แนะแม่ท้องดูแลตัวเอง หากความเสี่ยงสูง



แนะแม่ท้องดูแลตัวเองหากความเสี่ยงสูง
(modernmom)
โดย: นท.นพ.วิวรรธน์ ชินพิลาศ

             ทุกวันนี้เราได้ก้าวสู่สูติศาสตร์ยุคใหม่ ดั้งนั้นความมุ่งหมายของการดูแลการตั้งครรภ์และการคลอด มิได้มุ่งไปเพียงแค่ให้คุณแม่ตั้งครรภ์คลอดบุตรออกมาได้เท่านั้น แต่ยังมุ่งไปที่ทำอย่างไรคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีสุขภาพที่แข็งแรง ได้รับความปลอดภัยจากการตั้งครรภ์และการคลอด ในขณะเดียวกัน ทารกแรกเกิดก็ต้องมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วยเช่นกัน

คุณแม่ท้องอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่

             การที่จะบอกว่าคุณภาพของการดูแลสตรีตั้งครรภ์ดีหรือไม่นั้น สามารถที่จะดูได้จากอัตราการเสียชีวิตของสตรีตั้งครรภ์ อัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ รวมทั้งตายตอนคลอด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้แม่ตั้งครรภ์เสียชีวิตนั้น ได้แก่ การตกเลือดหลังคลอด การอักเสบติดเชื้อหลังคลอด ครรภ์เป็นพิษ ภาวะคลอดติดขัด ภาวะแท้งติดเชื้อ ภาวะน้ำคร่ำรั่วเข้าไปในกระแสโลหิตเฉียบพลัน

             ดังนั้นการที่เราสามารถที่จะแยกแยะว่า การตั้งครรภ์แบบใดที่เรียกว่ามีความเสี่ยงสูง ก็จะทำให้เราสามารถที่จะดูแลการตั้งครรภ์นั้นใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพื่อที่จะลดโอกาสที่ความผิดปกตินั้น ๆ จะส่งผลร้ายต่อสตรีตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ลงได้

20 ความเสี่ยงสูงระหว่างตั้งครรภ์

             ภาวะความเสี่ยงสูงระหว่างตั้งครรภ์นั้น คงจะบอกได้ยากว่าจะมีจำนวนสักกี่เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากว่าในสังคมหนึ่งนั้น สัดส่วนของการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงจะไม่แน่นอน เพียงแต่มีแนวโน้มว่า การตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น มีโอกาสเพิ่มขึ้นเนื่องจากว่าสตรีตั้งครรภ์มีแนวโน้มอายุสูงขึ้น และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นก็เพิ่มขึ้น และต่อไปนี้คือภาวะที่ถือว่าเป็นความเสี่ยงสูงระหว่งตั้งครรภ์

             1. ประวัติเคยคลอดลูก แล้วลูกเสียชีวิตระหว่างคลอดหรือหลังคลอดมาก่อน

             2. ประวัติเคยแท้งบุตรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง

             3. ประวัติเคยคลอดบุตรน้ำหนักน้อยกว่า 2500 กรัม

             4. ประวัติเคยคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4000 กรัม

             5. ประวัติครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน

             6. ประวัติเคยได้รับการผ่าตัดที่ตัวมดลูก หรืออวัยวะสืบพันธุ์

             7. การตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์แฝด

             8. การตั้งครรภ์ที่ทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น ท่าก้น หรือท่าขวาง

             9. อายุสตรีตั้งครรภ์น้อยกว่า 16 ปี

             10. อายุสตรีตั้งครรภ์มากกว่า 40 ปี

             11. มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์

             12. มีหมู่เลือด Rh เป็นลบ

             13. มีก้อนในอุ้งเชิงกรานระหว่างตั้งครรภ์

             14. ความดันโลหิตสูง โดยความดันตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มม.ปรอท

             15. เป็นเบาหวานชนิดต้องพึ่งพาอินซูลิน

             16. เป็นโรคไต

             17. เป็นโรคหัวใจ

             18. ติดยาเสพย์ติด หรือสุรา

             19. โรคทางอายุรกรรมต่าง ๆ เช่น โลหิตจาง ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน (SLE) เป็นต้น

             20. เป็นโรคติดเชื้อ HIV (โรคเอดส์) หรือกามโรค

มีความเสี่ยงสูงต้องใกล้ชิดผู้เชี่ยวชาญ

             หากคุณแม่เองรู้ตัวว่าเป็นสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะใดภาวะหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งภาวะ ร่วมกับการตั้งครรภ์ จัดว่ามีการตั้งครรภ์เสี่ยงสูง ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลจากสูติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านปริกำเนิด หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Maternal Fetal medicine

             สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จะดูแลภาวะผิดปกติเหล่านั้น โดยพุ่งเป้าไปที่การบรรเทาผลกระทบจากภาวะผิดปกติของสตรีตั้งครรภ์ ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วยการให้การดูแล หรือรักษาทารกในครรภ์ โดยให้แน่ใจว่าทารกในครรภ์จะได้รับสารอาหาร และออกซิเจนอย่างเพียงพอ โดยอาจจะให้ยาแก่สตรีตั้งครรภ์ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร การพักผ่อน การปฏิบัติตน การนัดมาตรวจครรภ์บ่อยขึ้น การตรวจอัลตร้าซาวน์เพื่อประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ การตรวจเลือดเพื่อประเมินสภาวะของโรคต่างๆ ในขณะนั้น เป็นต้น

             เมื่อมั่นใจว่าการเจริญเติบโตในครรภ์เป็นไปด้วยดี และทารกมีความพร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว แพทย์ก็จะพิจารณาให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง

การคลอดในภาวะเสี่ยง

             สำหรับการที่จะให้ทารกในครรภ์คลอดออกมาด้วยวิธีใด ก็ขึ้นกับข้อบ่งชี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว การตั้งครรภ์ภาวะเสี่ยงสูง มักจะใช้วิธีการผ่าตัดคลอดบุตรออกทางหน้าท้อง เป็นวิธีการหลัก

             ข้อดีของวิธีการดังกล่าวก็คือว่า สามารถกำหนดวันเวลาที่เหมาะสม ระยะเวลาที่เริ่มการผ่าตัด จนกระทั่งทารกคลอดออกมาเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ประมาณ 10 นาที เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเจ็บครรภ์คลอดซึ่งอาจยาวนานถึง 12 ชั่วโมง และในขณะที่ผ่าตัดคลอดนั้น ก็มีเจ้าหน้าที่อยู่ครบถ้วน อันได้แก่ สูติแพทย์ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์

             ท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นได้แล้วว่า หากเราสามารถที่จะวินิจฉัยภาวะตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ และได้ให้การตั้งครรภ์นั้นอยู่ในความดูแลของสูติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปริกำเนิดโดยตรง โอกาสที่จะได้เห็นคุณแม่ตั้งครรภ์ และทารกที่คลอดออกมามีสุขภาพที่แข็งแรง ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนครับ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แนะแม่ท้องดูแลตัวเอง หากความเสี่ยงสูง อัปเดตล่าสุด 28 มีนาคม 2554 เวลา 14:41:05
TOP
x close