กำจัดน้ำมูก ให้เจ้าจอมซน (Mother & Care)
ที่มาของน้ำมูก
น้ำมูก เป็นสารคัดหลั่งที่อยู่ในโพรงจมูก ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื่นภายในรูจมูก มีลักษณะใส ๆ ถ้ามีการระคายเคืองภายในรูจมูกมาก จะมีการผลิตน้ำมูกออกมามาก และถ้าร่างกายได้รับเชื้อโรค เม็ดเลือดขาวจะออกมาแสดงตัวต่อสู้กับเชื้อโรค เม็ดเลือดขาวบางส่วนตาย สีของน้ำมูกก็เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เหลืองปนเขียว เขียวข้น จากจุดนี้เอง พ่อแม่หลายท่านใช้สังเกตอาการหวัดของลูก แต่การที่มีน้ำมูกไหล หรือสีของน้ำมูกเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ 100% เพราะการตรวจสุขภาพคุณหมอก็ต้องทำการฟังปอด ตรวจโพรงจมูก ตรวจคอ ตรวจหู ด้วยอยู่แล้ว
น้ำมูกแบบไหน แปลว่า ไม่สบาย
ในขณะที่ร่างกายแข็งแรงปกติ ก็อาจมีน้ำมูกได้ โดยเฉพาะในช่วงเช้า ๆ อาจจะมีน้ำมูกที่ค้างอยู่ในจมูกช่วงกลางคืน แต่เมื่อสั่งออกก็หมดไป แสดงว่าไม่ได้ป่วย แต่ถ้าน้ำมูกมีตลอดทั้งวัน สีข้นกว่าปกติ แสดงว่ามีอาการหวัด ถ้าเป็นหวัดธรรมดา (ไม่มีไข้) ประมาณ 2-3 วัน น้ำมูกก็จะหายไปเองตามธรรมชาติ (ไม่ต้องใช้ยา แต่ต้องดูแลให้ถูกหลักด้วย เช่น ไม่ดื่มน้ำเย็น พักผ่อนมาก ๆ ทำร่างกายให้อบอุ่น) แต่ถ้าเป็นมากกว่า 10 วัน ต้องระวังเรื่องภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน ต้องรีบพาลูกไปหาหมอ เพราะอาจเรื้อรังเป็นโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้อีก
วิธีสอนลูกสั่งน้ำมูก
คุณแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ด้วยการใช้กระดาษทิชชู่กดรูจมูกข้างหนึ่งแล้วหายใจออกดังฟิด ใช้ทิชชู่ที่เตรียมไว้เช็ด ทำสลับกันทั้ง 2 ข้าง โดยแรก ๆ คุณแม่อาจจะเป็นคนกดรูจมูกให้ลูกก่อน และอย่าสั่งแรงจนเกินไป
ดูแลยามน้ำมูกไหล
ใช้ผ้านุ่ม ๆ เช็ดน้ำมูก ถ้ามีน้ำมูกมาก ทำให้ลูกหายใจไม่สะดวก ควรใช้อุปกรณ์ดูดน้ำมูกออกมา (บางบ้านคุณแม่อาจใช้ปากตัวเองดูดน้ำมูกให้ลูก ซึ่งจะทำให้ลูกไม่เจ็บหรือระคายเคือง แต่ถ้าแม่สุขภาพไม่ดีนัก ต้องระวังเชื้อโรคติดต่อได้ง่ายมาก)
งดการออกไปเล่นนอกบ้าน 2-3 วัน
บางคนจะมีอาการหูอักเสบ (หวัดลงหู) หรือคออักเสบ (หวัดลงคอ) ตามมาด้วย ดังนั้นควรดูอาการอย่างใกล้ชิด
ถ้าน้ำมูกแห้งติดโพรงจมูก ให้ใช้น้ำเกลือ 0.9 % ปริมาณ 1-2 ซี.ซี. (ใช้กระบอกฉีดยา) ค่อยหยดลงไปในรูจมูกทั้งสองข้าง แล้วใช้ลูกยางดูดออกมา
เมื่อลูกอายุได้ 2-3 ขวบควรฝึกลูกสั่งน้ำมูกเอง เป็นการฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้นและเป็นการให้ลูกรักษาสุขภาพอนามัยอีกด้วย
ดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ
ทุบหัวหอมห่อผ้า แล้ววางไว้ใต้หมอน หรือหยอดน้ำมันหอมระเหยที่บรรเทาอาการคัดจมูกบริเวณเสื้อผ้า หรือปลอกหมอน เพื่อให้ลูกสูดกลิ่น บรรเทาอาการคัดจมูกหายใจไม่ออกขณะนอน พร้อมทั้งใช้หมอนรองศีรษะให้สูงขึ้นกว่าปกติ
ห้ามทำเด็ดขาด
เราไม่ควรซื้อยาลดน้ำมูกมาป้อนลูกเอง รวมถึงยาแก้ไอด้วย เพราะยาทั้งสองชนิดนี้ มีฤทธิ์ทำให้น้ำมูกและเสมหะแห้ง อาจทำให้เสมหะติดค้างในหลอดลม ไอออกมาไม่ได้ และการที่น้ำมูกไหล เป็นการขจัดเชื้อโรคออกจากร่างกายด้วยวิธีธรรมชาติดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องกินยา ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอรวมทั้งยาหยอดจมูกเพื่อทำให้จมูกโล่งด้วยเช่นกัน
ไม่ควรแคะจมูกให้ลูกด้วยนิ้วหรือเล็บ ให้ใช้กระดาษทิชชู่หรือผ้านุ่ม ๆ บาง ๆ พันปลายเขี่ยภายในโพรงจมูกเบา ๆ เพื่อให้เด็กจามออกมา หรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดรอบ ๆ รูจมูกเท่านั้น และต้องใช้อย่างระมัดระวังไม่ควรให้เด็กใช้ไม้พันสำลีเอง
เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก