ฝึกลูก : เป็นตัวของตัวเอง

baby - mom

ฝึกลูก : เป็นตัวของตัวเอง
(modernmom)
โดย: ชาดา

มาเรียนรู้ทักษะการฝึกลูกน้อยให้เป็นตัวของตัวเองกันเถอะ

ฝึกลูก : เป็นตัวของตัวเอง

           การดูแลฟูมฟักลูกรักให้เติบใหญ่ ใช่เพียงแต่จะให้ได้กินอาหารดีมีประโยชน์และการศึกษาดีเท่านั้นนะคะ หากอยู่ที่การสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้ด้วย และหนึ่งในสิ่งที่จะเป็นกุญแจสำคัญก็คือ การสร้างความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่อายุขวบสองขวบนี่เลยค่ะ

รู้ทฤษฎี ... เข้าใจลูก

           อีริกสัน นักจิตวิเคราะห์ชาวเดนมาร์ก แบ่งช่วงพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของคนไว้ทั้งหมด 8 ระยะด้วยกัน โดยระยะที่หนึ่งถึงสามถือเป็นระยะเริ่มต้นที่สำคัญ อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี แต่ละระยะของพัฒนาการจะเน้นเกี่ยวกับพัฒนาการด้านอารมณ์ซึ่งอีริกสันบอกว่า หากแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการทางอารมณ์อย่างสมบูรณ์ช่วงต่อไปก็จะดีตาม แต่หากบกพร่องก็จะเกิดผลกระทบส่งต่อความบกพร่องไปยังช่วงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

           ในช่วงอายุ 1-3 ปีนั้น ฃถือเป็นช่วงของการความเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy) ด้วยพัฒนาการทางอารมณ์ที่ลูกเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง พูดได้ เดินได้ กินได้เอง กำลังสนุกอยู่กับการทดลองที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง แถมยังเพลิดเพลินกับการทดสอบอารมณ์ของพ่อแม่ด้วยการแผลงฤทธิ์ วีน เอาแต่ใจ ดื้อสารพัด เรียกว่าความป่วนทั้งหลายพร้อมใจมารวมตัวกันในวัยนี้ แต่ในขณะเดียวกันช่วงอายุ 1-3 ปีก็เป็นวัยที่เหมาะกับการบ่มเพาะความเป็นตัวของตัวเองให้งอกงามเติบโตในตัว ซึ่งถือเป็นการเตรียมการเพื่อสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความเข้าใจและความอดทนของคุณพ่อคุณแม่ที่จะสร้างความ เป็นตัวของตัวเองที่พอเหมาะพอควรให้ลูกด้วยค่ะ

"3 ไม่ "ขัดขวาง

ไม่ให้ทำเอง

           "ลูกไม่ต้อง ... แม่ทำเอง" ถ้าคุณเลี้ยงลูกให้เป็นเจ้านายในบ้าน แล้วตัวเองตามเป็นนางสนองพระโอษฐ์ คอยป้อนข้าว ป้อนน้ำ ไม่ยอมให้หยิบจับอะไรทั้งนั้น ดูแลลูกเหมือนกับเป็นเด็กเล็กๆ ตลอดเวลา

           แบบนี้ดีกว่า : "ปล่อยทำอะไรเอง"

           การได้จับช้อนกินข้าว ดื่มน้ำจากแก้ว เดินไปเก็บจานเอง ไม่มีเด็กคนไหนไม่ชอบหรอกค่ะ วัยนี้ชอบอยู่แล้วที่ได้เลียนแบบผู้ใหญ่ การช่วยเหลือลูกเกินไปทำให้เขาขาดประสบการณ์ ไม่ได้ฝึกฝน จึงขาดความมั่นใจที่จะทำ ในที่สุดก็เลยไม่ยอมทำอะไรเพราะคิดว่าทำได้ไม่ดีพอ

ไม่ให้ลองเล่น

           "อย่าเล่นทรายลูก ใส่รองเท้าด้วยเดี๋ยวโคลนเลอะเปื้อนดิน" ฯลฯ เรียกว่าสกปรกนิดหน่อยเป็นไม่ได้ เรื่องที่จะปล่อยให้เล่นลุยมอมแมมไม่มีทางแน่

           แบบนี้ดีกว่า : "ปล่อยให้เล่น ให้ลอง"

           บางทีการที่ลูกเล่นแผลง ๆ กระโดดลงจากเตียง ปีนโต๊ะกินข้าว วิ่งหกล้มหัวคมำบ้างก็เป็นความซนเฉพาะวัย (แต่ต้องมั่นใจว่าพ่อแม่อยู่ด้วยปลอดภัยและไม่อันตรายร้ายแรง) จะช่วยให้ลูกกล้าคิด กล้าตัดสิน และกล้าลงมือ แล้วการที่จะสกปรก เลอะเทอะ หรือเจ็บตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ จะเป็นบทเรียนให้ลูกได้เรียนรู้ว่าครั้งหน้าจะไม่ทำ และระวังตัวมากกว่านี้ แถมการเล่นแผลง ๆ บ้าง ก็เป็นการคิดอะไรใหม่ ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างและกระตุ้นจินตนาการฝึกความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกได้ดีทีเดียว การปล่อยให้ลูกทำเองโดยแม่คอยดูอยู่ห่าง ๆ จะทำให้ลูกรู้จักคิดที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง เสียงร้องห้ามทุกครั้งของผู้ใหญ่จะทำให้ลูกคิดว่าเขาเป็นคนไม่มีความสามารถ ไม่กล้าตัดสินใจ และไม่กล้าลงมือทำในที่สุด

ไม่ให้นอกกรอบ

           "อ๊ะๆ อย่าซนลูก อย่ากระโดดแบบนั้น" ห้ามเล่นทุกอย่างที่นอกลู่นอกทาง ลูกต้องอยู่ในกรอบหรือสิ่งที่พ่อแม่เตรียมไว้ให้ จะเล่นได้เพียงตัวต่อเลโก้ในบ้าน ห้ามลอง ห้ามจับ ของเล่นแปลกใหม่ที่ (แม่) ไม่คุ้นตา

           แบบนี้ดีกว่า : "ปล่อยให้เลือก ได้ตัดสินใจ"

           การเพิ่มตัวเลือกให้ลูก (แต่เราอาจกำหนดขอบเขตตัวเลือกให้ได้) จะช่วยให้ได้ฝึก คิด รู้จักเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น ก่อนจัดเสื้อผ้าให้ลูกในแต่ละวันอาจลองถามว่าลูกอยากใส่ตัวไหน หรือเลือกของเล่นเอง เลือกแบ่งของเล่นให้เพื่อนเล่นด้วย เมื่อลูกเลือกแล้วต้องยอมรับและสนับสนุนความคิดลูกด้วยนะคะ ถ้าให้ลูกเลือกแต่ไม่ยอมรับความเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือครั้งต่อไปลูก จะไม่กล้าเลือก สูญเสียความมั่นใจและรู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับ

Parent Guide

           การเลี้ยงดูของพ่อกับแม่ต้องไปทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องตัดสินหรือเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง(สรุปกันเสียก่อนที่จะคุย กับลูกเป็นวิธีที่จะทำให้ลูกไม่สับสนต่อความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของพ่อแม่)

           รักเอาใจใส่และเข้าใจพัฒนาการที่เหมาะตามวัยเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ถูกทาง

           สนับสนุนและกระตุ้นให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองอย่างเหมาะสมกับวัย อย่ายัดเยียดและเผลอคิดว่าลูกเป็นเด็กทารกอยู่ตลอดเวลาหรือลูกเป็นผู้ใหญ่ ตัวเล็ก ๆ

           ไม่ควบคุมหรือไม่ช่วยเหลือลูกมากเกินไป จนทำให้ลูกกลายเป็นลูกแหง่ทำอะไรเองไม่เป็น ซึ่งจะส่งผลเสียเมื่อลูกโตขึ้นจะทำให้เข้ากับเพื่อนลำบาก เมื่อไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่ม ความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองของลูกก็จะถดถอยลงไปด้วย

           คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องแข็งขืนขัดใจลูก หรือโอนอ่อนยอมตามใจลูกบ้าง เรื่องนี้ต้องหาจุดกึ่งกลางสมดุลให้เหมาะสม และต้องพิจารณาการยอมหรือไม่ยอมตามใจลูกโดยยึดพื้นฐานความถูกต้อง ปลอดภัย ร่วมกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในขณะนั้นประกอบกัน

เอาแต่ใจ VS เป็นตัวของตัวเอง

           นายแพทย์ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของพฤติกรรมทั้งสองนี้ว่า "พฤติกรรมการเอาแต่ใจกับการเป็นตัวของเองเป็นเส้นบางๆ ที่เกือบจะแยกกันไม่ออกสำหรับเด็กวัย 1-3 ปี แต่จุดที่แตกต่างกันก็คือ การเอาแต่ใจจะเป็นพฤติกรรมที่ทำตามอารมณ์ ส่วนการเป็นตัวของตัวเองจะมีแบบแผนพฤติกรรมที่ชัดเจน เช่น หากเด็กเอาแต่ใจถูกบังคับอาจจะทำตามบ้างหรือไม่ทำตามแล้วแต่อารมณ์ ขณะที่เด็กที่เป็นตัวของตัวเองจะไม่ทำอย่างชัดเจนซึ่งเราจะเห็นรูปแบบนี้การ ปฏิเสธในครั้งต่อไปอย่างเป็นแบบแผนและมีสไตล์ของตัวเอง"

 เป็นตัวของตัวเองมากไป   

           มั่นใจในตัวเองซึ่งอาจจะทั้งเรื่องดีและไม่ดี

           ไม่รับฟังความคิดเห็นเพื่อนๆ หรือที่เรียกเอาแต่ใจ

           ช่างเลือกยึดติดกับสิ่งที่ตัวเองมี ถ้าไม่ได้ก็จะโวยวายเอาให้ได้

 ไม่เป็นต้วของตัวเอง

           ไม่มั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองไม่รู้จัก

           กาลเทศะเพราะพ่อแม่ไม่เคยห้าม

           ทำตามเพื่อนทุกอย่างไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

           คิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถไม่มีสิทธิ์เลือกจนดูเป็นเด็กนิ่งเฉย

เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝึกลูก : เป็นตัวของตัวเอง อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2553 เวลา 15:53:37 1,583 อ่าน
TOP
x close