เลเซอร์คืออะไร
เลเซอร์ผิวหนัง มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
เลเซอร์มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับโรคหรืออาการ เพราะการใช้เลเซอร์ผิดประเภท นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ด้วย โดยประเภทของเลเซอร์ ได้แก่
- CO2 Lasers โดยทั่วไปแล้วจะเป็นเลเซอร์ลอกผิวที่ใช้รักษารอยแผลเป็น หูด ริ้วรอย และจุดบกพร่องอื่น ๆ ของผิวหนังที่อยู่ลึกลงไป
- Erbium Lasers เลเซอร์ตัวนี้มีทั้งแบบระเหยและไม่ระเหย มีคุณสมบัติในการสร้างคอลลาเจน ทำให้นิยมนำมาใช้ในการรักษาริ้วรอย ความหย่อนคล้อยของผิวหนัง และจุดด่างดำตามอายุที่เพิ่มขึ้น
- Pulsed-Dye Lasers มักเป็นเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง เลเซอร์ตัวนี้จะให้ความร้อนแก่ผิวหนังและดูดซับเม็ดสีเพื่อลดรอยแดง รอยดำ เส้นเลือดฝอยแตก จึงนำมารักษาเส้นเลือดขอดและปานต่าง ๆ ได้
- Fractional Lasers เลเซอร์ตัวนี้จะแบ่งพลังงานเลเซอร์ออกเป็นลำแสงเล็ก ๆ หลายพันลำ เพื่อรักษาผิวหนังในบริเวณแคบ ๆ จึงใช้เวลาน้อย นิยมนำมารักษาฝ้า กระ หรือจุดด่างดำ ที่เกิดจากวัย
- IPL (Intense Pulsed Light) อันที่จริงแล้ว IPL ไม่ใช่เลเซอร์ แต่มีวิธีการรักษาที่คล้ายกับเลเซอร์ และแก้ปัญหาที่คล้ายกันได้ เช่น รักษาผิวที่ถูกทำลายจากแสงแดด รอยโรคของหลอดเลือด สิว และรอยดำ
เลเซอร์ผิวหนัง ช่วยปัญหาผิวอะไรได้บ้าง
เลเซอร์สามารถช่วยแก้ไขปัญหาผิวได้สารพัดอย่าง โดยช่วยรักษาผิวได้ดังนี้
- โรคเส้นเลือดของผิวหนัง เช่น ปานแดง เส้นเลือดฝอยแตก เส้นเลือดขอดต่าง ๆ
- โรคของเม็ดสีผิวหนัง เช่น ไฝ ปานดำ รอยดำจากสิว
- การลบรอยสัก ซึ่งการเลือกเลเซอร์ขึ้นอยู่กับสี ความลึก และลักษณะทางเคมีของหมึกสัก
- การรักษาหูด
- การรักษาแผลเป็น เช่น แผลเป็นจากการผ่าตัดหลังจากอุบัติเหตุ หรือแผลคีลอยด์
- การลดเลือนริ้วรอยบนใบหน้า
- การปรับสีผิวให้กระจ่างใสขึ้น และการกระชับรูขุมขน
- การกำจัดขน
ข้อดีของการเลเซอร์ผิวหนัง
เมื่อเทียบกับการรักษาผิวหนังด้วยวิธีอื่น ๆ ถือว่าการเลเซอร์ผิวหนังมีข้อดีมากมาย ตัวอย่างเช่น
- ไม่ทำลายเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ แผลที่ผ่าตัดด้วยเลเซอร์
- มีโอกาสเกิดแผลเป็นจากการทำเลเซอร์น้อยมาก
- ลดอัตราการเกิดการติดเชื้อที่แผล
- แผลจะหายเร็วกว่าการผ่าตัดด้วยใบมีด
- มีความเสี่ยงต่ำและเสียเลือดน้อยมาก
- ไม่ค่อยเจ็บปวด เนื่องจากแสงเลเซอร์ช่วยปิดปลายเส้นประสาทของเนื้อเยื่อที่ถูกตัดขาด
ทั้งนี้ การเลเซอร์ผิวหนังจำเป็นต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และต้องมีการปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจทำทุกครั้ง เพื่อที่จะเตรียมตัวทั้งก่อนและหลังทำเลเซอร์ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงผลลัพธ์จะได้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, americanboardcosmeticsurgery.org, dermnetnz.org