ทำอย่างไรดี...เมื่อลูกชอบพูดโกหก (แม่บ้าน)
เพื่อลูกรัก เรื่อง : จันทร์ชื่น
คงเป็นเรื่องหนักใจไม่น้อย เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกน้อยที่น่ารักแสนซนแสนดื้อ และร้องไห้งอแงเอาแต่ใจตัวเองบ้างในบางครั้ง มีพฤติกรรมชอบพูดโกหก ไม่ชอบพูดความจริง หรือไปที่ไหนใคร ๆ ก็หาว่าลูกน้อยสุดที่รักเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ปัญหานี้ถ้ามองให้เป็นเรื่องเล็กก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าพฤติกรรมชอบโกหกสะท้อนถึงอาการป่วยทางจิตของลูก ก็คงต้องรีบเยียวยา เพราะถ้าหากโตเป็นผู้ใหญ่จนมีหน้าที่การงานที่ดี หรือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่ยังไม่ทิ้งลายชอบเลี้ยงแกะ อาจส่งผลกระทบต่อตัวเด็กสังคม และประเทศชาติได้
ในประเด็นการพูดโกหกของเด็กนั้น จิตแพทย์ทั่วไปได้ให้ข้อมูลว่า ถ้าหากมองในแง่ดีการโกหกเป็นธรรมชาติของเด็ก เพราะโดยพื้นฐานทางจิตใจของเด็กนั้นจะไม่โหดร้ายเหมือนกับผู้ใหญ่ และการโกหกส่วนใหญ่อาจจะมีเหตุผลบางประการ เช่น เกรงว่าจะถูกทำโทษเมื่อทำผิด กลัวพ่อแม่จับได้จึงจำเป็นต้องโกหก คุณพ่อคุณแม่จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุด้วยว่า เพราะอะไรลูกจึงไม่ไหวใจคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมานั่งจับผิด เมื่อเวลาลูกหญิงชายกระทำสิ่งที่ไม่สมควรหรือไม่เหมาะสมลงไป หรือมีความรู้สึกด้านลบต่อเด็ก
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีการลงโทษ เมื่อทราบว่าลูกพูดโกหกนี่เป็นมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ มาตรการดังกล่าวมักใช้ไม่ได้ผล เพราะเด็กจะถูกมองในภาพลบ เป็นเด็กไม่ดีในสายตาและมุมมองของคนรอบข้าง เด็กจะมองตัวเองว่าเป็นคนด้อยค่าได้ และเมื่อเด็กโตขึ้น อาจมีพฤติกรรมอื่นร่วมกับการโกหกอีกหลายอย่าง จนกลายเป็นเด็กมีปัญหาในที่สุด
ขณะที่ลูกวัยรุ่นเอง จิตแพทย์บอกว่า ปัญหาการโกหกส่วนใหญ่มาจากการคบเพื่อน การมีกลุ่มเพื่อนที่อาจจะชักจูงไปทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยถูกต้อง จึงพยายามหาวิธีการหลบหลีกด้วยการโกหก ซึ่งอาจจะจับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาก็คือ อาจจะถูกตำหนิดุด่า จนในที่สุดพฤติกรรมเหล่านั้นแทนที่จะหายไป แต่กลับจะยิ่งถูกส่งเสริมให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการถูกตำหนิจะทำให้สถานการณ์ของปัญหาการโกหกแย่ลง ลูกวัยรุ่นจะยิ่งหายไปจากครอบครัวมากขึ้น
สาเหตุที่ลูกวัยรุ่นโกหกเก่ง โกหกบ่อย หรือไม่พูดความจริง หรือพูดกำกวม จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง มักมีสาเหตุอย่างน้อย ๆ 3 อย่างด้วยกันคือ
1. จงใจที่จะไม่พูดความจริง ปิดบังอำพรางความเป็นส่วนตัวของเขาไม่ต้องการให้ใครรู้
2. ไม่กล้าพูดความจริง เพราะกลัวจะถูกตำหนิติเตียน ถูกลดคุณค่าและความภาคภูมิใจของเขา
3. โกหกเป็นนิสัย ไม่รู้สึกผิดใด ๆ ไม่ว่าโกหกเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่
วิธีแก้ไขช่วยเหลือเรื่องนี้มีหลายวิธี และก่อนอื่นจะต้องบอกให้เด็กได้รู้ว่า การพูดโกหกเป็นเรื่องผิดมารยาท ผิดกฎของบ้านและผิดกฎหมาย เป็นมารยาทที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก
วิธีแก้ไขช่วยเหลือตามเหตุ
1. พ่อแม่ควรสร้างความไว้วางใจให้กับลูก เพื่อเวลาที่ลูกทำผิดหรือทำสิ่งไม่ดีลงไป ลูกจะได้กล้าปรึกษา แทนที่ลูกจะกลัวความผิด และใช้วิธีการโกหก
2. ไม่ควรตำหนิหรือดุด่าลูกเมื่อลูกทำความผิด แต่ควรใช้เหตุผลพูดคุยกัน เพราะบางทีการที่เด็กถูกตำหนิ อาจจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมชอบโกหก และบางครั้งพฤติกรรมเหล่านั้นก็อาจจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น
3. ไม่ควรจับผิดลูกมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนเป็นนักโทษ เช่น บางครั้งลูกกลับบ้านดึก แม่ก็จะคอยซักถามจับผิดว่า "ลูกไปไหนมา ไปทำอะไร" ซึ่งบางทีลูกอาจจะแค่ไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน แต่การที่พ่อแม่ซักถามเหมือนไม่ไว้ใจลูก และไต่สวนเหมือนเป็นผู้กระทำความผิด เด็กอาจจะใช้วิธีการโกหกเพื่อให้พ่อแม่หยุดซักถาม เพื่อหลบหลีกสถานการณ์ต่าง ๆ
4. หลีกเลี่ยงการลงโทษเมื่อลูกทำผิดหรือจับโกหกได้ เพราะยังมีทางออกที่ดีกว่าวิธีการลงโทษ เช่น พูดจาเพื่อทำความเข้าใจเพราะการลงโทษเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ส่วนสาเหตุที่แท้จริง อาจเกิดจากเหตุผลบางประการของลูกซึ่งจะต้องทำการพูดคุยกัน ซึ่งถ้าหากเด็กทำผิดแล้วกลัวการถูกทำโทษ เด็กอาจใช้วิธีการโกหก เพื่อให้พ้นความผิดก็ได้ หากปล่อยไว้นาน ๆ ก็จะเริ่มติดเป็นนิสัยไปจนโต
5. พยายามสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิตหรือไม่ เช่น โรคซึมเศร้า บกพร่องทางสติปัญญา หรือมีปัญหาเรื่องภาษาหรือไม่ และควรทำความเข้าใจกับเด็กเหล่านี้ ซึ่งบางทีการที่เด็กโกหกอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นเพียงเพราะอาการป่วย ทางที่ดีควรรีบพบจิตแพทย์ เพื่อทำการรักษาอาการทางจิตเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อเด็ก เช่น คิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น
ก่อนที่ลูกจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะจนได้รับผลกระทบจากการโกหก พ่อแม่ควรจะเริ่มให้ความสนใจและสร้างเกราะป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่ลูกจะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะมืออาชีพ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 35 ฉบับที่ 499 ธันวาคม 2553