x close

น้ำหนักตัวกับเรื่องบวม ๆ ในแม่ตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์

น้ำหนักตัวกับเรื่องบวม ๆ
(M&C แม่และเด็ก)

           ในไตรมาสนี้คุณแม่จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อย่างเห็นได้ชัด เจ้าตัวเล็กเริ่มดิ้นดุ๊กดิ๊กจนคุณรู้สึกได้ เค้ากำลังโตวันโตคืนจนคุณแม่ต้องบอกลาเสื้อผ้าชุดเก่ง แล้วหันมาใส่เสื้อผ้าสำหรับคนท้องแล้วล่ะค่ะ

           นอกจากเจ้าตัวเล็กที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว ช่วงนี้คุณแม่เริ่มหายจากอาการแพ้ท้องจนรับประทานอาหารได้มากขึ้น ความที่อยากให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วน บวกกับตอนนี้คุณรับประทานอาหารได้เกือบทุกชนิดแล้วนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ นั่นก็คือเรื่องของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเร็วจนเกินไปค่ะ

ทำไมต้องระวังเรื่องน้ำหนัก

           น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นของคุณแม่ไม่ได้เป็นเกณฑ์บ่งชี้ว่า ลูกจะยิ่งแข็งแรงมากแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามคุณแม่ที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน อาจนำไปสู่ปัญหาการคลอดที่ทำให้ต้องผ่าท้องคลอด เนื่องจากไม่สามารถคลอดเองได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้

           ดังนั้น อย่าเร่งทำน้ำหนักค่ะ ยืดหลักทางสายกลางเข้าไว้ รับประทานอาหารแต่พอดี เน้นสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันมาก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะดีกว่าค่ะ

น้ำหนักตัวกับเรื่องบวม ๆ

           อีกปัญหาหนึ่งของคุณแม่ที่มีน้ำหนักเกิน ก็คือเรื่องเท้าบวมค่ะ แม้ว่าโดยส่วนใหญ่คุณแม่จะมีอาการบวมเอาตอนไตรมาสสุดท้าย แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสนี้ ก็อาจเกิดอาการบวมได้ โดยเฉพาะบริเวณขาและข้อต่าง ๆ เนื่องมาจากปริมาณเลือดที่ไหลเวียนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีของเหลวคั่งอยู่ตามเซลล์และรอบ ๆ เซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ทั้งข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเท้า น่อง และเท้า

นอนถูกท่าแก้ปัญหาได้

           หากเวลาตื่นนอนตอนเช้าคุณแม่รู้สึกว่า เท้าบวมผิดปกติ พอตอนสายก็หาย แต่พอเข้านอน ตื่นมาก็บวมอีก นั่นเป็นเพราะเลือดดำไหลกลับเข้าสู่หัวใจไม่สะดวก เนื่องจากมีมดลูกที่ขยายใหญ่ขวางทางอยู่ เลือดที่คั่งอยู่นี้เองที่ทำให้เท้าบวม ซึ่งพอเลือดค่อย ๆ ไหลกลับ เท้าที่บวมก็จะยุบลงกลับสู่ขนาดปกติ ไม่ต้องกังวลค่ะ

           อาการเท้าบวมตอนเช้า ๆ นี่ มีวิธีป้องกันด้วยการเปลี่ยนท่านอนค่ะ โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่หลับยาวควรมีหมอนหนุนเท้าไว้ ยกเท้าสูงโดยใช้ผ้าห่มหรือหมอนหนุนไว้ จะช่วยให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้สะดวกขึ้น ช่วยลดอาการเท้าบวมลงได้

ดูแลเท้ากันสักนิด

           สำหรับคุณแม่ที่เท้าบวม ๆ ยุบ ๆ ควรเปลี่ยนขนาดรองเท้าให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมเล็กน้อย สวมรองเท้าส้นเตี้ยหรือรองเท้าแตะ เพื่อความสบายและปลอดภัย แต่ถึงจะเปลี่ยนขนาดรองเท้าแล้วก็ไม่ควรยืนหรือเดินนาน ๆ นะคะ เพราะจะทำให้เลือดคั่งที่เท้ามากค่ะ

           การแช่เท้าในน้ำอุ่นและน้ำเย็นสลับกัน ครั้งละ 30 วินาที ก็จะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ขณะแช่เท้าในน้ำอุ่น ลองหยดน้ำมันหอมระเหยลงไปด้วย จะช่วยเพิ่มความผ่อนคลายและขยายเส้นเลือด ลดอาการเท้าบวมได้ค่ะ

ลดความเค็มลดความบวม

           ช่วงที่มีอาการบวมนี่คงต้องงดอาหารเต็มๆ ด้วยนะคะ เพราะในอาหารเค็มๆ มีเกลืออยู่มาก ทำให้ร่างกายต้องดูดซับน้ำมากตามไปด้วย

           นอกจากนี้ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การมีน้ำหนักที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์จะช่วยให้การหมุนเวียนเลือดที่ขาสมดุล ลดปัญหาเท้าบวมได้

  ตลอดช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ น้ำหนักของคุณแม่ ควรเพิ่มมากน้อยแค่ไหนนั้นดูจากตารางได้เลยค่ะ
 
 ดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์  น้ำหนักที่เพิ่ม
 น้อยกว่า 20  13-18 กิโลกรัม
 20-25  12-16 กิโลกรัม
 มากกว่า 25  10-12 กิโลกรัม
 

           หมายเหตุ : ดัชนีมวลกาย (BMI : Body mass index) คำนวณจากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) 2 หากเป็นครรภ์แฝด น้ำหนักตัวคุณแม่ควรขึ้นประมาณ 16-20 กิโลกรัม







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 34 ฉบับที่ 468 กุมภาพันธ์ 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำหนักตัวกับเรื่องบวม ๆ ในแม่ตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 7 เมษายน 2554 เวลา 14:51:31
TOP