ใยอาหาร สำคัญกับเจ้าหนูอย่างไร



ใยอาหาร สำคัญกับเจ้าหนูอย่างไร
(Mother & Care)

           การกินอาหารของวัยเตาะแตะ กินได้หลากหลายเกือบเหมือนผู้ใหญ่แล้ว เพียงแต่ต้องดูที่ทักษะการเคี้ยวของลูก เด็กบางคนเคี้ยวเก่ง ชอบเคี้ยวก็กินอาหารหยาบได้เร็ว เด็กคนไหนไม่ค่อยชอบเคี้ยว หรือพ่อแม่มักจะบดอาหารละเอียดให้อยู่เสมอ ก็เคี้ยวได้ช้าลง แต่อย่างไรก็ตามอาหารที่สำคัญสำหรับเด็กวัยนี้ไม่ใช่นมแล้ว แต่เป็นอาหารทั้ง 5 หมู่ ที่เรารู้จักกันดี
 
           ฉบับนี้จะพาไปทำความรู้จักกับเส้นใยอาหาร ซึ่งก็คือ ส่วนของพืช ผัก ผลไม้ ที่สำคัญไม่แพ้สารอาหารอื่น ๆ

ทำความรู้จัก ใยอาหาร

           ใยอาหาร เป็นคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่ มีทั้งชนิดละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ พบมากในผัก ผลไม้ และธัญพืช ใยอาหารจะไม่ถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร แต่จะเดินทางไปจนถึงลำไส้ ทำหน้าที่กวาดสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการ เพื่อไม่ให้มีสิ่งตกค้างในลำไส้ ออกมาทางอุจจาระนั่นเอง

ทำไมเจ้าหนูต้องกิน

           ผู้ใหญ่บ้านเรา มักให้ความสำคัญกับอาหารจำพวกโปรตีนเป็นพิเศษ เพราะเป็นส่วนที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต แต่ร่างกายจะเติบโตอย่างแข็งแรงได้ดีนั้น ต้องได้รับอาหารที่หลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกาย รวมถึงใยอาหารด้วย เด็กวัยนี้หลายคน มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย เนื่องจากกินผักผลไม้น้อยเกินไป หรือดื่มน้ำสะอาดไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาท้องผูกตามมา ซึ่งอาจติดนิสัยไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ก็เป็นได้ และกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังในที่สุด
 
           ฉะนั้นการกินอาหารที่มีใยอาหารในปริมาณที่เพียงพอ จะช่วยให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น ลดปัญหาอาการท้องผูก ให้กับเจ้าหนูวัยซนได้ด้วย

กินเท่าไหร่ใน 1 วัน

           โดยปกติผู้ใหญ่ควรได้รับประมาณ 25-30 กรัมต่อหนึ่งวัน สำหรับเด็กอายุ 1-8 ขวบ ควรได้รับใยอาหาร 14-18 กรัม ต่อหนึ่งวัน ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าต้องไปชั่งปริมาณผักผลไม้ให้ยุ่งยาก เพียงแต่ในแต่ละมื้อต้องมีอาหารจานผัก และของว่างก็เป็นผลไม้สด หรือถั่วต่าง ๆ
 
           การกินธัญพืช ก็มีข้อเสียเหมือนกัน คือ ถ้ากินมากเกินไป จะทำให้เกิดลมในท้อง ท้องอืด เพราะมีการสร้างแก๊สมากขึ้น (อย่างที่ชอบพูดกันว่า กินถั่วแล้วผายลมมากนั่นเองค่ะ) ฉะนั้นการกินอาหารให้สมดุล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดการให้ลูกน้อยวัยนี้

ใยอาหาร..ผู้ช่วยลำไส้ ประโยชน์ของใยอาหารมีอยู่มากมาย อาทิ...

           ป้องกันอาการท้องผูก ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานตามปกติ
 
           ป้องกัน การดูดซึมของสารก่อมะเร็ง ใยอาหารจะช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายได้เร็ว (ทางอุจจาระ) และลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

           ป้องกันโรคหลายชนิด เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
 
           ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ

อาหารที่มีใยอาหารสูง ขอยกตัวอย่างอาหารที่มีใยอาหารสูง

           ผลไม้ : แอปเปิ้ล ลูกแพร์ ฝรั่ง มะละกอสุก กล้วย ส้มเช้ง พุทรา มะม่วงดิบ ข้าวโพด ฯลฯ

           ผัก : ข้าวโพดอ่อน แครอท เห็ดหูหนู ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ถั่วลันเตา ถั่วแระ ผักกระเฉด มะเขือพวง ฯลฯ

           ธัญพืชต่าง ๆ : ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เมล็ดทานตะวัน ถั่วเขียว งา ถั่วแดง ถั่วลิสง ฯลฯ

           อาหารอื่น ๆ : ขนมปังโฮลวีท เม็ดแมงลัก ฯลฯ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใยอาหาร สำคัญกับเจ้าหนูอย่างไร อัปเดตล่าสุด 3 ธันวาคม 2553 เวลา 15:10:48
TOP
x close