ดูแลลูกน้อยเป็นไข้ (modernmom)
เมื่อลูกน้อยมีอาการตัวร้อนไข้สูง ยิ่งเป็นเด็กเล็กด้วยแล้ว คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องสามารถจัดการให้ได้อย่างไม่ตื่นตระหนก Modern Mom มีเทคนิคการดูแลลูกอ่อนยามเป็นไข้มาฝากกันแบบครบขั้นตอน ตั้งแต่วิธีการวัดไข้ เช็ดตัว และป้อนยาเลยล่ะค่ะ รับรองว่าเข้าใจง่ายและใช้ได้จริงยามต้องการค่ะ
วัดไข้ให้ถูกวิธี
สำหรับเด็กเล็กในช่วงขวบปีแรก หากลูกมีอุณหภูมิเกิน 38 องศาเซลเซียส ก็แสดงว่าลูกมีไข้แล้วค่ะ แต่ก่อนที่จะรู้ว่าความร้อนในตัวลูกตอนนี้อยู่ที่เท่าไหร่ ต้องรู้จักการวัดอุณหภูมิลูกด้วยเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ ที่มีอยู่หลายแบบกันก่อน
แถบวัดอุณหภูมิ เป็นแผ่นขนาดเล็กที่มีตัวเลข วิธีใช้คือ เอาแผ่นนั้นมาวางทาบบนหน้าผากลูกโดยหันด้านที่มีตัวเลขออกมา ทิ้งไว้ประมาณ 15 วินาที ก็สามารถวัดผลงานแถบตัวเลขได้ และเมื่อใช้เสร็จแล้ว ก็อาจใช้ผ้าเช็ดคราบเหงื่อที่อาจจะติดแถบวัดให้สะอาด
ปรอทวัดไข้ทางรักแร้ จะเหมาะกับลูกวัย 3 เดือนขึ้นไป การใช้ปรอทวัดไข้ทางรักแร้ ทำได้โดยยกแขนลูกข้างใดข้างหนึ่งขึ้น วางเทอร์โมมิเตอร์ให้กระเปาะปรอทอยู่ตรงรักแร้ จับแขนลูกลงให้หนีบเทอร์โมมิเตอร์ไว้ราว 5 นาทีค่อยเอาออกมาดู ระวังไม่ให้ปลายปรอทวัดไข้โผล่ออกจากรักแร้ด้านหลัง เพราะจะได้ค่าไม่ถูกต้อง
เครื่องวัดอุณหภูมิทางหูแบบดิจิตอล เป็นวิธีที่นิยมในปัจจุบัน เพราะใช้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ สามารถทำได้ แม้ขณะทารกหรือลูกนอนหลับ เพียงสอดเครื่องวัดอุณหภูมิไว้ในรูหู รอสักครู่ก็อ่านค่าได้ทันที บางรุ่นมีแผ่นครอบ เพื่อป้องกันระดับความลึกไม่ให้เข้าไปในหูลูกลึกเกินไป
Tips :
เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน หากรู้สึกว่าลูกมีไข้ก็ควรรีบพามาพบแพทย์เลย เพราะมีโอกาสที่จะมีความรุนแรงได้มาก
ถ้าลูกมีไข้ควรให้ลูกดื่มน้ำเยอะ ๆ เพราะช่วยลดระดับความร้อนในร่างกายได้
สัญญาณที่ต้องพาลูกไปพบแพทย์
มีไข้ขึ้นสูง หากลูกมีไข้ขึ้นสูงก็ควรรีบพาลูกไปหาหมอ โดยจะดูตามเกณฑ์อายุคือ ลูกอายุ 3-6 เดือน แล้วมีอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 38 องศาเซลเซียส และลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป แล้วมีอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 39.4 องศาเซลเซียส ระหว่างทางควรเช็ดตัวลดไข้ให้ลูกไปด้วย
ไข้เป็นเวลา ถ้าลูกขวบปีแรกเป็นไข้นานกว่า 24 ชั่วโมง ทำการลดไข้ด้วยวิธีต่าง ๆ ก็แล้ว ไม่หาย
มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการกระสับกระส่าย ร้องไห้ไม่หยุด ซึมหายใจเร็วหอบ ชัก อาเจียน หรือท้องเสีย เป็นต้น
ระวังอาการชัก หากลูกไข้ขึ้นสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องระวังว่าลูกอาจเกิดอาการชักได้ ซึ่งต้องทำการลดไข้โดยด่วน ด้วยการนำผ้าขนหนูชุบน้ำมาไว้ตามข้อพับเพื่อการระบายความร้อน
เช็ดตัวลดไข้
เมื่อรู้แล้วว่าลูกมีไข้ การดูแลอันดับแรกๆ ที่คุณแม่ควรทำในการลดไข้ให้ลูกคือการเช็ดตัว ซึ่งวิธีการเช็ดตัวให้ลูกก็ไม่ยาก เพียงแต่มีบางจุดที่คุณแม่ควรเน้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นจุดที่ช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายได้เป็นอย่างดีค่ะ
ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุณหภูมิห้องหรือผสมน้ำอุ่นนิดหน่อย จะช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว และนำความร้อนออกจากร่างกายได้ดี แต่ไม่ควรใช้น้ำเย็น แผ่นแช่แข็งลดไข้ เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มอุณหภูมิเข้าไปอีก
เช็ดตัวลูกจากช่วงศีรษะไล่ลงไปจนทั่วร่างกาย ช่วงซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ ที่จะเป็นจุดรวมความร้อน และคอยเปลี่ยนผ้าเมื่อรู้สึกว่าผ้าเริ่มอุ่น หรือน้ำเริ่มแห้ง
อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ สอดไว้ที่รักแร้หรือซอกขาหนีบ ซึ่งเป็นจุดที่มีเส้นเลือดใหญ่ไหลผ่าน ความร้อนจะได้แพร่มาที่ผ้าได้อย่างรวดเร็ว
โดยปกติของการเช็ดตัวไข้จะลดภายในครึ่งชั่วโมงค่ะ ถ้าลดควรให้ทานยาควบคู่ไปด้วย
Tips :
ให้ลูกแต่งตัวด้วยชุดสบาย ๆ แล้วใช้วิธีการห่มผ้าห่มที่ไม่หนามากแทนการแต่งตัว หรือห่มผ้าหนา ๆ จะทำให้การระบายความร้อนไม่สะดวกและจะทำให้อุณหภูมิกลับสูงขึ้น
ห้องนอนเด็ก ควรมีอากาศถ่ายเทและไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป หรือเปิดพัดลมเป่าระบายอากาศได้ แต่ไม่ควรหันมาตรงตัวลูก
ป้อนยาลูก
เมื่อเช็ดตัวให้ลูกแล้วไข้ยังไม่ลดดี คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้ลูกกินยาควบคู่ไปด้วยค่ะ โดยยาแก้ที่เหมาะกับเด็กเล็ก ได้แก่ ยากลุ่มพาราเซตามอล ซึ่งถือเป็นตัวเลือกแรก เพราะสามารถใช้กับเด็กได้ทุกวัย สำหรับเด็กเล็กก็จะใช้แบบน้ำให้กิน 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อครั้ง ทุก 4-6 ชั่วโมง หรืออ่านฉลากยาให้ละเอียด เพราะในนั้นจะบอกปริมาณและเวลาให้อยู่แล้วค่ะ
ส่วนการป้อนยาให้ลูกเล็กก็สามารถทำได้หลายวิธีค่ะ ตามความถนัดของพ่อแม่
หลอดป้อนยา มีลักษณะเป็นหลอดฉีดยาแต่ไม่มีเข็ม เมื่อคุณแม่ดูดยาเข้าหลอดตามปริมาณที่ต้องการแล้ว ก็ให้นำหลอดป้อนยาใส่ปากลูก โดยหันเข้าข้างแก้มแล้วค่อยปล่อยยาลงไป อย่าปล่อยเร็วนะคะ ลูกอาจจะสำลักเพราะกลืนยาไม่ทัน
ใช้ช้อนป้อนยา ต้องดูให้ลูกนั่งก่อน แล้วค่อยป้อนค่ะ
หลอดหยดยา (Dripper) ซึ่งมักเป็นขนาด 1 ซีซี ถ้าต้องกินยา 5 ซีซี (1 ช้อนชา) ก็ต้องดูดมาป้อนรวม 5 ครั้ง
หัวใจสำคัญของการป้อนยาเด็กเล็กต้องใจเย็นและมีความอดทน ค่อย ๆ ป้อนเพราะเด็กจะค่อย ๆ กลืนยา ไม่สามารถทำได้รวดเร็ว และถ้ามีการบังคับลูกก็จะขัดขืน ทำให้ป้อนไม่ได้หรืออาจสำลักยาเข้าปอดหรืออาเจียนได้
Tips :
หลอดป้อนยาเมื่อใช้ไปนาน ๆ ตัวเลขอาจจะลบเลือน ถ้าเริ่มมองตัวเลขไม่ชัด ควรเปลี่ยนอันใหม่ เพราะอาจจะให้ปริมาณยาผิด
อย่าลืมตรวจดูวันหมดอายุข้างขวดยา ดูลักษณะยาว่าสียาเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ หากเปลี่ยนแล้วก็ไม่ควรใช้ยาขวดนั้นอีก
ก่อนการซื้อยา คุณแม่ควรแจ้งเภสัชกรว่าลูกมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง และเคยแพ้ยาตัวใดบ้าง
หากดูแลลดไข้ลูกผ่านไป 24 ชั่วโมงแล้ว ไข้ยังไม่ลด ควรพาไปหาคุณหมอให้ตรวจดูให้ละเอียดนะคะ
ควรอ่านฉลากกำกับยาให้เข้าใจถึงวิธีใช้ และเก็บรักษาอย่างละเอียดก่อนป้อนยา
ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) สำหรับผู้ใหญ่ ไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกับเด็กเล็กได้ ควรใช้พาราเซตามอลน้ำสำหรับเด็ก
ร่างกายเด็กเล็กมีน้ำหนัก ส่วนสูงและพื้นผิวของร่างกายน้อยกว่าผู้ใหญ่ การให้ยาเด็กเล็กต้องคำนวณปริมาณยาตามน้ำหนักตัวเป็นหลัก ยาเด็กเล็กและเด็กโตก็ต่างกัน คุณแม่ควรเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับวัยลูก
เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.15 No.176 มิถุนายน 2553