ระวัง! อันตรายจากการเล่น

แม่และเด็ก

ระวัง! อันตรายจากการเล่น
(รักลูก)

          เด็ก ๆ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อ จะมีพัฒนาการดีในทุกด้าน ทั้งความรู้ความคิดก็จะมีความปราดเปรื่อง ส่วนพ่อเองนั้น ก็จะรู้สึกผูกพันรักใคร่และภาคภูมิใจ มีจิตใจที่ปิติสุขอย่างยิ่ง

          แม้ว่า เฟอร์สเตนเบอร์ก (Furstenberg, 1976) นักจิตวิทยาเด็กในระดับปรมาจารย์ จะกล่าวไว้เมื่อ 34 ปี มาแล้ว แต่เวลาที่ผ่านมายิ่งเป็นสิ่งพิสูจน์แล้วว่า นี่คือประโยชน์ที่เป็นจริงอย่างยิ่ง

          ...สามีเอาแต่ทำงาน สังสรรค์กับเพื่อน ๆ พอกลับมาบ้านก็นั่งดูทีวี เล่นอินเตอร์เน็ตไม่เคยช่วยดูแลลูกบ้าง ไม่ค่อยสนใจลูกเงอะ ๆ งะ ๆ เลี้ยงลูกไม่เป็น สารพัดเสียงพร่ำบ่นจากคุณแม่ที่เคยดังระงม

          มายุคนี้เริ่มเบาลงมาก (สักวันอาจกลายเป็นเพียงตำนาน!) เพราะโลกวันนี้ สามีช่วยภรรยาเลี้ยงดูลูกมากขึ้น เก่งขึ้น พ่อหลาย ๆ คนอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ป้อนนม (ขวด) ให้ลูกน้อยได้อย่างคล่องแคล่ว และมีไม่น้อยที่แม้ต้องกลายเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว แต่ก็ทำหน้าที่เป็นทั้งคุณพ่อและคุณแม่ได้อย่างดีเยี่ยม ผู้ชายที่มีความสุขในการดูแลลูก เขาก็จะเผยความอ่อนโยน และเผยพลังของสัญชาตญาณ แห่งการปกป้องคุ้มครองลูกอย่างที่ไม่อาจรู้สึกตัวมาก่อน ในขณะที่ลูก ๆ ก็มักชอบเล่นกับพ่อ เพราะพ่อแรงเยอะและชอบเล่นผาดโผนโดนใจเด็ก ๆ นัก ชอบหาอะไรสนุกตื่นเต้น และตลกๆ มาให้ลูกได้เฮฮากันเสมอ

          ดูเหมือนเรื่องนี้ก็เป็นที่รู้ ๆ กัน แต่มันเป็นงานวิจัยเลยนะครับ หรือแม้แต่งานวิจัยด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ก็ยังระบุว่า... พ่อโดยมากมักจะเล่นกับลูกอย่างคึกคัก มีวิธีแปลก ๆ ใหม่ ๆ ไม่น่าเบื่อชอบยกลูกขึ้นสูงๆ แล้วแกว่งไปแกว่งมา จับลูกห้อยหัวลง ชอบวิ่งเล่นวิ่งไล่ ได้ออกแรงได้หัวเราะกันอย่างสุด ๆ จนลูก ๆ ติดใจเจอพ่อทีไรก็มักอ้าแขนหรือโผเข้าใส่ (ทำให้คิดแล้วสะท้อนใจนัก สำหรับเด็ก ๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ดี ๆ เช่นนี้กับคุณพ่อ)

          แม้ว่านี่คือห้วงเวลาอันมีค่าน่าอัศจรรย์สำหรับเด็กๆ แต่ถ้าหากคุณพ่อผู้แสนน่ารักสนุกจนลืมยืดหลัก "ปลอดภัยไว้ก่อน" มันก็อาจกลายเป็นห้วงเวลาที่นำความทุกข์โศกมาให้อย่างยาวนาน...!!!

          1. จับลูกห้อยหัว โยนสูง ๆ แล้วรับ จริงอยู่ที่ลูกมักชอบให้พ่อยกลูกขึ้นสูงๆ แล้วแกว่งไปแกว่งมา จับลูกห้อยหัวลง แต่ควรระมัดระวังมาก ๆ หรือหาวิธีเล่นกับลูกที่ตื่นเต้นและปลอดภัยกว่านี้ เพราะอย่าลืมนะครับว่า ภายในสมองของเด็ก ๆ นั้น มีเซลล์ประสาทมากมายมหาศาล ซึ่งรอการสร้างเส้นใยประสาทเพื่อเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย และใช้ในการรับส่งข้อมูลที่มีการพัฒนาอันซับซ้อนเกินบรรยาย ถึงแม้สมองคือสิ่งมหัศจรรย์เปรียบเหมือนศูนย์บัญชาการทั้งร่างกายและจิตใจ แต่สมองของเด็กน้อยนั้น มีโอกาสจะได้รับการกระทบกระเทือนได้โดยง่าย เพราะศีรษะของเขามีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของลำตัว การพลัดตกหกล้มศีรษะจึงมักจะลงก่อน ซึ่งการกระเทือนถึงสมอง จึงเป็นเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่ง

          การพลัดตกลงมาของทารกน้อยหรือเด็กเล็กอันตรายมากเพียงใด คงไม่ต้องกล่าวถึง อย่างเบาะ ๆ ก็หัวโนหัวปูด หรือหัวแตกเลือดอาบจนคุณหมออาจต้องเย็บหลายเข็ม และที่ร้ายแรงก็คือการมีเลือดคั่งในสมอง อันตรายสุดๆ อยู่ที่ หลังการพลัดตกใหม่ ๆ อาจจะไม่มีบาดแผลอะไรเลย จึงปล่อยเลยตามเลย และไม่ได้ส่งไปตรวจรักษาโดยด่วน อาการเลือดคั่งในสมองที่พอสังเกตได้ คือ ซึมลง งอแง ยกแขนขาผิดปกติ ทรงตัวได้ไม่ดี อาเจียน ไม่ดูดนม หรือมีปัญหาการนอนผิดปกติ เด็กโตอาจบอกได้ว่ามีอาการปวดหัว มึนงง ดังนั้น อย่าจับลูกห้อยหัว โยนสูงๆ แล้วรับ หรือยกลอยเขย่าแรง ๆ ครับ


          2. จับตัวลูกยกลอยแล้วเขย่าแรง ๆ นอกจากการพลัดตก หัวกระทบของแข็งหรือกระแทกพื้น การยกลูกตัวลอยแล้วเขย่าๆ ไปมา อย่างรุนแรงยังเสี่ยงต่อการตาบอดและความพิการอื่น ๆ หรือเสียชีวิตเนื่องจากสมองของเด็กที่ได้รับการกระทบกระเทือน อย่าลืมนะครับว่าเด็กวัยแบเบาะศีรษะจะโตและหนัก หนำซ้ำกล้ามเนื้อและกระดูกส่วนคอก็ยังไม่ค่อยแข็งแรง การโดนผู้ใหญ่เขย่า ๆๆๆ อย่างรุนแรงจะมีผลให้เกิดอาการเลือดคั่งได้เยื่อหุ้มสมอง บางครั้งอาจมีเลือดออกในเส้นประสาทตา ทำให้มีปัญหาต่อการมองเห็นได้ด้วย

          หลายสิบปีก่อนผู้คนทั่วโลก แม้แต่แพทย์ ก็ยังงงกับอาการของเด็กวัยแค่ไม่กี่เดือนที่ผู้ใหญ่อุ้มมาพบด้วยอาการซึม บางรายชักบางรายจะมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ เนื้อตัวซีดเย็นและ เขียว แถมหลายคนกลายเป็นเด็กสมองพิการ และตาบอดในเวลาต่อมา และหลายรายถึงกับเสียชีวิต เมื่อแพทย์ผ่าชันสูตรก็พบว่าเด็กมีเลือดออกในสมองเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ทั้งดูภายนอกแล้วก็ไม่มีบาดแผล หรือรอยการถูกทำร้าย ครั้นเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง จึงได้พบความจริงว่าเด็กที่เสียชีวิตดังกล่าวนั้น เกิดจากการโดนเขย่าอย่างรุนแรง! (Shaken Baby Syndrome) เด็ก ๆ หลายคนโชคร้ายที่มีพ่อแม่เจ้าอารมณ์ โกรธง่าย เครียดง่าย อาจเพราะทนเสียงเด็กงอแงไม่ไหวจึงจับลูกเขย่าให้เงียบ หากจับเขย่าแบบมีการกระแทกกับที่นอนด้วยก็อาจเกิดอาการรุนแรงได้มากขึ้นอีกถึง 50 เท่า)

          3. ขับรถกล่อมนอน คุณพ่อตัวร้ายเลย เพราะไม่ยอมช่วยแม่อุ้มเมื่อลูกงอแงพอถูกเช้าชี้มากหน่อย ก็อุ้มลูกขึ้นรถนั่งหน้าตัก หน้าพวงมาลัยกันเลย ลูกๆ พอรถออก สั่น ๆ เล็กน้อยก็พลอยเงียบเสียด้วย พ่อติดใจเลยทำบ่อย ๆ เรื่องนี้ต้องเตือนกัน เพราะเป็นอันตรายอย่างมาก ถ้าหากถุงลมระเบิดขณะเกิดอุบัติเหตุ ลูกเราจะโดนเต็มๆ และอาจเสียชีวิตได้ทั้งจากอุบัติเหตุรุนแรง หรือไม่รุนแรงแต่ถุงลมใช้งานขึ้นมา

          4. วิ่งไล่จับ เข็นรถนั่ง หัดเตะบอล คุณพ่อมักจะส่งเสริมการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ การทรงตัว เช่น การออกกำลังกาย รูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะวิ่งโยนรับลูกบอล คุณพ่อพรีเมียร์ลึกก็ชอบจับลูกเตะบอลตั้งแต่หัดเดินเป็นได้ไม่นาน บางคนชอบกระตุ้นเด็กให้มีการเคลื่อนไหว และการทรงตัวรูปแบบต่าง ๆ เช่น นั่งรถเข็น แล้วเข็นแรง ๆ เร็ว ๆ เพื่อให้ตัวเด็กเอียงไปเอียงมาตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งบทบาทนี้คุณพ่อมักจะทำได้มากกว่าคุณแม่ (คุณแม่บางคนอาจเถียงว่าไม่จริงก็ได้ครับ)

          แต่คุณพ่อบางคนอยากให้ลูกสนุกเร้าใจมากไปหน่อย จึงวิ่งไล่ลูกแถมทำเสียงฮึ่มๆ แฮ่ๆ ลูกจึงวิ่งเร็วจี๋ทั้งสนุกทั้งตื่นเต้น และอาจลื่นล้มได้ครับ การลื่นล้มของเด็ก ๆ (หรือแม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ) ยังอาจทำให้ขาหรือแขนได้รับบาดเจ็บ ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงบาดเจ็บสาหัส คืออาจจะแค่ถลอกเกิดแผลใหญ่ ขาเพลง เส้นเอ็นยืดข้อต่าง ๆ บาดเจ็บ ข้อต่อเคลื่อนเกิดอาการปวดบวมกระทั่งอาจกระดูกหัก

          การลื่นล้มหน้าคว่ำของเด็ก ๆ ยังจะทำให้จมูกและปากได้รับการกระทบกระเทือน บางคนก็ถึงกับฟันหักหรือเหงือกฉีกขาด การบาดเจ็บในช่องปากพบได้บ่อยครับ หากฟันหักเหงือกฉีก ก็จะส่งผลต่อการกิน พลอยทำให้ขาดสารอาหารน้ำหนักลดไปอีกหลายวันทีเดียว ปัญหาการหกล้มหน้าคว่ำเป็นเรื่องสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ ยิ่งฟันคู่แรกของลูกโผล่พ้นเหงือก ยิ่งต้องใกล้ชิดและให้ลูกรักอยู่ในสายตา

          5. บู๊ล้างผลาญ ตามประสาผู้ชายหละครับ ชอบเล่นต่อสู้ เตะต่อย หลายครั้งก็แกล้งลูกให้สู้ไม่ได้ หลายครั้งคุณพ่อก็ยอมแพ้ให้ลูกทั้งเตะทั้งต่อย ดูๆ ก็สนุกครับ แต่ก็ต้องพอสมควรทำให้เขารู้สึกว่าเขาต้องชนะคนอื่นด้วยการต่อยตี ก็จะปลูกฝังพฤติกรรมที่ไม่ดี อีกอย่างก็คือคุณพ่อนี่ตัวร้ายเลยครับในการซื้อของเล่นประเภท ปืน มืด ดาบ มาให้ลูกเล่น กลัวจะไม่แมน เรื่องนี้คงต้องระวังกันให้มาก อย่าไปปลูกฝังพฤติกรรมความรุนแรงกันตั้งแต่ยังเล็กครับ

          6. เขียนเกมตัวพ่อ คนที่มักทำให้เด็กติดทีวีตั้งแต่ยังเป็นทารกจนพูดช้า โตขึ้นลูกก็จะอ่านหนังสือไม่เก่ง หรือติดแต่ภาพเคลื่อนไหว ก็คือคุณแม่ คุณยาย และคุณพี่เลี้ยงนั่นเอง แต่คนที่ซ้ำเติมการติดภาพเคลื่อนไหว แถมยังบวกด้วยพฤติกรรมความรุนแรง คือคุณพ่อที่มักเป็นผู้ชักนำเด็กให้เล่นเกม ไม่ว่าเป็นเพราะพ่อบางคนก็ติดเกม หรือพ่อบางคนเข้าใจผิดคิดว่า การให้ลูกเล่นเกมจะทำให้ลูกเก่งคอมพิวเตอร์ ตัดสินใจเก่ง ฉลาดขึ้น

          ความจริงแล้วผลเสียอาจมากกว่าผลดี โดยเฉพาะเด็กในช่วงสามปีแรก อย่าให้เขาไปนั่งหน้าจดเลยครับ ภาพสีสวยสด การเคลื่อนไหวไปมา เสียงเพลงเสียงดนตรีที่ตื่นเต้นของเกม อาจช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็กได้บ้าง แต่ไม่ค่อยคุ้มกับเวลาที่นั่งนาน ๆ ด้วยความมันของพ่อที่เล่นด้วย หรือสักพักก็กลายเป็นความมันของลูก ที่จะโวยวายอย่างหนักหากพ่อปิดเกมของเขานาน ๆ เข้าก็ส่งผลต่อการติดภาพเคลื่อนไหว ทำให้ความสามารถในการอ่านเมื่อโตขึ้นพลอยแย่ลงไปด้วย อาจจะเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมความรุนแรงได้

          ลองคิดดูนะครับ เด็กสองสามขวบนั่งจ้องหน้าจอตาไม่กะพริบ มือจับเม้า นิ้วกระติกไม่หยุดเพื่อยิงระเบิดจรวด หรือยิงผีเลือดสาดจอ วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า อะไรจะเกิดขึ้นในจิตใจ ของเขา ดังนั้น คุณแม่ต้องคอยห้ามปรามและคอยเตือนสติคุณพ่อด้วยนะครับ เดี๋ยวจะลืมพิษร้ายของเกม และอย่าลืมเตือนตัวเองเรื่องความร้ายกาจของทีวีด้วย

          เด็ก ๆ ทุกคนมีใครเล่าที่ไม่อยากเล่นพูดคุย อยู่ใกล้ชิดกับพ่อ เด็กหลายคนช่างน่าเห็นใจที่หามีโอกาสนั้นไม่ ในเมื่อลูก ๆ โชคดีแล้วที่มีคุณพ่อที่แสนใจดี สนุกสนานเด็ก ๆ คงจะอยากให้คุณพ่อคำนึงถึงความปลอดภัย ของลูกๆ ด้วย คุณพ่อจะได้เป็นฮีโร่ขวัญใจของลูกตลอดไป

การปฐมพยาบาล

          แผลถลอก ฟกช้ำ ให้ปลอบประโลมเด็ก ถ้าเป็นแผลเปิด มีเลือดซึมออกไม่ว่าจะถลอกหรือแผลบาด ต้องชะล้างแผลให้สะอาดก่อนแล้วจึงกดด้วยผ้าสะอาด เพื่อห้ามเลือด แผลฟกช้ำให้ประคบด้วยผ้าชุบน้ำเย็น 24 ชม. หลังจากนั้นใช้ผ้าชุบ น้ำอุ่นแทน รับประทานยาแก้ปวดตามความจำเป็น

          หากมีหัวโนหัวปูด ต้องสังเกตว่ามีอาการเลือดคั่งในสมองหรือไม่ โดยสังเกตได้จาก ปวดหัว มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม และการทรงตัวไม่ดี หากมีอาการ ดังกล่าวภายใน 24 ชม. ให้นำส่งโรงพยาบาล

          หากไม่แน่ใจ ให้ตามหน่วยฉุกเฉิน (1669) ก่อนทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง เพราะหากมีกระดูกต้นคอหัก และเคลื่อนย้ายผิดวิธี อาจทำให้กระดูกกดทับไขสันหลังเป็นอัมพาตหรือหยุดหายใจ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตหากรักษาไม่ทัน





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 28 ฉบับที่ 335 ธันวาคม 2553


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวัง! อันตรายจากการเล่น อัปเดตล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 15:30:39 3,456 อ่าน
TOP
x close