เต้านมสวยได้หลังผ่าตัดมะเร็ง (นิตยสาร APPEAL)
โดย พญ.ปองขวัญ ประดิษฐานนท์ ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี
สำหรับสาว ๆ ที่มีปัญหาเรื่องของหน้าอกหน้าใจมีก้อนเนื้อหรือมะเร็งอยู่บริเวณหน้าอก แล้วเกิดความกังวลว่า หากผ่าตัดมะเร็งเต้านมไปแล้วนั้น จะไม่ได้เต้านมในรูปทรงที่สวยงามแบบเดิม จนทำให้เสียความมั่นใจไป เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการผ่าตัดศัลยกรรมเต้านมสำหรับผู้ที่ต้องการรักษามะเร็งมาฝากกัน
การศัลยกรรมตกแต่งเต้านมสำหรับผู้เป็นมะเร็ง
ในส่วนของการผ่าตัดมะเร็งนั้น วิธีผ่าตัดที่สามารถมีเต้านมสวยงามอยู่ได้หลังจากเอาเนื้อมะเร็งออกนั้น หลักการหลัก ๆ คือ เอาเนื้อมะเร็งและเนื้อเต้านมข้างเคียงออกให้เพียงพอ หลังจากนั้นจะปรับรูปทรงเต้านมข้างที่เป็นมะเร็ง ส่วนเต้านมด้านตรงข้ามก็จะผ่าตัดเอาเนื้อเต้านมออกในปริมาณพอ ๆ กัน และปรับแต่งเนื้อเต้านมทั้งสองข้างให้มีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจจะต้องมีการผ่าตัดปรับตำแหน่งของหัวนมด้วย
คนไข้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดได้แก่ คนไข้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ คนไข้เบาหวาน คนไข้ที่เคยผ่าตัดบริเวณเต้านมหรือฉายแสงบริเวณเต้านมมาก่อน หรือคนไข้ที่เป็นโรคที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน คนไข้กลุ่มเหล่านี้ต้องระวังในการผ่าตัดให้เป็นพิเศษ เนื่องจากอาจเกิดหัวนมตาย หลังทำเพราะขาดเลือด หรือการหายของแผลช้ากว่าคนปกติได้
ดังนั้น เมื่อตัดสินใจผ่าตัดเราก็จะวัดความสูง น้ำหนัก ลักษณะรูปร่างเต้านมของคนไข้ บันทึกรอยแผลเป็นต่าง ๆ วัดระยะห่างของกึ่งกลางไหปลาร้าถึงหัวนมทั้งสองข้างระยะห่างระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง ความห่างของหัวนมและร่องใต้ราวนมทั้งสองข้าง รวมทั้งขนาดของหัวนม เพื่อเปรียบเทียบความเท่ากันของเต้านมทั้งสองข้างทั้งก่อนและหลังผ่าตัด ที่สำคัญคือเต้านมทั้งสองข้าง ควรมีขนาดและรูปร่างเท่ากันหรือใกล้เคียงกันหลังการผ่าตัด และหลังจากกะขนาดปริมาณเนื้อเต้านมที่จะเอาออก ก็จะมาดูว่าควรจะลงแผลแบบไหน
ลักษณะการลงแผลแบบที่นิยมกันหลัก ๆ ได้แก่
1. Inverted T incision แผลมีขนาดใหญ่ สามารถเลาะเนื้อเต้านมและ Reshape เต้านมได้ง่ายกว่าวิธีอื่น
2. Vertical scar เป็นอีกวิธีที่เลาะเนื้อเต้านมได้ง่าย แผลมีขนาดเล็กกว่า Inverted T incision แต่ข้อเสียคือในกรณีของมะเร็งเต้านมที่ต้องมีการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้จะทำได้ยากกว่า Inverted T incision
3. Periareolar approach การลงแผลแบบนี้ไม่ค่อยได้ใช้ในคนไข้ที่ขนาดเต้านมใหญ่ต้องเลาะเนื้อเต้านมปริมาณมาก เนื่องจากการลงแผลรอบหัวนม จะทำให้สามารถเลาะเนื้อเต้านมและ Reshape เต้านมได้ยากกว่าวิธีอื่น รวมทั้งการเข้าไปทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ก็จะทำได้ยากเช่นกัน แต่ข้อดีคือ แผลจะมีขนาดเล็กและสังเกตเห็นได้ไม่ชัดเนื่องจากเป็นรอยแผลบริเวณรอบหัวนม
การลงแผลมีอีกหลายวิธีขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้อเต้านมที่เราจะเอาออกด้วย เมื่อเลือกการลงแผลได้แล้วก็จะถึงการตัดเอาเนื้อเต้านมออก โดยขั้นตอนนี้หลักการคือ การพยายามเก็บเอาเส้นเลือดและเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงหัวนมไว้ให้ได้มากที่สุด จากนั้นก็จะเป็นการจัดแต่งทรงซึ่งจะทำให้เต้านมกระชับขึ้นด้วยจากการผ่าตัดนี้
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด
โดยหลัก ๆ ก็เป็นเรื่องของการดูแลทำความสะอาดแผลในช่วงหลังผ่าตัดใหม่ ๆ ช่วงแรกหลังผ่าตัดอาจมีรอยฟกช้ำได้บ้าง แต่มักจะหายไปเองใน 2 สัปดาห์ หลังแผลผ่าตัดแห้งดีแนะนำให้ใส่เสื้อชั้นในแบบไม่มีขอบดันทรง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประคองทรงเต้านมไว้เท่านั้น ส่วนเรื่องการรับประทานอาหารไม่ได้ห้ามทานอะไรเป็นพิเศษและหลังจากผ่าตัดประมาณ 2-3 สัปดาห์ เมื่อแผลหายสนิทดีแล้ว ก็ควรจะต้องเริ่มนวดคลึงเต้านมเบา ๆ เพื่อเป็นการลดใยพังผืดจากการผ่าตัด ทำให้บริเวณที่ผ่าตัดนิ่มตัวลงด้วย
แพทย์แนะนำ
ในส่วนของคนไข้ที่เป็นมะเร็งนั้น โดยส่วนใหญ่หลังผ่าตัดเอาเนื้องอกออกและมีเนื้อเต้านมเหลือ มักจะต้องฉายแสงตามหลัง ซึ่งพบว่าการผลิตน้ำนมของเต้านมข้างที่ได้รับการฉายแสงจะลดลงจนถึงหยุดการผลิตน้ำนมไป แต่ยังไม่มีการศึกษาแสดงถึงอันตรายของน้ำนมที่มีต่อทารก
ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดได้หลังผ่าตัด เช่น ผิวหนังบริเวณหัวนมลอก ชาบริเวณหัวนมแผลอักเสบหรือเป็นแผลเป็น ขนาดของเต้านม และระดับของหัวนมไม่เท่ากัน ซึ่งประการหลัง ถ้าหากแตกต่างกันมากสามารถผ่าตัดแก้ไขได้
แต่การผ่าตัดลดขนาดเต้านมเนื่องจากความสวยงามเป็นหลักโดยส่วนใหญ่ ถ้าไม่ได้มีการนำเนื้อเต้านมออกไปมาก หรือมีการผ่าตัดเอาหัวนมออกแล้วย้ายตำแหน่งแบบที่เรียกว่า Free flap มักจะไม่มีผลต่อการให้นมบุตร คือ คนไข้ยังสามารถให้นมบุตรได้
อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะผ่าตัดลดขนาดเต้านม ด้วยเหตุผลใด คนไข้ควรได้มีการปรึกษาแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดให้ถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการผ่าตัด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ฉบับเดือนธันวาคม 2555 ISSUE 20