3..2..1..ถึงเวลาเป็น Working Mom

แม่และเด็ก

3..2..1..ถึงเวลาเป็น Working Mom
(Mother & Care )

          คุณแม่รุ่นใหม่หลาย ๆ คนยุคนี้ เลือกที่จะทำงานนอกบ้านพร้อมกับทำหน้าที่ของแม่และภรรยาที่ดีด้วย ถ้าทุก ๆ เรื่องคุณสามารถจัดตารางชีวิตได้ลงตัวก็เรียกว่าดีไปค่ะ แต่ถ้ายังไม่เคลียร์ จัดการไม่ลงตัว ลองมาดูการเตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการ เพื่อเป็นคุณแม่เวิร์กกิ้งมัมกันค่ะ

เตรียมตัว & เตรียมใจ

          เตรียมตัว คุณแม่เวิร์กกิ้งมัม เผชิญกับสถานที่ผู้คน ฝุ่นละออง เชื้อโรคต่าง ๆ มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยไม่สบายได้ง่าย ทำอะไรได้ไม่เต็มที่ เต็มกำลัง ฉะนั้น อย่าลืมดูแลรักษาร่างกาย ด้วยการพักผ่อน กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายบ้าง เพื่อความแข็งแรง ให้ร่างกายคุณพร้อมกับการเตรียมตัวทำหน้าที่คุณแม่เวิร์กกิ้งมัม

          เตรียมใจ การเตรียมความพร้อมเรื่องของจิตใจก็ไม่น้อยหน้าใคร เพราะเรื่องใหญ่ที่คุณแม่เวิร์กกิ้งมัมกังวล และเป็นห่วงก็คือเรื่องลูก เพื่อไม่ให้เรื่องของจิตใจ ความรู้สึกของคุณส่งผลเป็นลูกโซ่ ถึงหน้าที่การงานและเรื่องอื่น ๆ ฉะนั้น หลักการคิดแบบบวก จะช่วยให้คุณแม่มีความรู้สึกในทางบวก และสิ่งสำคัญก็คือ ขอให้คุณตั้งใจ ใส่ใจทำหน้าที่ของคุณให้ดีที่สุด เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ

เตรียมตัวเป็น Working Mom

 เรื่องงาน

          จัดอันดับความสำคัญของงาน เช่น ทำอะไรก่อนหรือหลัง, เร่งด่วน หรือรอได้ ก็ช่วยให้คุณใช้เวลากับการทำงานได้อย่างเต็มที่

          เมื่อรู้ว่าหน้าที่ของคุณคืออะไร ก็ควรทำอย่างทุ่มเทและมีสติ แฮปปี้กับการไปทำงาน เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี

          ถ้าในใจคุณยังติดค้างเรื่องลูก อาจโทรหาพี่เลี้ยงคนเก่ง หรือคนที่คอยดูแลลูก เพื่อสอบถามข้อมูลเรื่องลูก คลายความกังวล ช่วยให้คุณอุ่นใจเรื่องลูก

          ถ้าต้องทำงานล่วงเวลา ก็ควรโทรบอกสามีหรือพี่เลี้ยง ว่าจำเป็นต้องกลับเย็น คุณจะได้หมดห่วงเรื่องลูกและเรื่องงาน เป็นต้น

          TIP : ปัญหา ความเครียด เรื่องจากที่ทำงานอาจเป็นชนวนบั่นทอนความรู้สึกและจิตใจคุณได้ แต่เมื่อถึงหน้าประตูบ้าน คุณควรมุ่งประเด็นความสนใจไปที่เรื่องในบ้าน มากกว่าเก็บความขุ่นมัวเรื่องงาน มาทิ้งให้กับสมาชิกหรือคนที่บ้าน

เรื่องลูก

          จดรายการสิ่งที่คุณต้องจัดเตรียมเรื่องสำคัญ ที่ต้องให้พี่เลี้ยงดูแลในแต่ละวัน เช่น เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องเล่น หรือเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ ของลูกวัย

          เขียนตาราง หรือลงรายละเอียดเรื่องลูกให้กับพี่เลี้ยงได้รับรู้และปฏิบัติ เช่น ตารางมื้อนม พร้อมกับเบอร์โทรติดต่อของคุณและคุณพ่อในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

          เมื่อคุณกลับมาจากที่ทำงาน อย่าลืมสังเกต ถามพี่เลี้ยงเรื่องความเป็นอยู่ของลูก เช่น กินได้ดีหรือมีเรื่องเจ็บตัว ไม่สบายหรือเปล่า

          TIP : คุณอาจเหน็ดเหนื่อยกับภารกิจ นอกบ้านและเรื่องในบ้าน แต่ก็ไม่ควรพลาดช่วงเวลาดี ๆ ที่จะแสดงความรัก ความผูกพันกับลูกน้อย ผ่านการกอด การหอม หรือมีกิจกรรมใกล้ชิดอยู่ร่วมกับลูกน้อยในช่วงเวลาที่ไม่มาก แต่ก็มีคุณภาพ และมีความสุข

เรื่องพ่อของลูก

          เวลาที่คุณมีอาจถูกจัดสรรไปกับความรับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น แต่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับสามี ยังต้องดำเนินการต่อไปนะคะ การหาเวลาที่จะพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล ไม่ว่าเรื่องลูก เรื่องของคุณให้กำลังใจต่อกัน และมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวช่วงวันหยุด ก็เป็นเรื่องดี ๆ ที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคุณกับสามี เป็นยาใจที่ช่วยให้คุณทำหน้าที่เวิร์กกิ้งมัมได้อย่างเต็มที่ต่อไป

          TIP :  เมื่อเกิดปัญหาในครอบครัวควรพูดคุยด้วยเหตุผล อารมณ์ที่สงบ และฟังซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดการตัดสินใจ มองหาทางออกที่ดี ที่ยอมรับได้ด้วยกันทั้งคู่ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม

          ข้อมูลที่นำเสนอเป็นเพียงแนวทาง ที่อยากจะให้คุณแม่เวิร์กกิ้งมัมทบทวน และจัดสรรตารางชีวิตได้เหมาะสมลงตัว ซึ่งก็อาจขึ้นอยู่กับสภาพครอบครัว ความพร้อมต่างๆ ของคุณแม่ แต่เราเชื่อว่า มันไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนเป็นแม่หรอกค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.7 No.74 กุมภาพันธ์ 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
3..2..1..ถึงเวลาเป็น Working Mom อัปเดตล่าสุด 8 เมษายน 2554 เวลา 13:44:48
TOP
x close