x close

ตั้งครรภ์ ต้องระวังสัตว์เลี้ยง !



ท้องต้องระวังสัตว์เลี้ยง !
(รักลูก)
โดย: ก้านแก้ว

         สัตว์เลี้ยงแสนรักในบ้าน ทั้งเจ้าตูบ เจ้าเหมียว อาจนำโรคมาให้คุณแม่ท้องได้นะคะ ดังนั้นถ้าจะเลี้ยงสัตว์ในช่วง ตั้งครรภ์ จึงต้องรู้วิธีดูแลและป้องกันตัวด้วยค่ะ

         ผลงานวิจัยจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าคุณแม่ที่มีสัตว์เลี้ยงตอนตั้งครรภ์ จะทำให้ความเครียดและความวิตกกังวลในการตั้งครรภ์ของคุณแม่ลดลง จิตใจผ่อนคลาย มองโลกในแง่ดี คลายเหงาเพราะมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน ส่งผลดีต่อสุขภาพ และอารมณ์ของคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์เป็นอย่างยิ่งเลยล่ะค่ะ การเล่นกับสัตว์เลี้ยงทั้งหลายยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย แต่ข้อเสียหรือข้อที่ควรระวังในขณะตั้งครรภ์ก็มีค่ะ เพราะสัตว์เลี้ยงทำให้เกิดโรคได้

สุนัข

สุนัข

อาการแพ้ขนสุนัข

         สุนัขที่นิยมเลี้ยงส่วนใหญ่มีหลายสายพันธุ์ค่ะ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ขนสั้น และ ขนยาว ซึ่งโรคภัยที่คุณแม่ท้องต้องระวังจากสุนัขส่วนใหญ่ มักจะเป็นพันธุ์ขนยาว เพราะคุณแม่บางคนอาจเกิดอาการภูมิแพ้ จากโปรตีนที่อยู่ในสารคัดหลั่งของสิ่งที่สุนัขปล่อยออกมา เช่น ขน ปัสสาวะ แต่ถ้าหากเป็นคุณแม่ที่มีโรคภูมิแพ้เพียงแค่การสัมผัสหรือสูดดม อาการแพ้ก็จะเกิดขึ้นได้ เช่น อาการหอบหืดในคนที่มีประวัติของโรคนี้มาก่อน อาการเป็นผื่นแดงตามผิวหนัง อาการคัน เป็นต้น

เห็บหมัดจากเจ้าตูบ

         คุณแม่หลายคนมักจะกลัวว่าเห็บหมัดของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว จะเป็นตัวนำเชื้อโรคมาสู่คนได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วเห็บหมัดสามารถกัดเราจนเป็นแผลหรือผื่นได้จริงค่ะ แต่ไม่สามารถอาศัยเกาะกินเลือดเราได้นาน เหมือนเกาะอยู่ที่สัตว์เลี้ยงตัว โปรด เพราะร่างกายของเราไม่เหมาะสมที่จะเป็นโฮสต์ หรือที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของ เห็บหมัด

         แต่ก็ไม่ใช่เรื่องดี ที่จะปล่อยให้เห็บหมัดมากัดเรานะคะ ควรระวังค่ะ เพราะมีรายงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ารัฐทางตอนใต้ของประเทศซึ่งมีอากาศอบอุ่น มีเห็บบางชนิดที่สามารถนำโรคมาสู่คนได้เหมือนกัน เช่น โรค Rocky Mountain Spot Fever หรือ โรค Lyme Disease แต่บ้านเราไม่มีเห็บชนิดนั้นค่ะ ทำให้ยังไม่มีรายงานโรคนี้เกิดขึ้น

พฤติกรรมเฉพาะตัว

         สุนัขบางพันธุ์ชอบแสดงความรักและดีใจด้วยการกระโดดใส่เจ้าของ โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ใหญ่ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้เป็นอันตรายต่อคุณแม่ เพราะในระหว่างที่ตั้งครรภ์ การทรงตัวของคุณแม่จะไม่ดี หากเจ้าตูบกระโจนเข้าใส่ เพราะอยากเล่นด้วย อาจทำให้หกล้มจนกระทบกระเทือนไปถึงลูกน้อยในท้องได้

         คุณหมาก็ขี้อิจฉาเป็นนะคะ โดยเฉพาะคุณแม่เพิ่งคลอดลูกน้อย ซึ่งหากคุณแม่เคยเลี้ยงเจ้าตูบตัวเดียวตลอด ความรักและความเอาใจใส่ก็ทุ่มเทให้ทั้งหมด ครั้นมีลูกตัวเล็กๆ ที่ต้องใส่ใจ เจ้าตูบก็จะรู้สึกว่าถูกแย่งความรัก จนสามารถทำร้ายเจ้าตัวเล็กของเราได้ค่ะ ควรสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง และอย่าปล่อยลูกให้อยู่ตามลำพังกับสัตว์เลี้ยงโดยเด็ดขาดค่ะ

แมว

แมวเหมียว

โรค Toxoplasmosis (โรคขี้แมว)

         เจ้าเหมียวสามารถนำโรคภัยมาสู่แม่ท้องได้มากกว่าเจ้าตูบค่ะ โดยเฉพาะโรคนี้ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเชื้อนี้เกิดจากเชื้อโปรโตซัว ซึ่งจะเจริญและขยายพันธุ์ในลำไส้ของแมว โดยแมวที่เลี้ยงแบบปล่อย มักจะชอบเที่ยวนอกบ้าน ซึ่งอาจจะไปกินเนื้อดิบ ๆ หรือกินหนู และแมลงสาบที่ติดเชื้อ เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายแมว ไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนลำไส้ของแมว และเชื้อจะปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของแมวค่ะ

         ถ้าคุณแม่ไปทำความสะอาดกระบะทราย และสัมผัสถูกอุจจาระแมว และไม่ล้างมือก่อนทานอาหาร คุณแม่ก็จะได้รับเชื้อโรคนี้ แล้วเชื้อจะส่งผ่านทางรกไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ได้ ซึ่งผลที่มีต่อเด็กคือ เด็กบางคนอาจแท้ง บางคนเมื่อเด็กคลอดออกมาตอนแรกจะเหมือนเด็กปกติทุกอย่าง แต่หลังจากคลอดประมาณ 6-7 เดือน เด็กที่ติดเชื้อโรคนี้จะมีอาการ ตาบอด ปัญญาอ่อน มีปัญหาด้านการเรียนรู้ และมีปัญหาด้านระบบประสาท เช่น สมองบวมน้ำ มีอาการชักและความผิดปกติของระบบประสาทได้ค่ะ

         แต่โรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณแม่ท้องทุกคน เนื่องจากคุณแม่ส่วนใหญ่ที่แข็งแรงดี จะมีภูมิต้านทานโรคนี้อยู่ในระดับหนึ่งแล้ว หากได้รับเชื้อจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด แล้วก็หายไป คุณแม่ท้องที่ต้องระวังคือ คุณแม่ในกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งซึ่งอยู่ในช่วงให้เคมีบำบัด และผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เพราะคุณแม่ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย โดยคุณแม่ที่ได้รับเชื้อโรคนี้จะมีไข้และต่อมน้ำเหลืองบวม บางรายจะมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ค่ะ

พยาธิตัวกลมและพยาธิปากขอ

         พยาธิ ทั้ง 2 ชนิดนี้พบได้ทั้งในสุนัขและแมว โดยปนเปื้อนมากับอุจจาระของสัตว์ ซึ่งจะติดสู่คนด้วยการสัมผัส คุณแม่ท้องคงไม่ต้องห่วงเรื่องนี้เท่าไร หากล้างมือทุกครั้งก่อนทานอาหาร แต่ลูกวัยเล็ก ที่ไปเล่นนอกบ้าน เล่นที่สนาม หรือจับสัตว์เลี้ยงแล้วไม่ล้างมือ ไข่ของพยาธิตัวกลมจะติดต่อสู่คน โดยการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและสัตว์เลี้ยง ส่วนพยาธิปากขอสามารถชอนไชผ่านทางผิวหนังไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระเพาะอาหาร ตับ ปอด จึงควรรักษาความสะอาด และล้างมือก่อนทานอาหารทุกครั้งค่ะ

สัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ

         สัตว์ปีก เช่น นกแก้ว นกขุนทอง และนกสวยงามอื่นๆอาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ เพราะขนนกและฝุ่นละออง อาจเกิดการฟุ้งกระจายในอากาศจากการกระพือปีกของนก

         ปลา ไม่ได้นำโรคโดยตรงมาสู่คุณแม่ตั้งครรภ์ แต่น้ำในตู้ หรือบ่อปลาที่ไม่ได้เปลี่ยนน้ำ หรือทำความสะอาดมาเป็นเวลานาน จะมีเชื้อแบคทีเรียสะสมอยู่ ซึ่งเชื้อเหล่านี้สามารถนำพาโรคต่าง ๆ มาสู่คุณแม่ได้

         สัตว์แปลก ๆ (EXOTIC PET) เช่น อิกัวน่า เต่า งูตัวเล็ก มักจะนำโรคซัลโมเนลโลซิส ซึ่งเป็นโรคสัตว์สู่คนที่สำคัญโรคหนึ่ง เชื้อโรคจะเกิดจากการที่คนสัมผัสตัวสัตว์ น้ำลายและปัสสาวะของสัตว์ แล้วไม่ได้ทำความสะอาดหรือล้างมือ คุณแม่อาจคลื่นไส้ อาเจียน ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง มีไข้ ปวดท้อง แต่บางรายที่เป็นพาหะนำโรค โดยอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ

อยู่อย่างไรให้ใกล้สัตว์ แต่ไกลโรค

         ถึงสัตว์เลี้ยงตัวโปรดจะสามารถนำพาอันตรายต่าง ๆ มาให้ได้บ้าง แต่การเป็นเพื่อนยามเหงา แก้เครียด และช่วยให้ผ่อนคลายก็เป็นเรื่องดี ดังนั้นหากจะเลี้ยงสัตว์ระหว่างตั้งท้อง ควรปฏิบัติดังนี้ค่ะ

         หลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขกระโดดใส่ เพราะจะทำให้คุณแม่ได้รับอันตรายได้

         ไม่ควรเก็บอุจาระแมวจากกระบะทรายด้วยตัวเอง หรือถ้าหาผู้ช่วยไม่ได้ ควรสวมถุงมือแบบใช้ครั้งเดียว ทิ้งทุกครั้งในการทำความสะอาดกระบะทราย และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง แนะนำว่ากระบะทรายควรเปลี่ยนทรายทุกวันเพื่อป้องกันเชื้อโรคค่ะ

         คุณแม่ที่ชอบปลูกต้นไม้ ทำสวน ควรสวมถุงมือทุกครั้ง เพราะสุนัขหรือแมว อาจมาอุจจาระไว้ในสวนหรืออาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนในดิน ทำให้คุณแม่อาจไปสัมผัสเชื้อโรคโดยไม่รู้ตัว

         ล้างมือหลังจับหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงทุกครั้งและก่อนทานอาหาร

คุณพ่อผู้ช่วยอันดับ 1

         คุณพ่อเป็นคนสำคัญเลยล่ะค่ะ ที่จะช่วยให้คุณแม่และสัตว์เลี้ยงอยู่ด้วยกันอย่างปลอดภัย ด้วยการทำหน้าที่แทนคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ นั่นคือ

         พาสัตว์เลี้ยงไปรับการถ่ายพยาธิให้สุนัขและแมวทุก 2 สัปดาห์ โดยเริ่มถ่ายพยาธิได้ตั้งแต่เจ้าสัตว์เลี้ยงอายุได้ 2 สัปดาห์

         ทำความสะอาดบ้านบ่อย ๆ ถูบ้าน ดูดฝุ่น ทำความสะอาดพรม เป็นประจำ

         ฝึกสุนัขไม่ให้กระโดดใส่เจ้าของ หรืออาจกั้นแบ่งส่วนของสัตว์เลี้ยง และห้องนอน หรือส่วนที่คุณแม่ท้องอยู่ให้ ชัดเจน โดยไม่ให้มานอนร่วมห้องนอนคุณแม่ ป้องกันปัญหาเรื่องขนร่วงและภูมิแพ้

         พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆให้ครบตามกำหนด

         เท่านี้เราก็ท้องได้อย่างปลอดภัย แถมผ่อนคลายสบายใจ เมื่อได้เห็นความน่ารักของบรรดาสัตว์เลี้ยงแสนรักค่ะ


     


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตั้งครรภ์ ต้องระวังสัตว์เลี้ยง ! อัปเดตล่าสุด 7 กันยายน 2553 เวลา 15:22:42 6,908 อ่าน
TOP