แม่ท้องต้องระวังลิ่มเลือดอุดตัน! (รักลูก)
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันอาจเป็นโรคที่ไม่ค่อยรู้จักกันมานัก และมีโอกาสที่จะเป็นค่อนข้างน้อยแต่ถ้าเป็นแล้ว ก็จะอันตรายมาก ๆ นะจ๊ะ...
ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน...เป็นอย่างไร
ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน คือโรคที่เกิดจากระบบเลือดไหลเวียนช้า ร่วมกับมีสารบางชนิดที่ส่งผลให้เลือดเกิดมีการแข็งตัวได้ง่าย จึงเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตันได้
ในประเทศไทยยังพบโรคนี้ไม่เยอะมากนัก ประมาณร้อยละ 0.1-0.7 พบได้มากในชาวตะวันตก เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันที่กินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ส่งผลให้เลือดไม่ค่อยแข็งแรง มีโอกาสที่จะเป็นได้สูง ในคนที่ถูกจำกัดให้อยู่ในอิริยาบถใดนาน ๆ เช่น ขึ้นเครื่องบินบ่อย ๆ หรือนั่งทำงานท่าเดิมนานหลายชั่วโมง ก็อาจมีความเสี่ยงสูงที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ขาได้เหมือนกัน
สำหรับแม่ท้องก็อาจเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้เหมือนกันค่ะ เนื่องจากแม่ท้อง มีแนวโน้มที่เลือดจะเกิดการแข็งตัวได้ง่ายอยู่แล้วค่ะ
แม่ท้องหลังไตรมาส 3 เลือดแข็งตัวง่าย...
มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้แม่ท้องเกิดการแข็งตัวของเลือดได้ง่าย เพราะเวลาท้องมดลูกมีการขยายตัวใหญ่ขึ้น ซึ่งโดยธรรมชาติของมดลูกเมื่อโตขึ้นก็จะเอียงไปทางขวา เมื่อเอียงมาก ๆ ก็อาจไปกดทับหลอดเลือดคำใหญ่ที่อยู่ด้านขวา ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดจากครึ่งล่างของร่างกายกลับเข้าสู่หัวใจ
ซึ่งส่วนมากจะเกิดได้ในช่วงอายุครรภ์ 5 เดือนขึ้นไป หรือที่เจอได้บ่อยคือหลังไตรมาสที่ 3 หรือในอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากมดลูกเริ่มมีการขยายใหญ่ขึ้นมาก และมีโอกาสที่จะไปกดทับหลอดเลือดได้ง่าย
เมื่อหลอดเลือดโดนมดลูกกดทับ ประกอบกับกิจวัตรของแม่ท้องเองที่วัน ๆ นั่งอยู่กับที่ เดินก็น้อย หรืออาจนอนนาน ๆ ทำให้เส้นเลือดถูกกดทับ ส่งผลให้เลือดไหลตัวช้าเข้าไปใหญ่ ก็เลยมีโอกาสที่จะมีการอุดตันของเลือดได้มากกว่าคนทั่วไป 5-6 เท่าค่ะ
โรคนี้อันตรายแค่ไหน
การมีลิ่มเลือดก็เหมือนเส้นเลือดมีก้อนเล็กๆ มาขวางอยู่ วันดีคืนดีเจ้าลิ่มก้อนนี้อาจวิ่งหลุดออกไป แล้วไปอุดเส้นเลือดใหญ่ภายในร่างกาย ที่เจอได้คือไปอุดหลอดเลือดที่ปอด พบได้ประมาณร้อยละ 15-25 เมื่อไปอุดแล้วจะทำให้ปอดเกิดภาวะขาดออกซิเจน และมีโอกาสเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน ประมาณร้อยละ 12-15
ในแม่ท้องที่มีลิ่มเลือดอุดตันที่ขา จะมีอาการขาบวม แต่จะสังเกตค่อนข้างยาก เพราะปกติแม่ท้องก็มีอาการขาบวมอยู่แล้ว แต่ถ้ามีอาการเหลี้ด้วยก็อาจเป็นสัญญาณเตือนทีไม่ดีแล้วค่ะ
สาเหตุเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
แม่ท้องอายุมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมากกว่า 40 ปี ในผู้หญิงที่มีบุตรหลายคน หรือผู้หญิงที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น กลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Antiphospholipid Syndrome) ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ใช่เพียงจะเจอเฉพาะภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เท่านั้น แต่ยังเจอปัญหาเรื่องการแท้งบ่อยด้วย ดังนั้น พอท้องก็ต้องระวังความเสี่ยงเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ
เคยเป็นโรคที่ส่งเสริมให้เลือดเกิดการแข็งตัวได้ง่าย ได้แก่ กลุ่มโรค Factor five leiden mutation ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ซึ่งคนที่เป็นโรคนี้ จะมีปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบเลือด ทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตันได้
หรืออีกกลุ่มโรคหนึ่งที่เรียกว่า การขาดโปรตีน C โปรตีน S หรือ Antithrombin III ถ้าร่างกายขาดสารเหล่านี้ จะส่งผลให้เลือดไหลช้า และกลายเป็นลิ่มเลือดอุดตันได้
เคยมีประวัติเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตัน ในท้องที่แล้ว หรือประวัติเป็นโรคนี้มาก่อนที่จะท้อง หรือมีประวัติเลือดอุดตันที่ปอด จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นขณะตั้งครรภ์ ดังนั้น ถ้าเริ่มตั้งครรภ์ก็ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาป้องกันค่ะ
อาการเตือน
มีอาการขาบวมมากกว่าปกติ อาจจะบวมข้างเดียว หรือบวมทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งอาการบวมนี้แสดงว่าอาจมีการอุดตันเกิดขึ้น
มีอาการปวดร่วมด้วย ปวดขามาก เดินไม่ไหว คือปกติแม่ท้องจะมีอาการขาบวมอยู่แล้ว แต่จะไม่ปวด
กดแล้วปวด เมื่อเอามือกดบริเวณตำแหน่งที่บวมแดง จะรู้สึกปวดมาก
ฉะนั้นเวลามีอาการ จะต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่ามีแนวโน้มหรือเป็นโรคนี้หรือไม่ ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยสำคัญมาก ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และไม่เป็นอันตรายกับแม่ท้อง คือการทำดอปเลอร์ อัลตร้าซาวนด์ เป็นการตรวจการไหลเวียนเลือดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ทำให้เห็นการไหลเวียนของเลือดว่าไหลช้าหรือเปล่า มีการอุดตันหรือเปล่า ซึ่งมีความไวในการวินิจฉัย 95% และมีความแม่นยำถึง 99% เมื่อตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่ามีแนวโน้มของโรค สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ หาสาเหตุของการเกิดโรคด้วยเสมอเพื่อรักษาที่ต้นเหตุค่ะ
ประสบการณ์...เกือบลิ่มเลือดอุดตัน
ตอนนั้นดิฉันตั้งท้องได้ประมาณ 7 เดือนกว่า ๆ อยู่ ๆ ก็เริ่มมีอาการขาบวม ซึ่งบวมตั้งแต่เท้าขึ้นไปถึงบริเวณขาหนีบเลย บวมจนรู้สึกดึงขาไปหมด เวลาเดินไปไหนมาไหนไม่สะดวกเลย ทรมานมากค่ะ ขนาดพยายามออกกำลังกาย บริหารร่างกายขยับขาบ่อย ๆ ก็ไม่หายเลยค่ะ
ตอนแรกรู้สึกตกใจมาก เพราะรู้มาว่าถ้าเป็นอาจจะทำให้ลูกพิการได้ กลัวมากไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร แล้วลูกเราจะเป็นอะไรไหม มาหาคุณหมอและได้ทำอัลตร้าซาวนด์ ซึ่งผลออกมาก็ไม่พบลิ่มเลือดแต่อย่างใด หรืออาจเป็นเพราะเพิ่งเริ่มเป็นเลยเจอแต่เพียงว่าเลือดมีการไหลช้า แต่ถ้าปล่อยไว้นาน โดยที่ไม่ทำการรักษา และดูแลตัวเองเท่าที่ควร หรือปล่อยไว้อาจจะกลายเป็นลิ่มเลือดได้ในอนาคต ก็พยายามดูแลตัวเองและปรึกษาคุณหมอใกล้ชิดตลอด
สาเหตุทีเป็นอย่างนี้ เพราะโดยปกติเป็นคนที่นั่งทำงานนานด้วย และท้องของเราใหญ่มาก ทำให้มดลูกไปกดเส้นเลือด ก็ส่งผลให้ขาบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่พอได้คุยกับคุณหมอก็รู้ว่าลูกไม่เป็นอะไร ครรภ์ไม่เป็นพิษ ก็สบายใจขึ้น แต่ก็ยังกลัวลูกจะพิการ คุณหมอเลยแนะนำว่าควรคลอดก่อนที่จะครบ 40 สัปดาห์ ตรวจว่าเด็กสมบูรณ์ แม่สมบูรณ์ ก็ผ่าได้เลย
หลังจากนั้น คุณหมอบอกให้พักอาทิตย์หนึ่ง ช่วงที่พักก็ดีขึ้น ขายุบลงบ้าง แต่ก็ยังรู้สึกบวมอยู่ และดูแลตัวเองมากขึ้น เวลานอนพยายามยกขาสูง ไม่ให้ขาอยู่นิ่งนาน ๆ และออกกำลังมากขึ้น ก็รู้สึกดีขึ้นค่ะ
กินยาละลายลิ่มเลือด เสี่ยงลูกพิการ
เมื่อคุณแม่เกิดเป็นโรคนี้ขณะที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น วิธีการรักษาคือต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งยาละลายลิ่มเลือดมีทั้งยาฉีด และยากิน
ยาฉีด ข้อควรระวังคือต้องอยู่ในความควบคุม และการดูแลของแพทย์ ห้ามฉีดเอง แต่ก็มีข้อดี คือ ยาฉีดเป็นยาที่ไม่ผ่านน้ำนม และไม่ผ่านรก เพราะฉะนั้นไม่มีผลกับลูก มีความปลอดภัย
ยากิน ต้องระวังหน่อย เพราะตัวยาจะผ่านน้ำนม และผ่านรก ซึ่งระหว่างตั้งครรภ์จะไม่ให้กินในช่วง 3 เดือนแรก เพราะยาละลายลิ่มเลือดบางชนิด ถ้ายังกินในขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ลูกพิการได้
ดังนั้น สำหรับคุณแม่ที่เคยมีประวัติเป็นโรคนี้มาแล้วในท้องที่แล้ว หรือมีประวัติเป็นลิ่มเลือดอุดตันที่ขามาก่อน หรือมีประวัติอุดตันที่ปอด ถ้าเริ่มตั้งครรภ์ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีนะคะ เพื่อป้องกันไว้ก่อนค่ะ
3 วิธี หลีกเลี่ยงขาบวม
1. อย่าปล่อยให้ขาบวม ด้วยการหลีกเลี่ยงการยืน หรือเดินนาน ๆ
2. อย่าอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ ถ้านั่งทำงาน แนะนำให้เหยียดขา และกระดกปลายเท้าขึ้นลงอยู่เสมอ หรืออาจจะให้สามีช่วยจับขาเหยียด จับงอเข่า งอสะโพก บริหารให้บริเวณขามีการขยับบ่อยๆ เพื่อให้เส้นเลือดมีการขยับบ่อย ๆ และเกิดการไหลเวียนดี
3. เวลานอนกลางคืน ควรจะนอนพาดขาสูง เพื่อให้หลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง มีการหมุนเวียนไหลกลับที่ดี แม้โอกาสที่จะเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดง่าย ๆ แต่ป้องกันไว้ดีกว่าค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 28 ฉบับที่ 332 กันยายน 2553