
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
กล่าวกันว่าเรื่องของ "ประเพณีการแต่งงาน" นั้น นอกจากพิธีการแต่งงานแบบไทยที่มีความงดงาม และคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีประเพณีการ "แต่งงานแบบจีน" ที่เป็นพิธีการแต่งงานที่อยู่ใกล้ชิดกับคนไทย และมีความหมายอันงดงามซ่อนอยู่ในทุกรายละเอียด อย่างน่าสนใจใคร่รู้ไม่น้อยเช่นกัน
ความงดงามในขั้นตอนพิธีการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพิธีการแต่งงานแบบจีนนั้น เริ่มจากการจัดเครื่องขันหมาก และสิ่งของที่ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องจัดเตรียมให้ครบครัน เพื่อการเข้าพิธีวิวาห์แบบจีนที่สมบูรณ์แบบ

นอกจากสินสอดทองหมั้นที่รู้กันดีอยู่แล้ว เจ้าบ่าวในพิธีจีนจะต้องเตรียมเครื่องขันหมาก ซึ่งจะเป็นอะไรนั้น โดยทั่วไปนิยมส้มเช้งผลเขียว ๆ ติดตัวอักษรจีน "ซังฮี่" แปลว่า คู่ยินดี ไว้ทุกผล จัดเป็นเลขคู่จะ 44 ผลหรือ 84 ผล หรือร้อยกว่าผลก็ได้ บางบ้านอาจเรียกเป็นชุดหมูสด เช่น ขาหมู ตับหมู กระเพาะหมูสด ๆ หรือฝ่ายเจ้าบ่าวอาจนำเงินใส่ของ หน้าซองเขียนว่า ใช้ซื้อขาหมู ซื้อกระเพาะหมู แทนก็ได้
แต่ของสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ ขนมขันหมาก หรือ ขนมแต่งงาน เป็นขนมสี จะใช้ 4 สีหรือ 5 สีก็ได้ สำหรับแจกให้กับเหล่าญาติ ๆ เช่น ขนมเหนียวเคลือบงา ขนมเปี๊ยะ ขนมถั่วตัด ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อน
พร้อมซองเงิน 4 ซอง ที่พ่อแม่ของเจ้าบ่าวจะต้องให้กับพ่อแม่ของเจ้าสาว เพื่อเป็นค่าตัวทำผม แต่งหน้า และซองที่สี่เป็นทุนตั้งตัว ซองแรกเป็นค่าน้ำนม ซองที่ 2 เป็นค่าเสื้อผ้า ซองที่ 3 เป็นคำทำผม แต่งหน้า และซองที่ 4 เป็นทุนตั้งตัว ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความปรานีของพ่อแม่เจ้าสาว ว่าจะคืนให้คู่บ่าวสาวเอาไว้ใช้เริ่มต้นชีวิตคู่หรือไม่
ในวันงานของทั้งหมด ที่กล่าวมาจะบรรจุไว้ในหาบ แล้วให้ผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านครอบครัวและการงาน พร้อมกับดวงชะตาถูกโฉลกต้องกับคู่บ่าวสาว เป็นผู้หาบจากขบวนขันหมากเข้ามาในบริเวณงาน เมื่อเข้ามาถึงผู้ที่หาบจะต้องใช้ไม้คานเขี่ยฝาหาบให้เปิดออก โดยห้ามใช้มือเปิดเด็ดขาด เพราะคนจีนถือว่าวันแห่ขันหมากเป็นวันแรง ถ้าหากคนหาบเป็นคนดวงอ่อน ก็จะทำให้เจอกับโชคร้าย จากนั้นจึงนำของภายในหาบออกมาวางเรียงกัน เพื่อแสดงต่อหน้าญาติ ๆ และสักขีพยานที่มาร่วมงาน


สำหรับเจ้าสาวในการเตรียมของเพื่อออกเรือน จะมีข้าวของเครื่องใช้มากมาย เริ่มจากเอี๊ยมแต่งงานซึ่งเป็นเอี๊ยมสีแดง ตรงอกเสื้อเอี๊ยมมีช่องกระเป๋าปักตัวอักษร "แป๊ะนี้ไห่เล่า" แปลว่าอยู่กินกันจนแก่เฒ่า ในกระเป๋าเอี๊ยมบรรจุห่อเมล็ดพืช 5 ชนิด มีความหมายว่าเจริญงอกงาม พร้อมต้นชุงเฉ้าหรือต้นเมียหลวง 2 ต้น และปิ่นทองที่ทำเป็นตัวลายภาษาจีนว่า "ยู่อี่" แปลว่าลมปรารถนา เสียบไว้ให้ปลายโผล่พ้นขอบกระเป๋าขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีเชือกแดงสำหรับผูกเอี๊ยม มีตัวหนังสือ "ซังอี้" แปลว่าคู่ยินดี มีแผ่นหัวใจสีแดงสำหรับติดเรื่องประดับทอง เครื่องประดับเพชร ซึ่งจะมีมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าสาว
ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าสาวยังต้องเตรียมกะละมังสีแดง 2 ใบ ถังน้ำสีแดง 2 ใบ กระป๋องน้ำสีแดง 2 ใบ กระโถน 1 ใบ พร้อมกระจก กรรไกร ด้าย เข็ม ถาดสีแดง และของที่ต้องจัดเป็นจำนวนคู่อย่างตะเกียบ ชุดน้ำชา พัดแดง สำหรับเจ้าสาวถือตอนส่งตัว นอกจากนี้ยังมีผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม 1 ผืน หมอน 1 ชุด ซึ่งจะมี 4 ใบหรือ 5 ใบก็ได้ ประกอบไปด้วยหมอนข้าง 1 คู่ หมอนหนุน 1 คู่ หมอนหนุนใบยาว 1 ใบ ซึ่งหมอนใบยาวนี้จะมีหรือไม่ก็ได้ ถ้าเจ้าสาวฐานะดี พ่อแม่อาจจะจัดเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้ด้วย เช่น ทีวีจอยักษ์ ตู้เย็น จักรเย็บผ้า ประมาณนี้ แล้วสุดท้ายยังมีหวีอีก 4 เล่มที่เป็นเคล็ดมงคลตามภาษาจีนเขียนว่า "ซี้ซี้อู่หอชิว" หมายถึงทุก ๆ เวลาจะได้มีทรัพย์

เมื่อถึงวันยกขันหมาก เจ้าบ่าวจะยกขันหมากมาที่บ้านเจ้าสาว มอบสินสอดทองหมั้นและเครื่องขันหมากที่เตรียมมาให้ ฝ่ายเจ้าสาวต้องเก็บขนมแต่งไว้ครึ่งหนึ่ง และส่งอีกครึ่งหนึ่งคืนให้ฝ่ายเจ้าบ่าว พร้อมส้มเช้งที่ติดตัวอักษร "ซังอี่" จัดเป็นจำนวนผลคู่ กับเอี๊ยมแดงที่มีปิ่นทองเสียบอยู่ ในเช้าวันที่เจ้าบ่าวมารับตัวเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าบ่าวจะนำปิ่นทองมามอบให้เจ้าสาวใช้ติดผมก่อนออกจากบ้าน นอกจากส้มเช้งแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะให้กล้วยทั้งเครือกับฝ่ายเจ้าบ่าวเพิ่มไป ด้วย เพื่อเป็นเคล็ดว่าจะได้มีลูกหลานว่านเครือสืบสกุล
เนื่องจากเครื่องขันหมาก สำหรับหมั้นและสำหรับแต่งนิยมจัดหมือนกัน ดังนั้น ในวันยกขันหมากอาจจะจัดให้มีพิธีหมั้นด้วยก็ได้ โดยมีธรรมเนียมว่าวันหมั้น ฝ่ายหญิงเป็นผู้รับภาระเรื่องการเลี้ยงหมั้น แล้ววันเลี้ยงวันแต่งงานเป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย ซึ่งข้อกำหนดนี้ปรับเปลี่ยนได้ตามฐานะของทั้งสองฝ่าย หลังจากพิธีหมั้นฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องนำของที่เจ้าสาวมอบให้ทั้งหมดยกเว้น กล้วย 1 เครือ นำมาวางไว้ที่หัวเตียงในห้องหอ และต้องนอนในห้องหอจนกว่าจะถึงวันแต่งงาน และไปรับเจ้าสาวมาอยู่ด้วยกัน


เมื่อถึงวันแต่งงานเจ้าบ่าวจะต้องเดินทางไปรับเจ้าสาวตามฤกษ์ ในขบวนที่ร่วมเดินทางไปรับเจ้าสาวนั้น จะประกอบไปด้วยกลุ่มญาติที่เป็นชายล้วน ๆ เจ้าบ่าวจะต้องเตรียมช่อดอกไม้ไปด้วย 1 ช่อ และนำปิ่นทองผูกติดกับกิ่งทับทิม สำหรับประดับผมมาด้วย โดยปิ่นทองจะทำปิ่นทองหรือ "ยู่อี่" นี้มามอบให้กับแม่ของเจ้าสาว เพื่อนำปิ่นทองนี้มาประดับผมให้กับเจ้าสาว ที่สวมชุดแต่งงานและแต่งหน้าทำผมสวยงามรออยู่ในห้องด้านใน การทำเช่นนี้ถือเป็นการอวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวโชคดี
เมื่อเจ้าบ่าวเดินทางมาถึงบ้านเจ้าสาว ก็จะพบกับประตูเงิน ประตูทอง ตรงนี้เจ้าบ่าวจะต้องให้ "เล่าตั้ว" หรือพี่เลี้ยงของเจ้าบ่าว คอยจ่ายค่าผ่านทางเพื่อเข้าไปหาเจ้าสาวที่อยู่ในห้อง เมื่อผ่านด่านทั้งหมดแล้ว เจ้าบ่าวจะนำช่อดอกไม้ที่เตรียมมามอบให้เจ้าสาว จากนั้นจึงพวกกันออกมาเคารพพ่อแม่ที่รออยู่ด้านนอก ระหว่างพิธีบรรดาญาติมิตรจะมาร่วมรับประทาน ขนมบัวลอย รอเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ให้ออกมาร่วมรับประทานพร้อมกัน ในที่นี้การได้รับประทานบัวลอยจะหมายถึง การอวยพรให้ชีวิตคู่มีความกลมเกลียว จะทำสิ่งใดก็จะลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่ก็บางบ้านที่ตั้งโต๊ะให้คู่บ่าวสาวกินอาหารมงคล 10 อย่างก่อน แล้วจึงไหว้ลาพ่อแม่ไปขึ้นรถแต่งงาน
สำหรับญาติฝ่ายเจ้าสาว ที่ตามมาส่งเจ้าสาวถึงบ้านเจ้าบ่าว จะต้องเป็นกลุ่มผู้ชายล้วนเช่นกัน ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเตรียมตะเกียงที่สำหรับจุดให้แสง แล้วนำมาให้ญาติที่เป็นผู้ชายของฝ่ายหญิง เดินถือนำหน้าขบวนพาเจ้าสาวมาขึ้นรถ การจุดตะเกียงนี้หมายถึงให้ชีวิตคู่มีแต่ความสว่างไสว และถือเคล็ดว่าให้มีลูกชายเป็นผู้สืบสกุล พร้อมกันนี้ยังต้องจัดกระเป๋าสีแดงภายในบรรจุทรัพย์สินเงินทอง ที่พ่อแม่เจ้าสาวจะให้เจ้าสาวได้นำติดตัวไปสร้างครอบครัว
นอกจากนั้น ฝ่ายเจ้าสาวยังต้องเตรียมกาน้ำชาและชุดยกน้ำชาสำหรับพิธียกน้ำชา พร้อมด้วยเชิงเทียนสีแดง 1 คู่ เพื่อความเป็นสิริมงคลมาด้วย เมื่อมาถึงบ้านเจ้าบ่าวญาติหนุ่มฝ่ายเจ้าสาวจะนำตะเกียงไปวางไว้ในห้องหอ และจุดทิ้งไว้ข้ามคืน โดยฝ่ายเจ้าบ่าวต้องให้อั่งเปาซองใหญ่กับผู้ที่นำตะเกียงมา เพราะถือว่าเป็นพิธีสำคัญ ปัจจุบันสามารถประยุกต์ใช้เป็นตะเกียงแบบเสียบปลั๊กแทน หลังจากนั้นจึงออกมาประกอบพิธีแต่งงานด้านนอก
พิธีแต่งงานจะเริ่มจากการไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ในบ้าน ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้พ่อแม่ เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าทั้งคู่ได้แต่งงานกันแล้ว ถัดมาจึงเป็นการยกน้ำชา หรือ "ขั่งเต๊" ให้กับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว โดยทั้งสองต้องคุกเข่าลง พร้อมกับรินน้ำชาใส่ถ้วยวางลงบนถาดแล้วส่งให้ ผู้ใหญ่จะรับถ้วยชามาดื่มแล้วให้ศีลให้พร และเงินทองเพื่อเป็นทุนตั้งตัว เสร็จพิธียกน้ำชา คู่บ่าวสาวจึงกินขนมอี๊สีชมพูอีกครั้ง พิธีนี้จะทำในวันเดียวกันหรือจะทำอีกวันก็ได้ แต่ปัจจุบันนิยมทำพิธีให้จบในวันเดียว ส่วนช่วงเย็นจะจัดงานเลี้ยงแบบฝรั่งฉลองต่อแบบสมัยใหม่ ที่กลายเป็นธรรมเนียมของทุกงานแล้วก็ได้


ในประเพณีการแต่งงานแบบจีน "พิธียกน้ำชา" ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คู่บ่าว-สาวจะขาดไม่ได้ เนื่องจากพิธียกน้ำชาแสดงถึงการเคารพและคารวะญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีขั้นตอนเริ่มแรกคือจากการจัดที่นั่งให้ผู้ใหญ่ โดยให้คุณพ่อเจ้าบ่าวนั่งด้านซ้ายของคุณแม่ จากนั้นคู่บ่าว-สาว คลานเข่ายกถาดชาที่มีถ้วยชา 2 ใบรินน้ำชาเตรียมไว้แล้วยกให้คุณพ่อคุณแม่ ท่านจะหยิบถ้วยน้ำชาขึ้นดื่มกัน โดยจะจิบแค่นิดหน่อย ห้ามจิบหมดถ้วย เพราะถือว่าน้ำชาที่เหลือมอบเป็นทุนกลับไปให้คู่บ่าว-สาว (ส่วนใหญ่นิยมเทกลับไปในกา)
จากนั้นคู่บ่าว-สาวจึงยกย้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ท่านอื่นตามลำดับความอาวุโส ทั้งนี้ ทุกครั้งที่ยกน้ำชา ต้องรินชาใส่ถ้วย 2 ใบทุกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่ที่คู่ชีวิตเสียไปแล้ว แต่แทนที่ผู้ใหญ่จะดื่มเองทั้ง 2 ถ้วย ก็ดื่มแค่ถ้วยเดียว ส่วนผู้ใหญ่ที่คู่ชีวิตยังมีชีวิตอยู่แต่มาไม่ได้ ก็ให้ดื่มทั้ง 2 ถ้วย เมื่อผู้ใหญ่ดื่มแล้วจะให้ศีลให้พร และมอบเงินทองให้คู่บ่าว-สาวโดยใส่ไว้ในถาด
ต่อมาคู่บ่าว-สาวจะร่วมกันรับประทาน ขนมอี๊ (เป็นขนมบัวลอยจีน ใช้แป้งข้าวเหนียวนวดจนได้ที่ปั้นเป็นลูกกลม ผสมสีชมพูเพื่อให้ได้สีสิริมงคล) ซึางเป็นอันเสร็จพิธี
สำหรับลักษณะของกาและถ้วยชาใน พิธียกน้ำชา ต้องเป็นถ้วยชาแบบจีน ไม่ควรใช้ถ้วยชาที่มีหู และควรมีถาดในการยกน้ำชาด้วยทุกครั้ง ส่วนชาที่ใช้ในพิธีจะเป็นชาจีนหรือชาฝรั่งก็ไม่ผิดธรรมเนียมแต่อย่างใด

ตามธรรมเนียมจีนในวันส่งตัวคืนที่เจ้าบ่าวไปรับเจ้าสาว ก่อนจะพาอออจากบ้านอาจมีการตั้งโต๊ะให้คู่บ่าวสาวกินอาหารมงคล 10 อย่าง เป็นเคล็ดให้คู่บ่าวสาวมีความสุข อาหารทั้ง 10 อย่างที่รับประทานรวมกันนั้นประกอบไปด้วย…










หลังวันแต่ง 3 วัน 7 วัน หรือ 15 วัน แล้วแต่ฤกษ์ ก็ถึงคราวที่ญาติหนุ่มของฝ่ายเจ้าสาวจะมารับตัวเธอกลับไปเยี่ยมบ้านพร้อม กับเขยคนใหม่ที่เรียกว่า "ตึ่งฉู่" เจ้าสาวต้องเตรียมส้ม 12 ผลใส่ถาดติดไม้ติดมือกลับไปด้วย เมื่อไปถึงบ้านของฝ่ายหญิงก็ต้องทำพิธียกน้ำชาให้กับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ ฝ่ายหญิงเช่นกัน ผู้ใหญ่ก็จะให้พรและมอบทรัพย์สินเพื่อเป็นของขวัญในการตั้งตัว จากนั้นจะมีงานเลี้ยงต้อนรับลูกเชย จึงเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงานอย่างแท้จริง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
