x close

เมื่อแม่ท้องเป็นอีสุกอีใส

ตั้งครรภ์

เมื่อแม่ท้องเป็นอีสุกอีใส
(modernmom)

            ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน เป็นช่วงหนึ่งที่โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) กำลังระบาดจริง ๆ แล้วโรคนี้มักจะพบในเด็กวัยเรียนมากกว่ากับผู้ใหญ่ แต่ก็อาจจะพบได้บ้าง แต่เมื่อเกิดขึ้นจะมีอาการมากกว่าเด็ก โดยเฉพาะกับแม่ตั้งครรภ์ที่อาการแทรกซ้อนจากการเป็นโรคอีสุกอีใสนั้นมีไม่น้อย คุณแม่จึงควรรับมือและดูแลตัวเอง

สังเกตอาการอีสุกอีใส

            อาการที่เด่นชัดนอกจากตุ่มน้ำใสที่เกิดขึ้นบนร่างกายแล้ว อาจจะมีอาการร่วมคือมีไข้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กและผู้ใหญ่นั้นต่างกันเด็กเล็กอาจจะมีใช้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร แต่กับผู้ใหญ่นั้นจะมีไข้สูง ปวดเมื่อตามตัวคล้ายอาการของไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน

            จากนั้นจึงเริ่มมีผื่นขึ้นในวันแรกที่มีไข้ หรืออาจจะหนึ่งวันหลังจากที่มีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงแบนราบ จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสอยู่ข้างใน คันและกลายเป็นหนอง หลังจาก 2-4 วัน ตุ่มน้ำใสจะตกสะเก็ด ลักษณะของผื่นและตุ่มที่เกิดขึ้นนั้นมักจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วค่อยลามไปบริเวณหน้า ลำตัว และแผ่นหลังโดยตุ่มจะทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนอาจจะมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ส่งผลให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ แต่อาการนี้ก็ไม่ได้เกิดกับทุกคนครับ เพราะบางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้น เท่านั้น ในกรณีที่มีตุ่มในปากอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นเริ่มได้

แม่ท้องกับอีสุกอีใส

            สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันไม่ปกติจากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ เมื่อเป็นอีสุกอีใส ความรุนแรงของการติดเชื้อขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของคุณแม่ด้วย

ติดเชื้อระยะครรภ์อ่อน (ภายใน 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์)

            ทารกในครรภ์อาจจะติดเชื้อไปด้วย มีผลทำให้เกิดความผิดปกติของทารก (แต่ไม่ทุกราย) ที่เรียกกันว่า Congenital Varicella Syndrome ทารกอาจจะมีความผิดปกติของผิวหนัง แขนขาเล็กลีบไม่ปกติ ปัญญาอ่อน ตาเป็นต้อกระจก เป็นต้น โดยครึ่งหนึ่งของทารกเหล่านี้มักเสียชีวิตภายใน 2 ปีแรก แต่ก็มีทารกบางรายที่มีการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์แต่คลอดออกมาเป็นปกติได้ แต่กว่าจะรู้ว่าผิดปกติหรือไม่คือในช่วงที่อาการของผิวหนังทารกแสดงอาการแบบติดเชื้องูสวัดภายในขวบปีแรก

ติดเชื้อระหว่างคลอด

            สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคนี้ก่อนคลอดนานกว่า 1 สัปดาห์ มีโอกาสที่ทารกจะติดเชื้อขณะคลอดได้สูงประมาณ 30% แต่อาการมักไม่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้เพราะทารกมีเวลาอยู่ในครรภ์นานมากพอในช่วงที่แม่เป็นโรค จึงได้รับภูมิต่อต้านเชื้อโรคถ่ายทอดมาจากแม่ด้วย หลังคลอดแล้วทารกจึงยังคงมีภูมิต้านทานมากพอ ที่จะรับมือกับโรคอีสุกอีใสได้แล้วส่วนหนึ่ง อาการที่เกิดขึ้นกับเด็ก ก็มีความรุนแรงลดลง

            อาการของทารกหลังคลอดเมื่อเป็นอีสุกอีใส จะแสดงอาการที่ผิวหนังให้เห็นภายใน 4 วันแรกหลังคลอด ทารกกลุ่มนี้มักมีโอกาสเสียชีวิตน้อยมาก แต่หากเกิดอาการอีสุกอีใสช่วงหลักวันที่ 5-10 หลังคลอด ต้องระวังมาก เพราะมักจะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 20% แต่หากทารกแสดงอาการหลังคลอดภายหลังเกินกว่า 10 วันไปแล้ว มักไม่รุนแรงจนถึงขึ้นเสียชีวิตครับ

            แต่โชคดีที่ปัจจุบันมียาต้านเชื้อไวรัสอีสุกอีใสที่ใช้รักษาการติดเชื้อรุนแรง ทำให้อัตราการตายของทารกแรกเกิดลดลงได้มาก ในรายที่เป็นรุนแรงแพทย์มักจะฉีดยาอิมมูโนกลอบบูลิน (Immunoglobulin) ต้านเชื้ออีสุกอีใสให้ทารก ตั้งแต่ระยะแรกที่ทารกเพิ่งเป็นโรคก่อนที่จะมีอาการรุนแรง ก็จะช่วยลดผลกระทบที่จะมีต่อทารกได้มาก แต่ปัญหาคือยาเหล่านี้มีราคาแพงมากและหายาได้ค่อนข้างยาก

            ความรุนแรงของโรคอีสุกอีใสระหว่างตั้งครรภ์ฟังแล้วอาจใจหาย แต่อย่ามัวกังวลใจ ควรดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

ติดเชื้อระยะใกล้คลอด (ช่วงประมาณ 7 วันก่อนคลอด 7 วันหลังคลอด)

            คุณแม่อายุครรภ์ใกล้ครบกำหนดคลอดจะเป็นอันตรายมาก ส่วนใหญ่ประมาณ 40% มักมีอาการแทรกซ้อนคือ ปอดบวม ปอดอักเสบ หากมีอาการรุนแรงอาจจะเกิดภาวะหายใจล้มเหลวถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูกในครรภ์ ซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและออกซิเจนขนาดสูง ร่วมกับการให้ยาต้านเชื้ออีสุกอีใส แต่หากติดเชื้ออีสุกอีใสชนิดรุนแรงอาจจะทำให้ทารกเสียชีวิตได้ถึงหนึ่งในสาม

ดูแลแม่ตั้งครรภ์เมื่อเป็นอีสุกอีใส

            แม้จะได้ฟังถึงความรุนแรงของโรคอีสุกอีใสระหว่างตั้งครรภ์แล้วชวนใจหาย คุณแม่ก็อย่าเพิ่งกังวลใจไปนะครับ เพราะหากคุณแม่เป็นโรคนี้ระหว่างตั้งครรภ์ ควรมีการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีจะดีกว่า การเป็นกังวลใจเพียงอย่างเดียว

            คุณแม่ควรดื่มน้ำให้มาก และพักผ่อนให้เพียงพอ

            รักษาตามอาการ หากมีอาการไข้สูงควรกินยาลดไข้ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดอาการ หรือถ้ามีอาการคันมากอาจจะกินยาแก้แพ้ก็ช่วยบรรเทาอาการได้ แต่การกินยานั้นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอเท่านั้น

            อาบน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาด อาจใช้สบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้ตุ่มติดเชื้อกลายเป็นหนอง

            ตัดเล็บให้สั้น ไม่ควรแกะหรือเกาตุ่มคัน เพราะอาจจะติดเชื้อกลายเป็นตุ่มหนองได้

            ถ้าตุ่มน้ำใสกลายเป็นหนอง ควรทาด้วย ขี้ผึ้ง เตตราไซคลีน หรือเจนเชียนไวโอเลต ซึ่งหากมีตุ่มหนองปริมาณมาก อาจจะต้องกินยาปฏิชีวนะ

            หากมีอาการปากเปื่อยให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก

            หากคุณแม่มีอาการรุนแรง เช่น หอบ ชัก ซึม ไม่ค่อยรู้ตัวควรส่งโรงพยาบาลด่วน

ป้องกันอีสุกอีใส

            เลี่ยง ไม่ไปสัมผัสหรืออยู่ใกล้กับคนที่เป็นโรคอีสุกอีใส ซึ่งในช่วงนี้ที่เชื้อโรคกำลังระบาดคุณแม่ควรเลี่ยงไม่ไปที่ชุมชนแออัด หรือเข้าใกล้บุคคลอื่นมากนัก บางครั้งเชื้อโรคที่กำลังฟักตัวนั้นยังไม่แสดงอาการ เราไม่อาจรู้ได้ว่าเพื่อนร่วมงานที่อยู่ใกล้กันนั้นกำลังจะเป็น เพราะระยะฟักตัวและการกระจายเชื้อของอีสุกอีใสนั้นเริ่มได้ตั้งแต่ 2-3 วันก่อนที่คนไข้จะมีผื่นขึ้น ซึ่งจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงที่กำลังมีผื่นขึ้นแล้วเป็นตุ่มสุกใสอยู่ ปกติจะนานประมาณ 5 วัน จนกว่าที่ตุ่มเหล่านี้แห้งตกสะเก็ดจึงจะพ้นระยะติดต่อ

            ทางเลือก กับวัคซีนฉีดป้องกันอีสุกอีใส เป็นวัคซีนชนิดที่ผลิตมาจากเชื้อที่มีชีวิต นำมาเลี้ยงและทำให้อ่อนแรงลงในห้องปฏิบัติการ จนเรียกได้ว่าเชื่อง เมื่อฉีดวัคซีนนี้เข้าไปในร่างกาย เชื้อจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้ออีสุกอีใสได้ สำหรับผู้ใหญ่ต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 1 เดือน และควรรออย่างน้อยอีก 1-3 เดือน จึงจะเริ่มตั้งครรภ์ได้

            Concern : สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่ควรฉีดวัคซีน เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้ ซึ่งก็รวมถึงคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องด้วย

            เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวคุณแม่และลูก ทางที่ดีก่อนการตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเตรียมการและวางแผนไม่ให้เกิดปัญหาจะดีที่สุดครับ

สาเหตุอีสุกอีใส

            เกิดจากเชื้ออีสุกอีใส ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลาไวรัส (Varicella Virus) หรือ Human Herpes Virus Type 3 ที่เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด สามารถติดต่อได้หลายทาง เช่น โดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรง สัมผัสกับของใช้ เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน ฯลฯ ที่ปนเปื้อนเชื้อจากตุ่มน้ำของคนที่เป็นอีสุกอีใส หรือจากการสูดหายใจเอาละอองเชื้อโรคของตุ่มน้ำผ่านเข้าไปทางเยื่อเมือกบุทางเดินหายใจ ซึ่งเชื้อโรคมีระยะฟักตัวนาน 10-20 วัน

ที่มาชื่ออีสุกอีใส

            เนื่องจากผื่นและตุ่มของโรคนี้จะค่อย ๆ ออกทีละระลอก ตุ่มขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ลักษณะของตุ่มบางกลุ่มขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางกลุ่มเป็นตุ่ม จึงมักเรียกว่า อีสุกอีใส คือมีทั้งตุ่มสุกตุ่มใสนั่นเอง

เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.15 No.172 กุมภาพันธ์ 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อแม่ท้องเป็นอีสุกอีใส อัปเดตล่าสุด 3 มีนาคม 2553 เวลา 15:17:27 2,982 อ่าน
TOP