วัยร้ายเลข 2

 



วัยร้ายเลข 2 (ดวงใจพ่อแม่)
โดย : บอล

          ”ไอซ์จะกินหนม เอาหนมมานะ บอกว่าเอามาๆๆๆ เป็นใบ้เหรอ” 

          ”
ฮือๆๆๆ ไอซ์จะเอาแม่นก พี่แจ๋วไปเอาแม่นกมา!!” 

          ”ไม่ๆๆ ! อย่ามายุ่งกับไอซ์นะ เดี๋ยวไอซ์เอามีดหั่นเนื้อเลย” 

          น่าสงสารแจ๋วนะครับ แต่ถ้าเพียงพี่แจ๋วของน้องไอซ์จะเข้าใจว่า น้องไอซ์ที่เคยน่ารักแสนดีกำลังย่างเข้าสู่วัยที่ผู้เชี่ยวชาญเขาเรียกกันว่า “Terrible 2” ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยทารกที่กำลังเข้าสู่วัยเตาะแตะ ซึ่งในวัยนี้เด็กทุกคนจะมีการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดที่ทำหน้าที่ดูแลหนักใจกันถ้วนหน้า แต่ว่าทำไมหนูๆ ถึงต้องทำตัวอารมณ์บูด พูดได้แต่ ไม่ๆๆๆ หรืออาละวาดงอแงโดยไม่เลือกเวลาแบบนี้ล่ะ ? 

           หนูดื้อ หนูร้าย หนูมีเหตุผลนะ 

          ความจริงแล้วอาการเอาแต่ใจโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางแบบนี้ เริ่มมาตั้งแต่หนูๆ อายุได้ขวบครึ่งหรือขวบปลายๆ แล้ว แต่จะมาปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นด้วยสาเหตุหลักๆ หลายประการดังต่อไปนี้ 

           นี่แหละหนู ในวัยนี้หนูๆ เริ่มมีอิสระเพราะพัฒนาการทางร่างกายก้าวหน้า มีศักยภาพที่จะไปไหนหรือทำอะไรได้มากขึ้น เริ่มมีการก่อร่างของความรู้สึก “ความเป็นตัวของตัวเอง” ต้องการจะทำโน่นทำนี่ ไปโน่นมานี่ ทุกสิ่งรอบตัวจะดูแปลกใหม่และน่าสนใจ น่าสนุกไปเสียหมดสำหรับหนู แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการการประคับประคองดูแลจากพ่อแม่อยู่ มีทั้งความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของหนูๆ ด้วย ในบางครั้งการปฏิเสธของหนูก็เป็นการบอกถึงจุดยืนของตัวหนูได้ เช่น พี่แจ๋วบอกให้น้องไอซ์ไปกินข้าวแต่น้องไอซ์ยังสนุกกับการเล่นอยู่ ก็เลยบอกว่าไม่ๆๆๆ เป็นการประกาศจุดยืน 

           ไม่ชินกับการปฏิเสธ หรือรอไม่เป็น หนูๆ ในวัยนี้ เพิ่งผ่านพ้นวัยทารกที่เวลาต้องการอะไรหนูร้องไห้หน่อยก็ได้ทันใจแล้ว หิวก็ได้หม่ำ ง่วงก็ได้นอน พอโตขึ้นมาอีกนิด โลกกว้างขึ้น ความต้องการด้านอื่นก็มากขึ้นตาม หนูๆ เคยชินต่อการได้รับตอบสนองที่ทันใจจึงไม่เคยคุ้นกับการปฏิเสธ ทำให้เขาแสดงออกมาเพราะในวัยทารก หิวร้องไห้ก็ได้กิน นอกจากนี้เขาก็ยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับความรู้สึกไม่พอใจได้อย่างไร ซึ่งต้องเป็นเรื่องของประสบการณ์ครับ 

           หนูค้นพบ หนูเรียนรู้ หนูอยากลอง เช่น ในบางครั้งที่เด็กๆ มีกิริยาที่เรานึกไม่ถึง หรือพูดคำหยาบคายที่เราไม่คิดว่าเด็กตัวเล็กๆ จะพูดได้ วัยนี้กำลังเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้จดจำและนำไปใช้ หนูได้ค้นพบคำศัพท์ใหม่ๆ ก็เลยขอซะหน่อยเถอะ (ก็คนอื่นเขาพูดกันนี่) บางครั้งคำหยาบคายบางคำ หนูก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ แล้วมีความหมายอย่างไร รวมไปถึงกิริยาแปลกๆ อื่นๆ ที่เลียนแบบมาจากคนอื่นด้วย 

           แล้วจะทำอย่างไรกับหนูดี ? 

          ถึงแม้จะเข้าใจแล้วว่าที่หนูต้องดื้อต้องร้าย เพราะมีเหตุผลแอบแฝงอยู่ แต่จะจัดการอย่างไรกับหนูต่อไปล่ะนี่ ลองมาดูกันเป็นกรณีไปเลยดีกว่า ! 

          เอาแต่ใจ...จอมสั่ง 

          ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การสั่งของลูกมาจาก 1) การจดจำ เช่น เวลาเราบอกให้ลูกทำนั่นทำนี่ ลูกก็จำรูปแบบประโยคมาใช้กับเรา 2) มาจากข้อจำกัดทางภาษาที่หนูยังไม่รู้จัก อาจทำให้ดูเหมือนการสั่ง

          สิ่งที่เราควรจะทำก็คือให้เขาได้รู้จักการพูดขอร้อง ขอความช่วยเหลือด้วยความสุภาพ เช่น แทนที่จะพูด “น้องไอซ์เอาลูกบอลมานี่” ก็ให้ลองเปลี่ยนเป็น “น้องไอซ์คะขอลูกบอลนั่นให้แม่หน่อยสิคะ” และพูดขอบคุณหรือชมเขาด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างและแรงจูงใจให้ลูกพูดเพราะๆ ไงครับ 

          ในขณะเดียวกันก็ให้งดการตอบสนอง ถ้าหนูยังพูดสั่งอยู่ เช่น “เอาบอลมา” ก็ไม่ต้องทำตามคับแต่ให้สอนเขาว่าถ้าเขาต้องการจะให้คนหยิบลูกบอลให้ก็ควรจะต้องพูดขอร้องแบบสุภาพๆ 

          พูดจาแสดงอารมณ์ งอแง หรืออาละวาด 

          เมื่อหนูไม่ได้ตั้งใจ ก็อาจจะพูดจาแสดงอารมณ์ หรืออาจถึงขั้นลงไปร้องไห้ชักกะแด่วๆ ที่พื้นเลยก็ได้ ในกรณีนี้ให้คุณพ่อคุณแม่พยายามทำใจเย็น อย่าใช้อารมณ์ตอบโต้กับลูก ให้ลองพยายามเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ในกรณีที่ลูกร้องไห้จะเอาของเล่นในห้างสรรพสินค้าแทนที่จะตามใจหรือโมโหจนตีลูก ให้พาลูกออกจากตรงนั้น เพื่อเปลี่ยนอารมณ์ หรือบรรยากาศให้ดีขึ้น แล้วจึงค่อยๆ อธิบายว่าทำไมเราถึงไม่ซื้อของชิ้นนั้นให้แก่เขา เป็นต้น 

           
คุณพ่อคุณแม่ อย่าลืม 

          1. เข้าใจหนูบ้าง ว่าอารมณ์ของหนูที่ดูดื้อ ดูร้ายหรือแปรปรวนเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่เกิดขึ้นตามวัย ซึ่งหนูยังขาดทักษะในการจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึก คิดในทางที่ดีก็เป็นโอกาสที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ใช้ในการสอน สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตของเขาในวันข้างหน้า 

          2. ยืดหยุ่นตามสมควร เพราะนอกจากจะเป็นวัยที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Self-Centre) หนูๆ ยังมีแรงต่อต้านต่อการบังคับ ไม่เชื่อฟัง คุณพ่อคุณแม่จึงควรยืดหยุ่นตามสถานการณ์ (แต่สิ่งไหนที่เป็นกฎหรือกติกาที่ตกลงกันไว้แล้ว ก็ไม่ควรโอนอ่อนตามใจเขาโดยไม่มีเหตุผล ไม่อย่านั้นหนูอาจจะเคยตัวและไม่เคารพกฎที่ตั้งไว้ร่วมกันเลยก็ได้) 

          การช่วยให้หนู ผ่านพ้นช่วงพัฒนาการนี้ และเติบโตขึ้นโดยได้บทเรียนที่จำเป็น ที่จะสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยเขาได้ แต่คงไม่ยากเกินไปสำหรับคุณพ่อคุณแม่ชาวดวงใจฯ หรอกใช่ไหมครับ ? 

           Tips : การใช้อารมณ์หรือการบังคับจัดการกับพฤติกรรมสุดเซี้ยวของคุณหนู ๆ คงจะไม่ใช่ทางที่ดีนัก เพราะหนู ๆ อาจจะต่อต้านได้ อย่าลืมนะครับ มีเหตุผลและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ดีที่สุดครับ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสารดวงใจพ่อแม่




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัยร้ายเลข 2 อัปเดตล่าสุด 30 กรกฎาคม 2552 เวลา 18:01:27 11,138 อ่าน
TOP
x close