ทักษะชีวิต..วัคซีนป้องกันชีวิตลูก (momypedia)
โดย: มาลี
เวลามีข่าวคราวเด็กวัยรุ่นนักเรียนตีกัน ฆ่าตัวตาย ทำร้ายทำลายชีวิตตัวเองหรือผู้อื่นเพราะสาเหตุคับข้องใจ ผิดหวัง เศร้าโศกกับเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ หรือเพียงสถาบันไม่ถูกกัน
ความเห็นในเชิงจิตวิทยาบอกเราว่านั่นเป็นเพราะเด็กๆ ของเราไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่า ชีวิตของตนมีค่า และมีหนทางอื่นอีกมากมายที่จะแก้ไขคลายปมปัญหาชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่ได้โดยไม่ต้องทำร้าย ทำลายตัวเองหรือใคร ๆ
หรืออีกนัยหนึ่งคือเด็กขาด..ทักษะชีวิต
อะไรคือ..ทักษะชีวิต
องค์การอนามัยโลกบอกไว้ว่า..
: เป็นความสามารถของบุคคลด้านสังคมและจิตวิทยา คือความสามารถของบุคคลในการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพกับความต้องการและสิ่งท้าทายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน สามารถที่จะรักษาสภาพจิตใจที่สมบูรณ์ รู้จักแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของวัฒนธรรมนั้น ๆ
ขณะที่ในคู่มือดูแลสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน ของกรมสุขภาพจิตและสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติระบุไว้ว่า
: ความสามารถที่จะจัดการกับสภาพความกดดัน บีบคั้น หรือปัญหาที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว และสามารถที่จะเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต
ทำไม..ทักษะชีวิตจึงสำคัญ
หันไปมองเจ้าตัวเล็กซึ่งกำลังเล่นตุ๊กตาตัวโปรด หรือเล่นหุ่นยนต์กับเพื่อน ทักษะชีวิตดังว่าคุณ ๆ อาจรู้สึก..มันไกลเกินตัวลูกไปหน่อย...แต่หากคิดโดยไม่เอาเกณฑ์ของผู้ใหญ่มาวัดกับลูกน้อย เราจะพบว่าการไม่ได้อะไรอย่างใจ การต้องอดทนรอคอย การถูกเพื่อนแย่งของจากมือไป แค่นี้ก็ถือเป็นเรื่องบีบคั้นและกดดันสำหรับเด็ก ๆ แล้ว หรือการที่เล่นแล้วรู้จักเก็บของเล่นเข้าที่ รู้จักว่าเวลานี้ต้องทำอะไร หรือแม้แต่ถอดรองเท้าแล้วรู้จักเก็บวางในชั้นก็เป็นวินัยและความรับผิดชอบของเด็ก เป็นทักษะที่น่าชื่นชมแล้วไม่ใช่หรือ
อย่าลืมนะคะว่าทักษะทุกๆ เรื่องจะเริ่มต้นจากสิ่งง่าย ๆ ไปหาสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนเราจะวิ่งได้เร็ว รู้จักหลบหลีกหลุมและอุปสรรคระหว่างทางได้ เราล้วนผ่านการหัดลุกยืน ก้าว และเดินมาก่อนทั้งนั้น เช่นเดียวกัน ความรู้สึกที่ต้องอดทนรอให้เพื่อนเล่นของเล่นนี้เสร็จก่อนของเด็ก ย่อมเป็นฐานของความสามารถในการอดทนอดกลั้นกับความรู้สึกผิดหวังเจ็บปวดเมื่อสอบไม่ผ่าน พลาดหวังในรัก ฯลฯ ยามเมื่อเขาเติบโตขึ้น
ซึ่งหากเด็ก ๆ ได้มีโอกาสเริ่มต้นฝึกหัดจัดการกับภาวะบีบคั้นเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเขาด้วยตัวเขาเองอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นความคุ้นเคย ประสบการณ์เล็ก ๆ เหล่านี้ก็จะค่อยสะสมเกิดเป็นความรู้ วิธีคิด ทัศนคติและทักษะความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์ของชีวิตในภายภาคหน้าได้ เมื่อมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดที่เกิดขึ้นกับชีวิตไม่ว่าจะหนักหนา ยิ่งใหญ่ก็สามารถหยิบทักษะนั้นขึ้นมาใช้ได้โดยอัตโนมัติ
เด็กยุคนี้..ต้องการทักษะชีวิตด้านใด
คุณหมออัมพล สูอำพัน อาจารย์หมอจากภาควิชาจิตเวชเด็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นว่าพ่อแม่ยุคนี้ควรเลี้ยงดูลูกโดยปูพื้นฐานทักษะชีวิตเหล่านี้ให้กับลูกค่ะ
1. ความรู้สึกมั่นคงทางใจ คือ ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยในตัวเอง ตัวนี้สำคัญมากค่ะโดยเฉพาะกับเด็กวัย 3 ปีแรก เพราะเป็นฐานของคุณลักษณะหลาย ๆ อย่าง เป็นตัวที่ทำให้เด็กรู้สึกไว้วางใจโลก และจะพัฒนาไปเป็นความรู้สึกเชื่อมั่นต่อผู้อื่นและตัวเองในที่สุด ความรู้สึกนี้สร้างได้ง่าย ๆ จากความรัก ความเอาใจใส่ การดูแลใกล้ชิดและการตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสมของพ่อแม่
2. มีวินัย รับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น คือ การให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตที่มีขอบเขต รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นและกฏเกณฑ์ของสังคม นับเป็นหน้าที่หลักของพ่อแม่เลยทีเดียว เด็กทุกคนเกิดมายังไม่รู้หรอกค่ะว่าชีวิตต้องมีข้อจำกัด ประกอบกับช่วงแรก ๆ ของชีวิตเด็กจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ถ้าไม่มีการกำหนดขอบเขตเลยเด็กก็จะทำทุกอย่างที่ใจต้องการ ไม่รู้จักยับยั้งตัวเอง จนกลายเป็นปัญหากับตัวเองเมื่อออกไปอยู่สังคมนอกบ้าน
การฝึกวินัยจะทำให้เด็กได้รู้ว่าชีวิตจริงก็มีเรื่องคับข้องใจเกิดขึ้น และเขาต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองและอดทนกับสถานการณ์นั้นๆ เป็นการเตรียมลูกให้พร้อมมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ
การจะฝึกวินัยให้ได้ผลต้องเริ่มต้นตั้งแต่เล็ก ๆ จากกฎเกณฑ์ในบ้าน เช่น การกิน นอนเป็นเวลา การเล่นแล้วเก็บ เป็นต้น ที่สำคัญคือความสม่ำเสมอ เด็กก็จะไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ แต่จะรู้สึกว่านี่คือหน้าที่ที่เขาต้องรับผิดชอบ และเมื่อได้เริ่มต้นรู้จักรับผิดชอบตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะรู้จักรับผิดชอบผู้อื่น ถ้าสังเกตดีๆ เด็กที่พ่อแม่ปลูกฝังเรื่องวินัยมาดี จะมี EQ ที่ดีตามมา เพราะเขารู้จักควบคุมตัวเอง
3. มีความสามารถในการแก้ปัญหา คือ สามารถจัดการและปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ ถือเป็นทักษะความสามารถที่สูงขึ้นไปอีกระดับ เพราะเด็กจะต้องมีพื้นฐานคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจร่วมด้วย ความสามารถในด้านนี้ต้องอาศัยการฝึกฝน เริ่มต้นจากการเปิดโอกาสให้ลูกได้คิด วิธีง่าย ๆ คือการคุยกับลูกด้วยคำถาม ฝึกตั้งคำถามเปิด แต่ที่สำคัญมากกว่าคือต้องรับฟังในคำตอบของลูก
นอกจากนี้ต้องฝึกให้รู้จักการตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น ให้มีส่วนในการตัดสินใจในกิจวัตรประจำวันของลูก ของครอบครัว เลือกว่าจะใส่เสื้อตัวไหน วันนี้หนูอยากกินอะไร จะทำอะไรก่อนดี เราจะไปเที่ยวที่ไหนกัน เป็นต้น
4. มี EQ ที่ดี เป็นความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ตนเองและผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์และยับยั้งช่างใจตนเองและแสดงออกอย่างเหมาะสม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรอคอย รู้จักกฎเกณฑ์ระเบียบวินัย มีจิตใจร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี สามารถปรับตัวเข้ากับสังคม สถานการณ์รอบข้างได้ดี เรียกได้ว่าถ้าลูกมีคุณสมบัติข้อนี้ข้อเดียวก็ดูจะครอบคลุมทุก ๆ อย่างได้เลย
5. สื่อสารเป็น มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ข้อนี้ถือเป็นทักษะของชีวิตจริง ๆ เลย เพราะการสื่อสารเป็นสิ่งที่เด็กใช้บอกความต้องการ ความรู้สึกของตัวเอง ใช้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นสื่อที่เชื่อมตัวเด็กกับผู้คน โลกภายนอก
แต่ปัจจุบันเด็กเราขาดทักษะนี้ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมขาดคนพูดด้วย พ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่ดูแลใกล้ชิด สภาพสังคมที่มีทั้งเกม คอมพิเวเตอร์ที่เป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้เด็กขาดโอกาสพัฒนาทักษะการสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การปลูกฝังเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือการเป็นแม่แบบภาษาผ่านการเลี้ยงดู พูดคุยกับลูกอย่างสม่อเสมอนั่นเอง
6. มีทักษะในการรู้จักมองโลกภายนอกและตัวเองอย่างถูกต้อง พูดง่าย ๆ ก็คือประเมินและยอมรับตัวเองอย่างถูกต้อง รู้ข้อจำกัดในตัวเอง รู้จักเลือกสิ่งที่สอดคล้องเหมาะสมกับตัวเอง เช่น เด็กที่รู้ว่าครอบครัวอยู่ในฐานะที่ลำบากแม้จะมีความต้องการอยากได้อยากมีอย่างไรก็จะควบคุมความต้องการของตัวเอง เลือกสิ่งที่ไม่ไกลเกินกำลังของตัวเอง
ในยุคสมัยของการบริโภคแบบนี้เรื่องนี้นับเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ เพื่อไม่ให้ตกอยู่ภายใต้การเย้ายวนของสื่อโฆษณาต่างๆ ที่มักทำให้เราเป็นคนไม่รู้จักพอ
7. รู้จักว่าตัวเองมีศักยภาพ มีคุณค่าในตัวเอง คือการมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง ถือเป็นลักษณะนิสัยแห่งความสำเร็จ คนที่เห็นในคุณค่าตัวเองจะไม่พาตัวเองไปสู่เรื่องเลวร้าย และเป็นคนที่มีพลังใจในการเรียนรู้และทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ถือว่าเป็นบันไดขั้นแรกที่จะพัฒนาต่อไปสู่ความบากบั่น อุตสาหะในชีวิตข้างหน้าได้
สำหรับเด็ก ๆ สิ่งนี้เราเริ่มได้จากการที่ให้เขาได้รู้สึกว่าตัวเองทำได้ เด็กทุกคนมีความอยากรู้ อยากเห็น อยากทดลองเป็นทุนอยู่แล้ว ถ้าเราจะสร้างสิ่งนี้ในใจลูกก็ต้องรักษาความอยาก ความกระตือรือร้นเหล่านี้ไว้อย่าให้หายไป พร้อมกันนั้นก็ต้องปลูกฝังความเป็นคนช่างสังเกตให้กับลูก เพราะเมื่อสังเกตก็เกิดความสนใจ เมื่อสนใจก็อยากค้นคว้า เมื่อค้นคว้าบ่อยเข้าก็กลายเป็นคนอยากรู้ อยากทำ เกิดเป็นความเชื่อมั่นในตัวเองเพิ่มมากขึ้น ๆ
8. ทักษะในวิชาชีพ อาจเพราะด้วยสังคมเต็มไปด้วยบรรยากาศของการแข่งขัน ทำให้พ่อแม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เกิดวิถีการเลี้ยงลูกแบบให้ความสำคัญกับเรื่องวิชาการความรู้เป็นหลัก จนลืมพัฒนาด้านอื่น ๆ ของลูกไปพร้อมกัน แล้วถ้ามาบวกรวมกับสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบาย ก็อาจทำให้ลูกเราขาดทักษะชีวิตในมิติอื่น ๆ ไปได้
ว่ากันจริง ๆ แล้วทักษะความสามารถในด้านนี้เทียบไม่ได้กับคุณลักษณะอื่น ๆ ที่กล่าวไปข้างต้น เพราะถ้าคุณพ่อคุณแม่เตรียมทั้ง 7 ด้านให้ลูกเป็นมาอย่างดีแล้ว ทั้งหมดนั้นก็จะเป็นเครื่องมืออย่างดีที่จะนำพาลูกไปสู่การเรียน การทำงานที่ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพในอนาคตได้
พ่อแม่แบบนี้..สร้างทักษะชีวิตให้ลูก
การจะเลี้ยงดูลูกแบบที่ช่วยสร้างเสริม ทักษะชีวิต ให้ลูกได้นั้นจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมชาติ อยู่ในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญต้องคำนึงถึงพัฒนาการและความสามารถตามวัยของลูกเป็นหลัก
ให้เวลากับลูก ทั้งเวลาในการเลี้ยงดู ดูแลให้ความรัก ความอบอุ่น ให้เวลาเพื่อการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ กับลูก เวลาเพื่อการเรียนรู้ลูกเพื่อนำไปสู่การกำหนดและปรับเปลี่ยนวิธีการในการเลี้ยงดูให้สอดคล้องเหมาะสมกับความเป็นตัวลูกมากที่สุด และสุดท้ายก็ต้องให้เวลาลูกสำหรับการเรียนรู้ ฝึกฝนสิ่งต่าง ๆ แบบที่ไม่เร่งรัด กดดันลูกจนเกิดเป็นความเครียด
ส่งเสริมให้ลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัย ความสามารถและพัฒนาการของลูกจะปรับเปลี่ยนพัฒนาขึ้นตามวัย ฉะนั้นการเลี้ยงดูของพ่อแม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามนั้นด้วย อย่างในช่วงวัย 0-3 ปี เป็นช่วงที่เด็กยังช่วยเหลือตัวเองได้น้อย พ่อแม่จึงยังคงต้องดูแลช่วยเหลือใกล้ชิด เปิดโอกาสให้ลูกทำด้วยตัวเองบ้าง โดยคอยดูและให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกต้องการ
แต่เมื่อเข้าสู่วัย 3-6 ปี แล้วการเลี้ยงดูก็จะควรเปลี่ยนจากการถนอม ปกป้องมาให้อิสระ มีโอกาสได้พึ่งพาตัวเอง เรียนรู้ได้เองให้มากยิ่งขึ้น
ให้โอกาสลูกได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง โดยมีคุณอยู่ข้าง ๆ คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือเมื่อลูกต้องการ ชื่นชมและให้กำลังใจ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกเกิดการค้นพบ การเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง และที่สำคัญก็เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง โดยให้ลูกลองทำในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้
กิจวัตรประจำวัน เพื่อเพิ่มพูนทักษะในเรื่องเหล่านั้น ให้เขารับผิดชอบตัวเองได้
เรื่องที่ต้องใช้ความพยายาม ท้าทายความสามารถต่างๆ เช่น ผ่านการเล่นที่ให้เขาได้ลองหาทางออก วิธีเล่นด้วยตัวเอง การฝึกว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หรือแม้แต่การก้าวผ่านพัฒนาการ หรือการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น ตกลงร่วมกันว่าเราจะเลิกกินนมจากขวดเมื่อไหร่ ด้วยวิธีไหน เราจะไม่กินขนมหวานก่อนกินข้าว เราจะไปออกกำลังกาย เป็นต้น
ให้ลูกมีโอกาสได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายจากชีวิตประจำวันบ้างในโอกาสที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกได้รู้และได้สัมผัสว่าในโลกนี้ยังมีวิถีชีวิตอื่นๆ อีก
เผชิญกับความรู้สึกที่กดดัน รอคอย เช่น ให้ลูกเข้าคิวรอเล่นของเล่นต่อจากคนอื่น รอต่อแถวซื้อขนมด้วยตัวเอง ไม่ใช่พ่อแม่เข้าไปจัดการให้เสียหมด
ให้รู้จักชีวิตที่มีกติกา เพื่อให้เรียนรู้ขอบเขตของการใช้ชีวิตทั้งในและนอกบ้าน เช่น
กฏเกณฑ์และระเบียบในบ้าน เช่น การกินอยู่ที่เป็นเวลา การต้องล้างมือก่อนกินข้าว
ระเบียบในสังคม เช่น สอนให้ลูกรู้จักการเข้าคิวรอคอย สอนให้ลูกข้ามถนนตรงทางม้าลายหรือสะพานลอย การตื่นเช้าเพื่อไปโรงเรียนให้ตรงตามเวลา
การรู้จักควบคุมอารมณ์และแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น เวลาที่ลูกอยากได้ของเล่น แล้วพ่อแม่ไม่ซื้อให้พ่อแม่ก็ต้องให้เหตุผลและเบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อไม่ให้ลูกเอาแต่ใจร้องกรี๊ด ๆ ในที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้องความสนใจ
ให้ลูกมีโอกาสสัมผัส สัมพันธ์กับผู้อื่น และให้มีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่น ๆ บ้าง เพื่อเรียนรู้วิธีการสื่อสาร การปรับตัวและใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ พร้อมกันนั้นก็ให้ลูกได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น โดยเริ่มต้นจากในบ้านจากการช่วยเหลือพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนและครูที่โรงเรียน หรือกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ เช่น ชวนกันไปอ่านหนังสืออัดเทปให้คนตาบอด การบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น
ให้ลูกเรียนรู้จากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ขนบธรรมเนียม วิถีปฏิบัติที่พ่อแม่ปฏิบัติ เพราะจะช่วยให้คุณสอนลูกได้อย่างเป็นธรรมชาติ เรียกว่าพาทำในทุก ๆ กิจกรรมประจำวันที่เราและลูกต้องทำ ซึ่งจะเกิดการเรียนรู้และซึมซับได้ดี เพราะเป็นสิ่งที่ลูกต้องเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เช่น คุณจะไปซื้อของก็ชวนลูกวางแผนการซื้อ ชวนสังเกตข้าวของในตลาด ลองให้ลูกซื้อของด้วยตัวเอง การสวดมนต์ไหว้พระ ทำบุญ เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ การแบ่งปันมีน้ำใจกับเพื่อนบ้าน เป็นต้น
พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบ คำพูดหรือจะสำคัญเท่าการกระทำ เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดก็จากการกระทำของพ่อแม่มากกว่าคำสอน พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบให้ลูกตั้งแต่คำพูด การกระทำ และวิธีคิด ซึ่งประเด็นหลังนี้ถ้าไม่เราสื่อให้ลูกรู้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นก็จะผ่านเลยไปโดยที่ลูกไม่มีโอกาสได้เรียนรู้หลักและวิธีคิดจากเราเลย ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยการบอกเหตุผลที่คุณทำหรือไม่ทำสิ่งนั้น เช่น เด็กคนนี้น่าสงสารจัง เดี๋ยวเราช่วยซื้อขนมเขาหน่อยดีกว่านะ หรือ เดี๋ยวก่อนเราจะไปห้างเรามาช่วยกันดูซิว่าเราต้องซื้ออะไรกันบ้าง เป็นต้น
เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก