Light) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษารอยดำที่ให้ผลเร็ว แต่ก็มีความเสี่ยงสำคัญสองเรื่อง หนึ่งคือเสี่ยงต่อผิวไหม้หากใช้พลังงานสูง แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการไหม้ชั้นตื้น ๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดแผลเป็นถาวร และเครื่องรุ่นใหม่ ๆ จะมีเทคโนโลยีที่ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ลงได้ แต่ความเสี่ยงที่สองคือ เสี่ยงต่อสุขภาพกระเป๋าสตางค์นั้น ต้องแล้วแต่คุณแม่ประเมินความเสี่ยงกันเองนะคะ(ฮา)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก